“บองบอง มาร์กอส” ว่าที่ผู้นำฟิลิปปินส์ ผู้นำพาความรุ่งโรจน์หรือยุคมืด?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รู้จัก “บองบอง มาร์กอส” ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ทายาทเผด็จการที่ยากจะคาดเดาว่า เขาจะนำฟิลิปปินส์ไปสู่ความรุ่งโรจน์หรือยุคมืด

ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อย่างไม่เป็นทางการ พอจะคาดเดาได้แล้วว่า “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์” หรือ “บองบอง มาร์กอส” กำลังจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของฟิลิปปินส์ ท่ามกลางกระแสว่า นี่อาจเป็นฝันร้ายครั้งใหม่ของฟิลิปปินส์

คะแนนเสียงของบองบองขึ้นนำผู้สมัครรายอื่นแบบ “นำลิบลิ่ว” โดยคะแนนของเขา ณ วันที่ 10 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านเสียง ขณะที่ผู้สมัครอันดับสองมีคะแนนเสียงราว 14.7 ล้านเสียงเท่านั้น หรือก็คือ บองบองทิ้งห่างผู้สมัครอันดับสองถึง 2 เท่า

มาร์กอส จูเนียร์ ชนะถล่มทลาย คว้าเก้าอี้ปธน.ฟิลิปปินส์ | 10 พ.ค. 65 | รอบโลก DAILY

เปิดฉากแล้ว เลือกตั้ง ปธน.ฟิลิปปินส์ จับตาตัวเต็ง “รองปธน. - ลูกชายเผด็จการ”

ลูกชายเผด็จการ “มาร์กอส” คะแนนนำในโพลเลือกตั้ง ปธน.ฟิลิปปินส์

 

บองบองคือใคร?

บองบองเป็นลูกคนที่ 2 และเป็นลูกชายคนเดียวของอดีตประธานาธิบดีเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซีเนียร์ และอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง อิเมลดา มาร์กอส เขาเกิดในปี 1957 ขณะนี้อายุ 64 ปี

บองบองศึกษาการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร แต่มีรายงานว่า เขายังไม่จบหลักสูตรปริญญาตรี และได้รับเพียงประกาศนียบัตรพิเศษด้านสังคมศาสตร์เท่านั้น ขณะที่บองบองยืนยันว่าเขาสำเร็จการศึกษาระดับเทียบเท่าปริญญาตรี

ในปี 1980 บองบองในวัย 23 ปี ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการจังหวัดอิโลกอส นอร์เต และได้เป็นผู้ว่าการจังหวักอิโลกอส นอร์เตในปี 1983 โดยได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนกระทั่งครอบครัวของเขาถูกขับไล่ออกจากอำนาจ จากเหตุการณ์ “การปฏิวัติพลังประชาชน (People Power Revolution)” และทั้งครอบครัวต้องลี้ภัยไปยังฮาวายในปี 1986

ต่อมา มาร์กอส ซีเนียร์ เสียชีวิตในปี 1989 ครอบครัวมาร์กอสได้รับอนุญาตให้กลับมายังฟิลิปปินส์ แต่ต้องเผชิญข้อกล่าวหาทางกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากระบอบเผด็จการของมาร์กอส ซีเนียร์ ที่ก่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก

บองบองแต่งงานกับทนายความ หลุยส์ อราเนตา-มาร์กอส หรือที่รู้จักในชื่อ ลิซา และมีลูกชาย 3 คน

บองบองกลับเข้าสู่เส้นทางสายการเมืองอีกครั้ง ผ่านการผลักดันของอิเมลดาผู้เป็นมารดา เขาได้กลับมาเป็นผู้ว่าการจังหวัดอิโลกอส นอร์เต อีกครั้งในปี 1998 จากนั้นก็กลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาตั้งแต่ปี 2010-2016

ในปี 2015 มาร์กอสลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2016 แต่พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนนเสียงที่ห่างกับคู่แข่งเพียง 263,473 เสียงหรือ 0.64% เท่านั้น

ในปี 2021 บองบองประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่า เขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในการเลือกตั้งปี 2022 โดยจับมือกับ ซารา ดูเตอร์เต ลูกสาวของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งจะลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

การชิงตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ของบองบองไม่ใช่เรื่องที่ผิดคาด เพราะหากใครได้ดูสารคดีเรื่อง “The Kingmaker” อาจจะจำที่อิเมลดาผู้เป็นแม่บอกได้ว่า “มันเป็นชะตากรรมของลูกชายฉันในการเป็นประธานาธิบดี ตอนนี้เขาอยู่ในจุดที่ต้องทำอย่างนั้น”

"ศรีลังกา" ประท้วงวุ่น ประชาชนจี้ปธน. ลาออกตามนายกฯ

ทำไม “มาร์กอส” จึงเป็นฝันร้าย?

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซีเนียร์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 1965 เขาริเริ่มโครงการงานสาธารณะ และการเรียกเก็บภาษีที่ขูดรีด มาร์กอสและรัฐบาลอ้างว่า พวกเขา “สร้างถนนมากกว่าผู้นำคนก่อน ๆ ทั้งหมดรวมกัน และมีโรงเรียนมากกว่ายุคสมัยของผู้นำคนอื่น”

ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องการซื้อเสียงและโกงการเลือกตั้ง มาร์กอสได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 1969

ภายใต้การปกครองของมาร์กอส ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนรวยมากกับคนจนมาก ได้ทำให้เกิดอาชญากรรมและความไม่สงบขึ้นทั่วประเทศ ในไม่ช้ามาร์กอสก็ใช้ประเด็นเรื่องการเพิ่มขึ้นของกลุ่มติดอาวุธและความไม่สงบในประเทศ เป็นเหตุผลในการประกาศ “กฎอัยการศึก” ในปี 1972

มาร์กอสถูกสั่งห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ในปี 1973 แต่มาร์กอสก็ได้อ้างกฎอัยการศึกที่ประกาศก่อนหน้านี้ และเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เป็นข้ออ้างในการดำรงตำแหน่งต่อ

ด้วยกฎอัยการศึก มาร์กอสยึดอำนาจการบริหารประเทศ ทำให้เขาควบคุมกองทัพฟิลิปปินส์ได้อย่างเต็มที่ และมีอำนาจในการปราบปรามและยกเลิกเสรีภาพในการพูด เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพพลเมืองอื่น ๆ อีกมาก

มาร์กอสยังยุบสภาฟิลิปปินส์และสั่งปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารของมาร์กอส นอกจากนี้ เขายังออกคำสั่งให้จับกุมผู้ต่อต้านและนักวิจารณ์ทางการเมือง รวมแล้วมีหลายพันคนที่ถูกจับกุม ทรมาน และสังหาร ภายใต้อำนาจของมาร์กอส

ข้อมูลจากองค์กรแอมเนสตี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ขณะที่มาร์กอสอยู่ในอำนาจ มี “ศัตรูของรัฐ” ประมาณ 70,000 คนถูกควบคุมตัว ประมาณ 34,000 คนถูกทรมาน และมากกว่า 3,000 คนถูกสังหาร

ต่อมาในปี 1981 มาร์กอสชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 แต่ชื่อเสียงของเขาย่ำแย่อย่างหนัก จากเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ดิ่งเหว ข่าวการลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการเปิดเผยบัญชีการเงินที่ผิดปกติของเขา

ข้อกล่าวหาทั้งหมดที่สั่งสมกันมา ทำให้ท้ายที่สุด เกิดการปฏิวัติประชาชนในปี 1986 และมาร์กอสต้องทิ้งตำแหน่งประธานาธิบดีและลี้ภัยไปยังฮาวาย จบยุตสมัย 21 ปีฝันร้ายของฟิลิปปินส์

ภายหลังครอบครัวมาร์กอสลี้ภัยไป มีการค้นพบทรัพย์สมบัติของครอบครัวมาร์กอส โดยพบงานศิลปะจำนวนมาก พบกล่องใส่เหรียญทอง เครื่องประดับหรูหรา เสื้อคลุมหลายร้อยตัว ชุดเดรส และคอลเล็กชันรองเท้าดีไซเนอร์ชื่อดังจำนวนมหาศาลของอิเมลดา มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง รวมทรัพย์สินทั้งหมด คาดว่ามีมูลค่ารวมสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 แสนล้านบาท)

เมื่อครอบครัวมาร์กอสได้รับอนุญาตให้กลับมายังฟิลิปปินส์ พวกเขาจึงต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาจำนวนมากเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวที่ดูเหมือนจะได้มาโดยมิชอบ

แก๊สน้ำตาระเบิดกลางหอประชุม ม.โบลิเวีย นศ.แตกตื่นเหยียบกันตาย

ทำไมคนโหวตให้บองบอง?

มีคำถามว่า ทำไมทายาทของมาร์กอสที่ดูจะเป็นฝันร้ายขนาดนั้นกลับหวนคืนส๔อำนาจได้สำเร็จ ต้องบอกว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ทายาทเผด็จการทวงบัลลังก์”

หนึ่งในที่มาของคะแนนเสียงของบองบอง คือรากฐานอิทธิพลเดิมของผู้สมัครในบางพื้นที่

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า บองบองเคยมีตำแหน่งสำคัญในจังหวัดอิโลกอส นอร์เต ของภูมิภาคอิโลกอส และอิทธิพลของครอบครัวมาร์กอสในภูมิภาคนี้ก็ยังคงมีอยู่ในฐานะบ้านเกิดของครอบครัวมาร์กอส

ปัจจุบันภูมิภาคอิโลกอสมีประชากรอยู่ที่ราว 5 ล้านคน และจากการสำรวจพบว่า มากกว่า 80% บอกว่า จะเลือกบองบองเป็นประธานาธิบดี

นอกจากนี้ มาร์กอสยังได้คะแนนเสียงจากภูมิภาคมินดาเนา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ซารา ดูเตอร์เต พันธมิตรของเขาซึ่งเป็นลูกสาวผู้นำฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่สนับสนุนผู้นำคนปัจจุบันส่วนมากคาดว่าจะลงเสียงให้กับบองบองด้วยเช่นกัน

นอกจากฐานเสียงจากพื้นที่และอิทธิพลของดูเตอร์เตแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้บองบองได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์คือ “คนรุ่นใหม่”

มีการวิเคราะห์ว่า ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ของมาร์กอสคือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เกิดไม่ทันยุคสมัยกฎอัยการศึกของมาร์กอส ซึ่งบองบองก็จับจุดนี้ได้ และมีการดำเนินกลยุทธิ์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ TikTok และเฟซบุ๊ก ทั้งในฟิลิปปินส์และต่างประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่และดึงกระแสเสียงคนรุ่นใหม่ให้เลือกบองบอง

เรอัน อัซคูเน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 20 ปีในจังหวัดริซาล กล่าวว่า “บองบองเป็นคนที่มีหัวใจ ในการหาเสียงทั้งหมดของเขา เขาไม่เคยตั้งใจเยาะเย้ยผู้อื่น ไม่เคยใส่ร้ายใครเลย”

อีกหนึ่งปัจจัยท่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่แพ้กันคือ “นโยบาย”

ในการหาเสียง บองบองชูนโยบายสนับสนุน “ความสามัคคี” และสโลแกน “เราจะฟื้นคืนชีพไปด้วยกัน” เพื่อยกระดับฟิลิปปินส์จากความซบเซาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

เขาให้คำมั่นสัญญาถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนฟิลิปปินส์และการหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่ในอดีต (แบบมาร์กอส) และยังให้คำมั่นว่า จะจัดหางานและลดค่าครองชีพ รวมถึงลดค่าอาหาร แม้จะมีนักวิจารณ์กล่าวว่านโยบายเหล่านี้ยังขาดรายละเอียดอยู่ แต่ก็คาดว่าน่าจะได้เสียงจากผู้ที่ระทมทุกข์จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้พอสมควร

อนาคตประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการคอร์รัปชันในฟิลิปปินส์

หลายฝ่ายเกรงว่า การกลับคืนสู่อำนาจของครอบครัวมาร์กอสอาจนำไปสู่การรื้อถอนรากฐานระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ง่อนแง่นพอสมควรอยู่แล้วในยุคของ โรดริเกซ ดูเตอร์เต ผู้นำคนปัจจุบัน ที่มีนโยบายปราบปรามยาเสพติดด้วยความรุนแรง และถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด

บองบองสัญญาว่า จะดำเนินมาตรการต่อต้านยาเสพติดต่อไป แต่บอกเป็นนัยว่า เขาจะสนับสนุนใช้วิธีการที่รุนแรงน้อยกว่า

ส่วนประเด็นที่ร้ายแรงอย่างเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาในฟิลิปปินส์มาเสมอนั้น มีความกังวลกันว่า ปัญหานี้อาจไม่ได้รับการแก้ไข และเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับเมื่อครั้งยุคสมัยของมาร์กอสคนพ่อ

ริชาร์ด เฮย์ดาเรียน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์แห่งเอเชีย ให้ความเห็นว่า บองบองจะเป็นเหมือนพ่อของเขาเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยืนยันแน่ชัดได้ ยังคงต้องจับตามองต่อไป

แต่เฮย์ดาเรียนและผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นพ้องต้องกันว่า บองบองน่าจะไม่เดินตามรอยเท้าของผู้เป็นพ่อ “เขาไม่มีแรงผลักดัน ความทะเยอทะยาน และวิสัยทัศน์ที่พ่อของเขามี ... ดังนั้นผมจึงคิดว่าฟิลิปปินส์ไม่น่าจะก้าวไปสู่ระบอบเผด็จการ”

 

เรียบเรียงจาก BBC / TIME / The Guardian / Washington Post

ภาพจาก AFP

“ชาบี” รับชวดคว้าตัว “ฮาแลนด์” เพราะเรื่องเงิน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ