ส่องกฎหมายอาวุธปืนแต่ละประเทศ หลังมีกระแสแก้กฎหมายปืนในสหรัฐฯ อีกครั้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำรวจกฎหมายการซื้อขายครอบครองอาวุธปืนในแต่ละประเทศ สามารถลดโอกาสเกิดเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนหรือเหตุกราดยิงได้จริงหรือไม่

เหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมศึกษาร็อบบ์ในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ ซึ่งคร่าชีวิตเด็กนักเรียน 19 คนและอาจารย์ 2 คน ได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องการแก้ไขกฎหมายครอบครองอาวุธปืนของสหรัฐฯ อีกครั้ง เนื่องจากหลายคนมองว่า กฎหมายสหรัฐฯ อนุญาตให้ประชาชนครอบครองปืนได้ง่ายเกินไป จนอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากอาวุธปืนหลายครั้งมากในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ “ปืน” ในสหรัฐถือเป็นเรื่องที่อาจจะยากต่อการแก้ไข เพราะเป็นกฎหมายใหญ่ในระดับรัฐธรรมนูญ

เด็กที่รอดจากเหตุกราดยิงเท็กซัสเผย “เอาเลือดเพื่อนทาตัวเพื่อแกล้งตาย”

หนุ่ม 18 กราดยิงโรงเรียนประถมในเทกซัส เด็ก-ครูดับรวม 21 ราย

“สิทธิในการมีปืน” ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกประธานาธิบดี

รัฐธรรมนูญมาตรา 2 กฎหมายครองปืนที่ ปธน.คนไหน ๆ ก็ยังเปลี่ยนไม่ได้

รัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตราที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา (Second Amendment) ระบุว่า “พลเรือนติดอาวุธที่ได้รับการควบคุมอย่างดี มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของรัฐ สิทธิของประชาชนในการถือครองและพกพาอาวุธจะไม่ถูกละเมิด”

ตามกฎหมายสหรัฐฯ พลเมืองมีสิทธิในการถือครองอาวุธ ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความผิดปกติทางจิตใจ ไม่มีประวัติอาชญากรรม อายุเกิน 18 หรือ 21 ก็สามารถจะซื้อปืนมาเป็นของตนเองได้ แล้วแต่ประเภทของปืนที่รัฐกำหนด โดยต้องผ่านการตรวจสอบประวัติ และลงทะเบียนปืนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

และในบางรัฐของสหรัฐฯ ขอแค่มีอายุ 18 ปี ก็สามารถซื้อปืนได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมหรือมีใบอนุญาตใด ๆ และในบางรัฐ การให้เยาวชนครอบครองปืนเป็นเรื่องง่ายถึงขั้นว่า ผู้ปกครองตามกฎหมายสามารถออกเอกสารอนุญาตให้เยาวชนซื้อปืน หรือมอบปืนเป็นของขวัญให้บุตรหลานได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า กฎหมายของเท็กซัสเป็นเช่นนี้

ประชาชนในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มองว่า พวกเขามีสิทธิและความรับผิดชอบในการปกป้องบ้าน ครอบครัว และการตัดสินใจเพื่อชีวิตของเขาเอง ตามที่รัฐธรรมนูญระบุ

เรื่องนโยบายการครอบครองปืนนี้ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ด้วย โดยจากการสังเกตพบว่า ในรัฐที่มีฐานเสียงของรีพับลิกันมาก เช่น เท็กซัส จอร์เจีย มีจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืนค่อนข้างสูง

จากเหตุกราดยิงครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ได้เคยมีการเสนอแก้กฎหมายปืนในระดับรัฐสภาคองเกรสมาแล้ว แต่คะแนนเสียงลงมติก็พ่ายแพ้ต่อพรรครีพับลิกัน ที่ปรึกษาอิสระ และพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนการใช้ปืน จนไม่อาจแก้กฎหมายได้โดยง่าย

ทั้งนี้ สถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (IHME) ระบุว่า ในปี 2021 อัตราเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ นั้นอยู่ที่ 4.12 ต่อประชากร 100,000 คน

ขณะที่เมื่อลองดูกฎหมายอาวุธปืนของประเทศอื่น ๆ ที่เคยประสบเหตุกราดยิงคล้ายกัน พบว่า มีการปรับแก้กฎหมาย และในประเทศเหล่านี้ ก็มีอัตราเกิดความรุนแรงจากปืนที่น้อยกว่าสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นหลักฐานหนึ่งที่จะนำมาโน้มน้าวได้ว่า การแก้กฎหมายปืน อาจเป็นทางออกของปัญหาเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ

แคนาดา

ที่แคนาดาเคยเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่สถาบัน Ecole Polytechnique ในมอนทรีออล ในปี 1989 ซึ่งทำให้นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์หญิง 14 คนถูกสังหารในห้องเรียน แคนาดาจึงออกกฎหมายฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อปืนต้องผ่านการฝึก ต้องมีการตรวจสอบประวัติก่อนซื้อปืน และปรับเพิ่มโทษให้สูงขึ้นสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวกับปืนบางประเภท

ต่อมาในปี 2020 ก็เกิดเหตุมือปืนยิงและสังหารประชาชน 13 คนในเมืองปอร์ตาปิเก (Portapique) รัฐโนวาสโกเชีย (Nova Scotia) ทางการแคนาดาจึงออกกฎหมายห้ามซื้อและครอบครองอาวุธปืนและชิ้นส่วนประกอบปืนมากกว่า 1,500 ประเภท และกำหนดความอันตรายของกระสุนที่ห้ามใช้ด้วย

หลังแก้กฎหมาย อัตราเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืนในแคนาดาปี 2021 อยู่ที่ 0.5 ต่อประชากร 100,000 คน

ออสเตรเลีย

ในปี 1996 เกิดเหตุมือปืนสังหารคนในร้านอาหารจนมีผู้เสียชีวิตถึง 35 ราย ทางการออสเตรเลียได้สั่งห้ามการครอบครองปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ ปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ และปืนลูกซองทั้งหมด

หลังปรับแก้กฎหมาย อาวุธปืนที่ไม่มีใบอนุญาตหลายพันชิ้นถูกส่งมอบให้กับทางการออสเตรเลียภายใต้โครงการ “นิรโทษกรรมปืน” ส่วนเจ้าของปืนที่มีใบอนุญาตก็ต้องเข้ารับการรักษาความปลอดภัย

อัตราเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืนในออสเตรเลียลดลงเหลือ 0.15 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2014 จาก 0.54 ต่อ 100,000 คนในปี 1996 ซึ่งลดลงมามากถึง 72%

สหราชอาณาจักร

ในปี 1996 เช่นกัน เกิดเหตุมือปืนสังหารเด็ก 16 คนและครูในเมืองดันเบลน สกอตแลนด์ ทำให้เกิดการเรียกร้องจากสาธารณะ ส่งผลให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรยอมแก้กฎหมายควบคุมปืนจนเป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมการครอบครองปืนเข้มงวดที่สุดในโลก

2 ปีหลังจากนั้น กฎหมายใหม่ได้สั่งห้ามพลเรือนเกือบทั้งหมดในสหราชอาณาจักรจากการเป็นเจ้าของปืน IHMEประเมินว่า อัตราเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 0.04 ต่อประชากร 100,000 คน หรือน้อยกว่าสหรัฐฯ 100 เท่า

นิวซีแลนด์

หลังจากเหตุกราดยองมัสยิดในไครสต์เชิร์ชที่คร่าชีวิตผู้คนไป 50 รายในเดือน มี.ค. 2019 นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ได้สั่งห้ามการขายอาวุธโจมตีทั้งหมดภายในไม่กี่วัน

ต่อมารัฐสภานิวซีแลนด์ได้ลงมติห้ามการจำหน่ายและการใช้อาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ ส่วนประกอบที่เปลี่ยนอาวุธปืนให้เป็นอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ กระสุนที่มีความสามารถร้ายแรง และปืนลูกซองบางประเภท

แม้จะไม่มีการแก้กฎหมาย แต่เดิมทีโศกนาฏกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนก็ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ยากในนิวซีแลนด์อยู่แล้ว ไม่มีผลการประเมินโอกาสเกิดที่แน่ชัด แต่จำนวนการเกิดเหตุกราดยิงในนิวซีแลนด์อยู่ที่ 12 ครั้งในปี 2018 และ 11 ครั้งในปี 2021

 

เรียบเรียงจาก Reuters

ภาพจาก AFP

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ