ภาพสะท้อนหายนะเกิดขึ้นกับคนหาเช้ากินค่ำในศรีลังกา ดีปธิ มีอาชีพขับรถตุ๊กตุ๊ก อาชีพที่ในเวลานี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ระหว่างวันเมื่อนำมันใกล้หมด เธอจะต้องไปต่อแถวเติมน้ำมัน แถวอันยาวเหยียดนี้ใช้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมไม่กี่ชั่วโมงในช่วงเดือนเมษายน กลายมาเป็น 12 ชั่วโมงทุกวันนี้
ดีปธิ เล่าว่า บางคืนเธอไม่ได้กลับบ้านและต้องนอนในรถตุ๊กตุ๊กระหว่างรอเติมน้ำมัน และบางครั้งน้ำมันก็หมดลงก่อนหน้าเธอเพียงไม่กี่คิวและเมื่อได้น้ำมันมาแล้ว เธอก็ต้องทำงานขับรถหาลูกค้าต่อ
"ศรีลังกา"เตรียมขอความช่วยเหลือจากอินเดียเพิ่ม
"ศรีลังกา"ยกเลิกเคอร์ฟิวชั่วคราว แต่งตั้งนายกฯคนใหม่
ภาพของแถวรถตุ๊กตุ๊ก และแถวรอมอเตอร์ไซค์ตามปั๊มน้ำมันต่างๆ กำลังกลายมาเป็น New Normal ของศรีลังกา
ผู้ขับรถแทบจะกินนอนที่นี่ และบางคนหอบเอาลูกมานั่งรอด้วย เพราะที่บ้านไม่มีใครดูแลลูกให้ คาดกันว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอเติมน้ำมันแล้วอย่างน้อย 8 คน จากความหิว ความเหนื่อยล้าจากการอดนอน และโรคประจำตัว
นอกจากน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว น้ำมันก๊าดและน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารก็ขาดแคลนจนประชาชนต้องมาเข้าคิวซื้อเช่นกัน
หญิงรายหนึ่งเล่าว่า พ่อกับแม่ที่เป็นผู้สูงอายุไม่มีข้าวกิน เพราะที่บ้านขาดแคลนน้ำมัน เธอมารอคิวที่นี่หลายชั่วโมงแล้ว และถูกไล่ให้กลับไปเพราะสินค้าหมด จึงไม่รู้จะทำอย่างไร
สิ่งที่เลวร้ายคือ ในขณะที่สินค้าจำเป็นขาดแคลน ราคาสินค้ากลับปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 137 เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนก่อน บรรดาคนขับรถตุ๊กตุ๊กเล่าว่า ทุกวันนี้เหมือนทำงานมาเพื่อจ่ายค่าน้ำมัน ผลกระทบจากวิกฤตนี้ยังส่งผลต่อประชาชนทั่วไป
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว The Guardian รายงานการเสียชีวิตของทารกหญิงวัยเพียง 2 วันที่จู่ๆ ก็มีอาการตัวเหลืองพ่อและแม่ของเด็กไม่สามารถหารถที่จะไปส่งยังโรงพยาบาลได้ และกว่าจะหารถได้ ทารกน้อยก็เสียชีวิตไปแล้ว
นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า เด็กนักเรียนก็ประสบความยากลำบากในการหารถเพื่อที่จะไปสอบ พ่อบางคนวางแผนตั้งแต่สามวันก่อนสอบด้วยการไปเข้าคิวรอติมน้ำมัน เพื่อที่ในวันสอบจริงจะได้ไปส่งลูกให้ทัน
เหล่านี้คือวิกฤตที่เกิดขึ้นในศรีลังกา และขณะนี้ประชาชนกำลังโอดครวญว่าชีวิตของพวกเขาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
เกิดขึ้นจากอะไร? เปรียบเทียบง่ายๆ ศรีลังกามีเงินออกมากกว่าเงินเข้าประเทศ
ที่ผ่านมาศรีลังกามีสัดส่วนรายได้จากภาคบริการมากถึงร้อยละ 60 ดังนั้นการระบาดของโควิด-19 จึงกระทบเต็มๆ
การท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้เงินทุนสำรองต่างประเทศที่ศรีลังกาควรจะได้จากชาวต่างชาติลดลงไปด้วย นอกจากนั้นปัญหายังมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด
รัฐบาลพยายามประคองเศรษฐกิจด้วยการลดภาษี ทั้งยังขายพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และใช้เงินอุดหนุนสินค้านำเข้า
ผลที่ได้คือ ค่าเงินของศรีลังกาอ่อนลง เกิดวิกฤตเงินเฟ้อตามมา ส่วนปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนเป็นผลมาจากการที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของศรีลังกาลดฮวบลงอย่างรวดเร็วจนไม่มีเพียงพอใจการจ่ายค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอื่นๆ
ทุกวันนี้ประชาชนจึงต้องเข้าคิวรอซื้อสินค้าจำเป็นซึ่งมีจำนวนจำกัด ด้านรัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหาการขาดแคลน เช่น ควบคุมปริมาณน้ำมันต่อครัวเรือนที่สามารถซื้อได้ หรือตัดไฟวันละ 13 ชั่วโมงเพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้น้ำมันในการผลิต
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ทางกระทรวงเกษตรของศรีลังกาขอให้เกษตรกรช่วยกันปลูกข้าวเพิ่มให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาอาหารขาดแคลน
คำประกาศเกิดขึ้นหลังผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของราคาอาหารเพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่เพิ่มขึ้นมาแล้วร้อยละ 29.8 ในเดือนเมษายน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมยังคงเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 39.1
เมื่อส่วนใหญ่ของสินค้าในศรีลังกาเป็นสินค้านำเข้า อีกปัญหาที่เกิดตามมาคือ การขาดแคลนยารักษาโรค
รายงานข่าวระบุว่า ร้อยละ 80 ของยาที่ใช้ในประเทศเป็นสินค้านำเข้า และขณะนี้มียามากถึง 200 รายการแล้วที่ขาดแคลน ในจำนวนนี้มีทั้งยาสามัญประจำบ้าน และยาเฉพาะ
โรงพยาบาลขาดแคลนถึงขนาดที่ว่า แนะนำให้ผู้ป่วยออกไปหาซื้อยาด้วยตัวเองตามคลินิก ในขณะที่รายงานจากโฆษกสมาคมการแพทย์ชี้ว่า ปัญหาขาดแคลนยาคือเรื่องคอขาดบาดตาย
ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากพากันออกมาประท้วงด้วยความโกรธแค้น ส่งเสียงขับไล่รัฐบาลที่พวกเขามองว่า บริหารงานผิดพลาดทั้งยังคอร์รัปชันให้ลาออก
การประท้วงล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากภาพคือการรวมตัวกันของนักเรียนแพทย์ในกรุงโคลอมโบ ด้านตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยปืนฉีดน้ำ
วิกฤตที่เกิดขึ้นสร้างแรงกดดันจนอดีตนายกรัฐมนตรี มหินทรา ราชปักษา ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว
รวมถึงก่อนหน้านั้น โกตาบายา ราชปักษา ผู้เป็นประธานาธิบดีก็เพิ่งจะสั่งยุบคณะรัฐบาล เอาญาตพี่น้องของตนเองออก แต่งตั้งคนใหม่
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเสียงจากประชาชที่ต้องการให้ประธานาธิบดีโกตาบายาลาออกไปด้วย เพื่อล้างกระดาน
โดยสรุป ศรีลังกากำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร ยา ไปจนถึงพลังงาน อีกทั้งซ้ำเติมด้วยวิกฤตเงินเฟ้อที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความมั่นคงของโลก เป็นวิกฤตการเงินที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ศรีลังกาเป็นเอกราชเมื่อ 70 ปีก่อน
ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ ยังมีประเทศใดอีกบ้างที่เสี่ยงจะจมดิ่งแบบศรีลังกา
หลังรัสเซียบุกยูเครนไม่นาน ในช่วงเดือนมีนาคม องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนว่ามีประเทศมากถึง 107 ประเทศในปีนีที่จะเสี่ยงเผชิญกับวิกฤตอย่าง ราคาอาหารสูงขึ้น ราคาพลังงานสูงขึ้น และเงื่อนไขทางการเงินอื่นๆ ที่กระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ล่าสุด อียิปต์กำลังถูกจับตา เพราะประเทศนี้นำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนรายใหญ่ที่สุดของโลก ช่วงปี 2020-2021 คาดว่านำเข้ารวมจากมองประเทศนี้มากถึง 12 ล้านตัน
สถานการณ์ไม่แน่นอนส่งผลให้ทางการระงับการส่งออกข้าวสาลี แป้ง และเส้นพาสต้านาน 3 เดือน
อีกประเทศที่เข้าข่ายน่ากังวลคือ เลบานอน เหตุระเบิดกลางกรุงเบรุตเมื่อปี 2020 ได้ทำลายเศรษฐกิจไปแล้ว มาวันนี้เลบานอนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาหารจะขาดแคลน เนื่องจากประเทศนี้นำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนถึงร้อยละ 80 รวมถึงยังน้ำเข้าน้ำมันดอกทานตะวันด้วย
ล่าสุดราคาอาหารปรับขึ้นเป็นร้อยละ 11 และรัฐบาลเลบานอนต้องกู้เงินจากโครงการอาหารโลกมากถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อมาอุดหนุนราคาอาหารไม่ให้สูงขึ้นไปกว่านี้
อีกผลกระทบหนึ่งที่เกิดตามาเป็นลูกโซ่เมื่อราคาอาหารทั่วโลกแพงขึ้น คือองค์กรการกุศลต่างๆ สามารถช่วยเหลือผู้คนได้น้อยลง ค่ายผู้ลี้ภัยในโซมาเลียแห่งนี้เต็มไปด้วยความแห้งแล้งและหิวโหย
รายงานจาก รูเคีย ยาคูป รองผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกระบุว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าทำให้เงินทุนที่มีไม่เพียงพอ และขณะนี้โครงการกำลังต้องการเงินบริจาคเพิ่มเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้
บางประเทศที่เคยบริจาคเต็มที่ เช่น เดนมาร์ก ปีนี้ลดเงินบริจาคลงครึ่งหนึ่งให้เพราะต้องการนำเงินไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน
ด้าน ดาเนีย รากาซ ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกชี้ว่า พื้นที่บริเวณนี้เผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาสินค้าและอาหารแพงขึ้นยิ่งซ้ำเติมคนที่นี่