เสียงดนตรีบรรเลงคลอเคล้า ธงสีรุ้งถูกชูขึ้นและโบกสะบัดเหนือศีรษะภายใต้แสงอาทิตย์ ผู้คนโห่ร้องด้วยความยินดี ใบหน้าอาบรอยยิ้มจากความสุขในใจ บางคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามเพื่อร่วมเดินแบบ บางคนก็ร้องเล่นเต้นรำไปกับเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานแต่บรรยากาศเช่นนี้ มีได้แค่ในพื้นที่แคบ ๆ ของผู้ไร้โอกาสและไร้ที่ทางอย่างค่ายผู้ลี้ภัยเท่านั้น
ที่นี่ คือค่ายผู้ลี้ภัยคาคุมา ประเทศเคนยา ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งแรกของโลกที่มีงาน Pride month หรืองานเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ
สมรสเท่าเทียม กับ 30 ประเทศที่เห็นชอบด้วยกฎหมาย เปิดความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศ
กองทัพไต้หวันจัดงานสมรสให้คู่รัก LGBT เป็นครั้งแรก
เคนยาตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันออก มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์และศาสนา แต่ไม่รวมถึงความหลากหลายทางเพศ
ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและยาวนาน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตต่ำ และจะต่ำลงไปอีกหาเป็นแอลจีบีที
กฎหมายของเคนยาระบุไว้ว่ารักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและอาจถูกจำคุกนานถึง 14 ปี มากกว่านั้นยังอนุญาตให้มีการตรวจทวารหนักของผู้ชายได้ หากถูกสงสัยว่าเป็นกลุ่มชายรักชาย ทำให้นักสิทธิมนุษยชนมองว่า กฎหมายข้อนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แบ่งแยก และเลือกปฏิบัติ
นักสิทธิมนุษยชนจึงตัดสินใจยื่นเรื่องนี้ให้ศาลวินิจฉัยอีกครั้ง การวินิจฉัยของศาลเคนยาเมื่อปี 2018 ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ทำให้กฎหมายนี้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป
คำวินิจฉัยนี้ ยิ่งตอกย้ำบรรทัดฐานและเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวตนของกลุ่มแอลจีบีทีมากกว่าเดิม และทำให้เคนยาแทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้กลุ่มแอลจีบีทีได้มีตัวตนในสังคม
การกีดกัน การแบ่งแยก และการเลือกปฏิบัติ ได้ฝังรากลึกอยู่ในแทบทุกภาคส่วนของสังคมเคนยา ไม่เว้นในค่ายผู้ลี้ภัย
ผู้ลี้ภัยแอลจีบีทีกับธงสีรุ้งที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แสดงตัวตน จับกลุ่มยืนประท้วงอยู่ที่ทำการข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ในเคนยา
คาตูบา อับดุล-ราชิด ผู้ลี้ภัยแอลจีบีทีกล่าวว่า รัฐบาลเคนยาและ UNHCR ปฏิบัติกับกลุ่มแอลจีบีทีราวกับไม่ใช่คน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสังคมที่เป็นปรปักษ์และบทลงโทษรุนแรง ยังมีโบสถ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า The Cosmopolitan Affirming Church หรือ CAC ที่ให้โอกาสความหลากหลายได้เติบโต
ที่นี่ ทุกคนมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน เชื้อสาย อายุหรือรสนิยมทางเพศไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าร่วมกับโบสถ์ เพราะเชื่อว่า พระเจ้ามอบความรักให้แก่มนุษย์โดยเสมอภาคย์ ถึง CAC จะไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ก็เพียงพอให้บรรดาแอลจีบีทีสามารถเป็นตัวเองและพักพิงจิตวิญญาณได้
ที่สำคัญ ยังเป็นพื้นที่เพื่อการเสวนาและร่วมกับสื่อเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องแอลจีบีทีให้แก่สังคม อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มแอลจีบีทีในเคนยาด้วย
กลุ่มแอลจีบีทีในเคนยาเองนั้นไม่ได้ต่างจากกลุ่มแอลจีบีทีในประเทศอื่น ๆ ที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ แม้สังคมและกฏหมายจะยังคงอยู่ตรงข้ามและโจมตี แต่พวกเขาก็ยังตัดสินใจลุกขึ้นสู้
บินยาวังกา ไวนาอีนา นักเขียนชื่อดังชาวเคนยาคือหนึ่งในนั้น ด้วยการออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเป็นเกย์เมื่อปี 2014
โดยเขาหวังว่าการออกมาเปิดเผยตัวตนของเขา จะสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิของกลุ่มแอลจีบีทีในเคนยาและแอฟริกาได้มากขึ้น
บินยาวังกาได้ทำสิ่งที่กล้าหาญ และเป็นส่วนหนึ่งในการวางอนาคตของขบวนการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มแอลจีบีทีในเคนยา และในปี 2016 องค์กรด้านสิทธิแอลจีบีที 3 องค์กร ได้ยื่นคำร้องให้ศาลสูงสุดของเคนยาพิจารณาว่ากฎหมายอาญามาตราที่ลงโทษการรักร่วมเพศนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในปี 2019 ศาลสูงสุดของเคนยาตัดสินว่ากฎหมายอาญาที่ลงโทษการรักร่วมเพศนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังมีผลบังคับใช้ต่อไป
คำตัดสินเช่นนี้สร้างความเจ็บปวดให้กับกลุ่มแอลจีบีทีในเคนยาอย่างมาก 3 ปีที่รอคอยคำตัดสินด้วยความหวัง สุดท้ายแล้วพวกเขายังคงผิดหวังเช่นเดิม
หากบินยาวังกายังมีชีวิตอยู่ ก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่เขาจะไม่ได้รับรู้ใด ๆ อีกแล้วเพราะเสียชีวิตไปก่อนคำตัดสินนี้จะออกมาเพียง 3 วันเท่านั้น
จนถึงวันนี้ กลุ่มแอลจีบีทีในเคนยายังคงต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่า คำตัดสินนั้นไม่ใช่การดับอนาคตและความหวังของพวกเขา
แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นอีกครั้งของการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยความหวังที่ว่า สักวันหนึ่งแนวคิด “คนเท่ากัน” จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินเคนยา และแอลจีบีทีสามารถภูมิใจในตัวตนและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมได้โดยไม่ต้องหลบซ่อนและหวาดผวาอีกต่อไป