ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลังมีภาพบรรยากาศการแถลงข่าวจัดงานกิจกรรม "Pride Month" ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร พัทยา เกาะสมุย ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ พร้อมประกาศปักหมุดแสดงศักยภาพให้เห็นว่าไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัด "World Pride 2028" ได้
ทำให้ผู้คนมากมายต่างให้ความสนใจ และเริ่มค้นหากันว่า "เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจ" นี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร และทำไมถึงจัดในเดือนมิถุนายน
รู้จัก "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจ
จุดเริ่มต้นของเดือนแห่งความภาคภูมิใจ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1960 ซึ่งยุคที่สังคมยังไม่เปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนในวันนี้ ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ บางคนถึงขับไล่ออกจากบ้าน พวกเขาจำต้องหลบปิดบังตัวตนไม่ให้ใครได้รู้
เมื่อยุคนั้นไม่มีใครยอมรับ สถานที่ปลอดภัยของพวกเขาจึงมีเพียงแค่ "บาร์เกย์" เอาไว้เป็นที่นัดไปรวมตัวกันเพื่อสังสรรค์ และเป็นที่พักสำหรับใครก็ตามที่ถูกบ้านขับไล่มา
ด้วยการเลือกปฏิบัติ บาร์เกย์ในยุคแรกๆ จึงยังไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย พอจะไปจดทะเบียน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้จด เพียงเพราะว่าเป็นเกย์
ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมักจะเปิดบาร์เกย์เถื่อน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 คือ ตำรวจบุกจับกุมผู้ใช้บริการในบาร์เกย์ "สโตนวอลล์ อิน" (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทรานส์ เกย์ และอื่นๆ แต่พวกเขาไม่ยอม สุดท้ายเหตุการณ์จึงบานปลาย มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม
เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงกลายเป็นชนวนให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกทางตัวตน
แต่ยิ่งตำรวจปราบปรามมากเท่าไร ฝูงชนก็ยิ่งเดินทางมารวมตัวกันมากขึ้น จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วง ขบวนพาเหรด และการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อถึง "ไพรด์" (Pride) หรือความภาคภูมิใจในตัวเอง
โดยพวกเขาเริ่มจากการเคลื่อนไหวในมหานครนิวยอร์ก ก่อนจะขยายไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา และกระจายไปทั่วโลก
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 28 มิถุนายน จึงเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศมาจนถึงปัจจุบัน
แต่การระลึกถึงเหตุการณ์จราจลในวันนั้น ได้ขยายใหญ่ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้าย กลายเป็นเรียกร้องแบบทั้งเดือนยาวต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นที่มาของเทศกาล "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจที่ยาวนานตลอดทั้งเดือนมิถุนายนนั่นเอง
เปิดความหมาย "LGBTQIAN+"
สำหรับความหมายของ "LGBTQIAN+" นั้นย่อมาจากคำเรียกเพศวิถีต่างๆ ที่มีความหลากหลาย จากเดิมที่มีตัวอักษร "LGBT" แค่ 4 ตัว แต่ต่อมาได้ใส่ + เข้าไป เพื่อสื่อถึงความหลากหลายที่เพิ่มเข้ามา
กระทั่งได้เพิ่มตัวอักษรเข้าไปอีก 4 ตัว กลายเป็น "LGBTQIAN+" ในปัจจุบันนั่นเอง โดย คำย่อในปัจจุบัน มาจากคำดังต่อไปนี้
- Lesbian - เลสเบี้ยน คือ ผู้หญิงที่รักผู้หญิง
- Gay - เกย์ คือ ผู้ชายที่รักผู้ชาย และสามารถหมายถึง "ผู้ที่รักเพศเดียวกัน" ที่เป็นเพศอื่นได้เช่นกัน
- Bisexual - คนรักสองเพศ คือ คนที่สามารถรักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
- Transgender - คนข้ามเพศ คือ คนข้ามเพศ หรือคนที่เปลี่ยนแปลงเพศตนเองให้เป็นอีกเพศหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตัวเอง
- Queer - เควียร์ คือ คนที่ไม่ต้องการอยู่ในกรอบที่กำหนดเรื่องเพศตามขนบสังคม รวมถึงผู้ที่ไม่แน่ใจในเพศวิถีของตัวเอง
- Intersex - คนที่มีเพศกำกวม คือ บุคคลที่มีสรีระทางเพศ หรือมีโครโมโซมที่มีลักษณะกำกวม ไม่ตรงกับสรีระชายหรือหญิง หรืออาจจะมีลักษณะทั้งชายและหญิง โดยผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ จะเป็นบุคคลากรทางแพทย์
- Asexual - คนไม่ฝักใฝ่ทางเพศ คือ คนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนก็ตาม
- Non-Binary - นอนไบนารี่ คือ คำศัพท์ที่ใช้เรียก เพื่อทำให้เห็นอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ ว่าอยู่นอกเหนือการจัดหมวดเรื่องเพศที่มีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ทลายการจัดระเบียบบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศว่าจะต้องดำรงชีวิต มีแนวปฏิบัติที่ให้สอดคล้องกับเพศหญิง หรือเพศชายเท่านั้น
- Plus (+) - เพศอื่นๆ คือ เพศอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง
"ธงสีรุ้ง" สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม
อย่างที่เราทราบกันดีว่า "LGBTQIAN+" นั้นเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย และสีรุ้งก็เป็นการรวมตัวของสีหลายๆ เฉดมาเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อสร้างสีสัน เหมือนกับความหลากหลายทางเพศ
"ธงสีรุ้ง" จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้การออกแบบของ "กิลเบิร์ต เบเกอร์" (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978
โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 1976 โดยในแรกเริ่มธงนี้มีด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่
- สีชมพู (Hot Pink) หมายถึง เรื่องเพศ
- สีแดง หมายถึง ชีวิต
- สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
- สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
- สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
- สีฟ้า (Turquoise) หมายถึง เวทมนต์
- สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี
- สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่
ต่อมาในภายหลังได้มีการลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยสีที่ถูกถอดออกคือ สีชมพู Hot pink และสีฟ้า Turquoise เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ ทำให้ยากต่อการผลิต แต่ถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลงเหลือเพียงแค่ 6 แต่ความหมายของสีต่างๆ ก็ยังคงเป็นเช่นเคย
ขอบคุณข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ Amnesty International Thailand