บรรดาผู้นำชาตินาโตได้เริ่มทยอยเดินทางออกจากกรุงมาดริดของประเทศสเปนแล้วหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง
ผลจากการประชุมที่ดำเนินมา 3 วัน คือการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งขององค์กรความมั่นคงแห่งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เลขาธิการนาโต เยนส์ สโตลเทนเบิร์กเรียกว่า "เปลี่ยนจากรากฐาน"
หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนมุมมองต่อรัสเซีย จากที่เคยเรียกว่าเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ให้กลายมาเป็นภัยคุกคามโดยตรงและสำคัญที่สุดของนาโต
นานาชาติผิดหวัง เจรจาปัญหา ยูเครน-รัสเซีย ยังไม่เจอทางออก
ยืดเยื้อ สงครามรัสเซีย ยูเครน | กาแฟดำ EP47 | 31 มี.ค. 65 | สุทธิชัย หยุ่น
การเปลี่ยนสถานะและมุมมองต่อรัสเซียตามมาด้วยการปรับยุทธศาสตร์ทางการทหารครั้งใหญ่ ในที่ประชุม ชาติสมาชิกนาโตประกาศเพิ่มกำลังพร้อมรบหรือ Nato Response Forece (NRF) ที่ตอนนี้มีอยู่ 40,000 นาย ให้เป็น 300,000 นายจะเพิ่มกองเรือพิฆาตในสเปน ส่งเครื่องบินรบ F-35 ไปสหราชอาณาจักร เพิ่มศักยภาพการป้องกันภัยทางอากาศในเยอรมนีและอิตาลี่
ส่วนที่โปแลนด์ สหรัฐจะตั้งสำนักงานใหญ่ของกองทัพน้อยที่ 5 อย่างถาวร โดยผู้นำสหรัฐทิ้งท้ายในการแถลงข่าวก่อนออกจากประเทศสเปนว่า ทั้งหมดเพื่อปกป้องทุกตารางนิ้วของนาโต และรัสเซียคิดผิดหากคิดว่าสงครามในยูเครนจะทำให้ชาตินาโตแตกแยกกัน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของนาโตสร้างความไม่พอใจให้รัสเซีย โดยเฉพาะประกาศให้รัสเซียเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง
รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนประเทศเบลารุส พูดเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวว่า ขั้นตอนของการคลี่ม่านเหล็กอันใหม่ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกได้เริ่มขึ้นแล้ว
เขาบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุมนาโตคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ชาติตะวันตกไม่ได้พยายามทำความเข้าใจความกังวลและผลประโยชน์ของรัสเซียแม้แต่น้อย และจากนี้ไปรัสเซียคงจะไม่สามารถเชื่อใจชาติตะวันตกได้อีกต่อไป
การใช้คำว่า “ม่านเหล็ก” คือสิ่งที่บ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียตกต่ำมากที่สุดนับตั้งสิ้นสุดสงครามเย็นหรือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991
“ ม่านเหล็ก” ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงสงครามเย็น ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์และการใช้ตัวแทนทำสงครามระหว่างโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐ และโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต
โดยคนที่ใช้คำนี้เป็นคนแรกคือ นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ของสหราชอาณาจักร โดยใช้เพื่อเปรียบเทียบว่า สหภาพโซเวียตคือ ดินแดนหลังม่านเหล็กจากหลังที่พยายามปิดกั้นทุกสิ่งทุกอย่างจากโลกตะวันตก
นั่นคือสิ่งที่เกิดในช่วง 3 วันที่ผ่านมาของการประชุมนาโต ซึ่งจากนี้ไปหลายฝ่ายมองว่า ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกจะมีมากขึ้น จากการปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงครั้งใหญ่ของนาโต อาจเรียกได้ว่า นี่เป็นสงครามเย็นครั้งใหม่
ในส่วนของนโยบายที่มีต่อสงครามในยูเครน ชาติสมาชิกนาโตประกาศร่วมกันว่า จะให้ความช่วยเหลือกับยูเครนทุกทางรวมถึงการส่งอาวุธให้ตราบใดที่สงครามยังดำเนินอยู่
เมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จุดที่มีการสู้รบกันหนักและมีความคืบหน้าที่น่าสนใจอยู่ทางภาคใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นแนวที่ติดกับทะเลดำโดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า เกาะงู
เกาะงูเป็นเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำ โดยที่นี่ถูกรัสเซียยึดได้ตั้งแต่วันแรกที่รัสเซียยกทัพเข้ายูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ถึงแม้พื้นที่จะเล็กมาก โดยหทารที่ประจำการบนเกาะมีไม่เกิน 20 นาย แต่เกาะงูมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่งต่อทั้งรัสเซียและยูเครน โดยเกาะงูตั้งอยู่ระหว่างจุดยุทธศาสตร์สำคัญถึง 3 จุด
ห่างไปทางทางเหนือประมาณ 35 กิโลเมตรคือ เมืองโอเดสซา ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครนบนทะเลดำ ตอนนี้เป็นที่ประจำการของกองเรือยูเครนหลังเสียไครเมียให้รัสเซียไปเมื่อปี 2014
ทางตะวันออกของเกาะงูคือ แคว้นไครเมีย ที่ตั้งของฐานทัพเซวาสโตปอล ซึ่งเป็นกองเรือของรัสเซียบนทะเลดำ
ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะงูคือ ชายฝั่งของโรมาเนีย ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดบนทะเลดำ นั่นก็คือ ฐานทัพคอนสแตนตา
ดังนั้น หากใครได้ครอบครองเกาะงู ก็จะได้เปรียบในการปกป้องพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 จุดนี้
รัสเซียยึดเกาะงูได้ตั้งแต่วันแรกๆของการทำสงคราม และการยึดเกาะงูได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัสเซียสามารถปิดกั้นเส้นทางในทะเลดำไม่ให้ยูเครนขนส่งสินค้าทางการเกษตรออกจากท่าเรือในเมืองโอเดสซาได้
หลังจากยึดครองอยู่ 4 เดือน เมื่อวานนี้จู่ๆรัสเซียก็ประกาศถอนกำลังออกจากที่นั่น
โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซียให้เหตุผลในระหว่างการแถลงข่าวว่า เนื่องจากภารกิจของรัสเซียบนเกาะงูเสร็จเรียบร้อยแล้ว และการถอนกำลังออกมาเพื่อแสดงความหวังดีต่อยูเครนและเพื่อให้โลกให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้เป็นฝ่ายที่พยายามปิดกั้นไม่ให้ยูเครนใช้เส้นทางในทะเลดำขนส่งสินค้าทางการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนบอกว่า การถอนกำลังออกจากเกาะงูของรัสเซียไม่ใช้เพราะรัสเซียหวังดี แต่เป็นเพราะว่าทหารรัสเซียแพ้ในการรบที่นั่น
ผู้นำยูเครนประกาศว่า ขณะนี้เกาะงูได้กลับมาอยู่ในความครอบครองของยูเครนอีกครั้ง และยูเครนจะเอาแผ่นดินของตัวเองกลับคืนมาทีละน้อย
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การต่อสู้แย่งชิงเกาะงูเป็นไปอย่างดุเดือด ทางกายภาพ เกาะงูเป็นเกาะเล็กจึงค่อนยากที่จะป้องกันพื้นที่ แม้รัสเซียจะมีทหารประจำการที่นั่น แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติการอะไรได้มาก กลายเป็นเป้าโจมตี
ประกอบกับการที่ยูเครนใช้วิธีดักทำลายเรือรัสเซียที่ขนส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ไปที่นั่น ทำให้ในที่สุดรัสเซียต้องยอมทิ้งเกาะงู
ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความเสียหายหลังจากรัสเซียถอนกำลังออกไป ที่ทั้งอาคารและรถที่ถูกเผา
เกาะงูถือเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียของรัสเซียบนทะเลดำหลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรือมอสควา ซึ่งเป็นเรือธงของกองเรือรัสเซียบนทะเลดำถูกยูเครนจมลงแต่การที่รัสเซียล่าถอยจากเกาะงูไม่ได้หมายความว่า การสู้รบด้านนี้จะเบาลง
ล่าสุดเมื่อช่วงเวลาตีหนึ่งที่ผ่านมา รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่เมืองตามแนวทะเลดำอย่างหนักและมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
สภาพความเสียหายของอาคารที่พักอาศัย 9 ชั้นแห่งหนึ่งของเมือง บิโฮรอด ดนิสทรอฟสกี (Bilhorod-Dnistrovskyi) เมืองตากอากาศบนทะเลดำที่ไม่ไกลนักจากเมืองโอเดสซา
สภาพของอาคารที่พังถล่มลงมาจากแรงของขีปนาวุธทำให้เกิดไฟไหม้ลุกท่วม มีคนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยตัวเลขจากทางการยูเครนคือเสียชีวิต 18 ราย
และมีรายงานด้วยว่า ยังมีผู้ติดอยู่ในซากอาคารจำนวนมาก เนื่องจากเวลาที่เกิดเหตุคือ เวลาตีหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนหลับอยู่
รัสเซียเริ่มโจมตีทางใต้หนักในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมืองที่เป็นเป้าหมายหลักและถูกโจมตีหนักที่สุดคือ มิโคลายิฟ ซึ่งเป็นเป็นด่านหน้าก่อนถึงโอเดสซา
โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่นี่ถูกรัสเซียใช้ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ แบบ Kh-22 ยิงเข้าใส่ถึง 11 ลูกเป้าหมายสูงสุดของรัสเซียทางตอนใต้คือ เมืองโอเดสซา ฉายาไข่มุกแห่งทะเลดำ เมืองนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1794 โดยจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย
เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของยูเครน เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญ ทั้งเฟื่องฟูไปด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม สถานที่เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลายแขนง
และที่สำคัญคือ เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครน โดยสินค้าร้อยละ 70 ผ่านเข้าออกที่ท่าเรือของเมืองนี้
สมรภูมิบนทะเลดำจึงน่าจับตามองเพราะมีความสำคัญไม่เฉพาะกับคู่สงครามอย่างรัสเซียและยูเครนเท่านั้น แต่มีความสำคัญกับคนอีกเกือบครึ่งโลก เพราะการสู้รบที่เกิดขึ้นที่นี่ทำให้ยูเครนไม่สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตรได้กว่า 4 เดือนแล้ว
ที่ผ่านมามีความพยายามนานาชาติในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้รัสเซียยอมเปิดทางแต่ไม่เป็นผล โดยที่ผ่านมารัสเซียอ้างว่าไม่ได้ปิดกั้นทะเลดำ แต่ที่ยูเครนเดินเรือสินค้าไม่ได้เพราะว่ามีทุ่นระเบิดในทะเลดำจำนวนมากที่ตัวเองวางไว้เพื่อป้องกันรัสเซียรุกคืบโดยนับตั้งแต่นี้ รัสเซียจะไม่เชื่อถือสหรัฐและสหภาพยุโรปอีกต่อไป