ยุโรปเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรง ไฟป่าปะทุในหลายประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขณะนี้หลายประเทศในยุโรปต้องอยู่กับคลื่นความร้อนมานานถึงหนึ่งสัปดาห์แล้ว อากาศที่ร้อนขึ้นไม่เพียงทำให้ผู้คนเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งอีกปัญหาใหญ่นั่นก็คือ ไฟป่าตั้งแต่ โปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส ไปจนถึงกรีซ บรรดานักดับเพลิงกำลังรับมือกับไฟป่าท่ามกลางสภาพอากาศอันร้อนระอุถึง 40 องศาเซลเซียส

ภาพจากแคว้นกาตาลันของสเปน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ดับเพลิงนับร้อยชีวิตต้องช่วยสกัดเปลวไฟที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ไฟจะลามไปถึงชุมชนใกล้ๆ และภาพจากเฮลิคอปเตอร์เผยให้เห็นกลุ่มควันหนาทึบพวยพุ่งออกมาจากจุดที่เกิดไฟป่า  เหตุไฟป่าแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่จุดเดียวในสเปน แต่ขณะนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ

อีกจุดเกิดขึ้นที่เมืองมาลากา แคว้นอันดาลูซิอาทางตอนใต้ของประเทศ

ไฟป่ายุโรปโหมหนัก หลังสถานการณ์คลื่นความร้อนยังวิกฤต

“คลื่นความร้อน” อันตรายต่อร่างกายของเราอย่างไร?

จุดที่เกิดไฟป่าห่างจากชุมชนเพียงหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น เจ้าของธุรกิจในชุมชนเล่าให้ฟังว่า ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเขาไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากขับมอเตอร์ไซค์ไปคอยสังเกตุการณ์ เพื่อประเมินว่าถึงเวลาที่ชุมชนต้องอพยพหนีแล้วหรือยัง

ไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วยุโรปเป็นผลจากคลื่นความร้อนที่ขณะนี้ทำให้หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส บางจุด เช่นที่โปรตุเกสสูงถึง 47 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

คลื่นความร้อนระลอกล่าสุดเดินทางมาจากภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และอุณหภูมิที่สูงผิดปกติส่งผลให้เกิดไฟป่าตามมา

แผนที่จากสำนักข่าว The Guardian เผยให้เห็นเหตุไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้นทั่วยุโรปหลายร้อยจุด

จุดสีแดงแทนเหตุไฟป่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่วนจุดสีเหลืองแทนเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าขณะนี้พื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ โปรตุเส สเปน อิตาลี และกรีซ

นี่คือภาพของทีมนักดับเพลิงพิเศษจากเยอรมนีที่เพิ่งเดินทางถึงกรีซเมื่อวานนี้

เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมาช่วยดับไฟป่า รวมถึงคอยเฝ้าระวังเหตุไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อนของภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน

รายงานจากสหภาพยุโรประบุว่า ทางสหภาพส่งทีมนักดับเพลิงรวม 250 คนจาก 6 ประเทศเข้าไปในเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เยอรมนีคือหนึ่งในนั้น

ด้านความเสียหายที่เกิดขึ้น ช่วงหลายวันมานี้เกิดเหตุเครื่องบินเล็กและเฮลิคอปเตอร์ตก โดยเป็นทั้งเครื่องบินที่มาช่วยดับไฟและสัญจรผ่านจุดที่เกิดไฟป่า

ในโปรตุเกสเหตุเครื่องบินเล็กตกส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ส่วนในกรีซเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกมีผู้เสียชีวิต 1 รายและในสเปนมีรายงานว่า ชาวบ้านกว่า 2,300 คนที่อาศัยอยู่รอบๆ เนินเขามีฮาสทางตอนใต้ของประเทศต้องอพยพหนีไฟป่า เช่นเดียวกับชาวบ้าน 12,000 คนในภูมิภาคฌีรงด์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตามสิ่งที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในขณะนี้ไม่ใช่ไฟป่า แต่เป็นคลื่นความร้อน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่าง ผู้สูงอายุ

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของโปรตุเกส ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนแล้ว 650 ราย หรือเฉลี่ย 1 รายทุกๆ 4 นาที ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทางการต้องประกาศเตือนผู้สูงอายุและเด็กให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงกลางวัน

ที่กรุงลิสบอน เมืองหลวงของโปรตุเกสซึ่งคลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยว บรรยากาศในขณะนี้จะเห็นว่าผู้คนต้องพกขวดน้ำดื่มตลอดเวลา เดินหาไอศกรีมทาน หรืออยู่ใกล้ๆ ชายหาด

ผลกระทบจากคลื่นความร้อนไม่เพียงกระทบมนุษย์เท่านั้นแต่ยังส่งผลถึงระบบนิเวศด้วย

ขณะนี้แม่น้ำโป ซึ่งไหลมาจากหุบเขาโป และถือได้ว่าเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศ บางจุดแห้งเหือดเหลือเพียงแอ่งน้ำเล็กๆ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์แม่น้ำแห้งถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินแก่ชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆ หุบเขาโป

ปิดท้ายที่สเปน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในกรุงมาดริดชาวเมืองและนักท่องเที่ยวร่วมกันจัดงานสงกรานต์ขนาดย่อมขึ้นด้วยการนำปืนฉีดน้ำมาฉีดใส่กันคลายร้อน

ความสนุกสนานเช่นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส

ชาวสเปนเล่าว่า ภาพแบบนี้ไม่เกิดขึ้นมานานสองปีแล้ว นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หนึ่งในผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ "สภาพอากาศแบบสุดขั้ว"

คำว่าสุดขั้วหมายถึง สภาพอากาศผิดปกติที่นานๆ จะเกิดขึ้น แต่กลับพบเห็นได้บ่อยขึ้น เช่น ที่ยุโรปขณะนี้กำลังเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

อีกความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือ คลื่นความร้อนแบบนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าช่วงเวลาปกติเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ และในอนาคตมีแนวโน้มว่าคลื่นความร้อนจะเกิดเร็วขึ้นมากกว่านี้รวมถึงยังมีแนวโน้มที่คลื่นความร้อนจะคงอยู่นานขึ้นกว่าเดิมด้วย

รายงานจาก เมติโอฟรานซ์ หน่วยงานพยากรณ์อากาศในฝรั่งเศสชี้ระบุว่า จำนวนวันเฉลี่ยที่ฝรั่งเศสจะเกิดคลื่นความร้อนในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 นี้อาจยาว 20-35 วัน เทียบกับจำนวนวันเฉลี่ยเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 คลื่นความร้อนดำรงอยู่เพียง 3-4 วันต่อปี

การที่โลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่บ่อยขึ้น และการเกิดแต่ละครั้งนานขึ้น เป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน

สาเหตุของโลกร้อนคือ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล โดยนับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มให้พลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหินและตามมาด้วยน้ำมันเพื่อการผลิต อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นเฉลี่ยแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้โลกอยู่ในภาวะปั่นป่วนได้แล้ว

ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส เพราะนั่นหมายความว่า ระบบนิเวศน์ของโลกพังทลายและไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้อีกหรือที่เรียกว่า Tipping Point

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะในการประชุมโลกร้อนเมื่อปลายปีที่แล้วที่เรียกว่า Cop 26 มีหลายประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกอย่างเช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ และจีน ล้มเหลวในการให้สัญญาบางอย่าง เช่น ไม่ได้ลงนามในการลดใช้ถ่านหินซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลออกมาจากกลุ่มนักวิเคราะห์ด้านสภาพภูมิอากาศ Climate Action Tracker ระบุว่าเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้น แม้ชาติต่างๆ จะปฏิบัติตามสัญญาลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในปี 2030 โดยอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 2.4 องศาเซลเซียส เมื่อถึงปี ค.ศ.2100

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ