หนังสือพิมพ์โกลบอล นิวส์ ไลท์ ออฟ เมียนมา สื่อของรัฐบาลรายงานวันนี้ว่านักโทษทั้ง 4 คน ถูกประหารชีวิตแล้วเนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมในการก่อการร้ายที่ทารุณและไร้มนุษยรรม โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านก่อการร้าย แต่ไม่ได้เผยรายละเอียดว่าการประหารชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่
รายงานระบุว่าทั้ง 4 คน ได้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนมกราคมและเมษายนที่ผ่านมา ในการไต่สวนลับที่ไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมฟัง โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือกองกำลังติดอาวุธในการต่อสู้กับกองทัพที่ก่อรัฐประหาร
เมียนมาประหารชีวิต อดีต ส.ส.-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว
"เมียนมา" เตรียมประหารชีวิตนักโทษครั้งแรก
ในจำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิตได้แก่ ‘จ่อ มิน ยู’ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยวัย 53 ปี หรือที่รู้จักในชื่อ ‘จิมมี’ โดยเขาเคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อปี 1988 และก่อนหน้านี้ก็เคยถูกจำคุกมาหลายครั้งจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อปี 2012
จ่อ มิน ยู ถูกจับกุมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วหลังถูกกล่าวหาว่าซ่อนอาวุธและกระสุนปืนเอาไว้ในที่พักในย่างกุ้ง รวมถึงถูกกล่าวหาว่าเป็น “ที่ปรึกษา” ให้กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ นัก (NUG) รัฐบาลเงาที่เป็นการรวมตัวของส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของ ‘อองซาน ซูจี’ รวมถึงฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยละผู้แทนจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลทหารเมียนมา
ส่วนอีกคนที่ถูกประหารชีวิตคือ ‘เปียว เซยา ตอ’ วัย 41 ปี อดีตส.ส. จากพรรคเอ็นแอลดีและยังเป็นคนสนิทของอองซาน ซูจีด้วย ขณะที่ก่อนเข้าสู่การเมือง เปียว เซยา ตอ เคยเป็นแรปเปอร์ที่มีผลงานเพลงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารในยุคก่อนหน้า
โดยเขาถูกตำรวจและทหารกว่า 100 นาย บุกจับกุมในอาคารที่พักแห่งหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งทั้งจิมมีและเปียว เซยา ตอ พ่ายแพ้ในการยื่นอุทธรณ์เมื่อเดือนที่แล้ว
ขณะที่อีก 2 คนที่ถูกประหารชีวิตคือ ‘ฮลา เมียว อ่อง’ และ ‘อ่อง ธุระ ซอ’ โดยเอเอฟพีรายงานว่าทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าสังหารผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แจ้งข่าวให้กับรัฐบาลทหาร
นี่ถือเป็นการลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกของเมียนมานับตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมาและทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนกังวลว่าจะมีการลงโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอีก เพราะนับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 มีผู้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในเมียนมาแล้วถึง 114 คน
หลังโกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมา รายงานข่าวการลงโทษประหารก็ทำให้เกิดเสียงประณามรัฐบาลทหารขึ้น ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลเงาเมียนมาและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน
“โธมัส แอนดรูส์’ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่า รู้สึกตะลึงและสิ้นหวังอย่างยิ่งกับข่าวที่ออกมา
แอนดรูส์ ชี้ว่าทั้ง 4 คนถูกไต่สวนและลงโทษภายใต้ศาลทหาร ไม่ได้รับสิทธิ์ในการอุทธรณ์และยังมีรายงานด้วยว่าพวกเขาไม่ได้รับการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งนี่ถือว่าละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล
ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ยังชี้ว่าการกระทำที่เลวร้ายนี้ควรเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับประชาคมโลก โดยเรียกร้องให้รัฐสมาชิกของสหประชาชาติตอบสนองต่อสถานการณ์ในเมียนมาด้วยท่าทีที่เด็ดขาดมากขึ้น
ด้าน ‘ฟิล โรเบิร์ตสัน’ รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอตช์ระบุว่า การประหารชีวิตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและอดีตส.ส. พรรคเอ็นแอลดี แม้จะมีเสียงประณามจากประชาคมโลก สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพร้อมจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อควบคุมสถานการณ์ในประเทศ แต่ก็เชื่อว่านี่มีแต่จะยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธแค้นมากยิ่งขึ้น
รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอตช์ยังระบุด้วยว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาที่เลวร้ายลงเป็นเพราะประชาคมโลกยังกดดันรัฐบาลทหารไม่เพียงพอ
ขณะที่อาเซียนเองซึ่งพยายามเข้าไปมีบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งก็แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้ เพราะมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ในหมู่ประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาจากญีปุ่นและจีนต่อเหตุการณ์ประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในเมียนมาด้วย
โดยรองโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นประณามการประหารชีวิตอดีตส.ส. และนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย พร้อมเตือนว่านี่จะยิ่งทำให้เมียนมาถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น
ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อถูกถามระหว่างการแถลงประจำวันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาก็ระบุว่า จีนเคารพหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นเสมอ โดยจีนสนับสนุนให้ทุกฝ่ายในเมียนมาแก้ไขความขัดแย้งภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือน ‘หวัง อี้’ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเพิ่งเผยกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาว่า จีนหวังว่าทุกฝ่ายในความขัดแย้งในเมียนมาจะให้ความสำคัญกับภาพใหญ่และผลประโยชน์ของประชาชน ยึดมั่นในการเจรจาอย่างมีเหตุผล และตระหนักถึงการสร้างความปรองดอง สันติภาพและเสถียรภาพภายใต้กรอบกฎหมาย
ก่อนที่จะมีการลงโทษเกิดขึ้น ทั้งเลขาธิการสหประชาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็ได้ออกมาคัดค้านการประหารชีวิตนักโทษการเมืองเหล่านี้ ตั้งแต่ตอนที่มีรายงานออกมาว่าศาลที่ควบคุมโดยกองทัพได้ตัดสินโทษประหารชีวิตแล้ว โดยย้ำถึงความไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมในการพิจารณาคดี
แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา ‘ซอ มิน ตุน’ โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาได้กล่าวปกป้องคำตัดสิน โดยอ้างว่าการประหารชีวิตทั้ง 4 คน มีความชอบด้วยกฎหมายและจำเป็น
โดยเมื่อเดือนที่แล้วโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาบอกว่า มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างน้อย 50 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิตเพราะนักโทษเหล่านี้ จึงมองว่าการตัดสินโทษประหารชีวิตเป็นธรรมแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังสื่อรัฐบาลเมียนมารายงานเรื่องการประหารชีวิต ก็ยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมออกมาจากฝ่ายรัฐบาลทหาร
สถานการณ์ในเมียนมาปั่นป่วนนับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังพรรคเอ็นแอลดีของซูจีคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลายอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปช่วงปลายปี 2020
กองทัพใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงต้านรัฐประหารอย่างสันติ โดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเมียนมารายงานว่านับตั้งแต่เกิดรัฐประหารมีประชาชนถูกจับกุมแล้วเกือบ 15,000 คน และถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงสังหารแล้วกว่า 2,000 คน
ซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหารยังทำให้พลเรือนบางส่วนหันมาจับอาวุธขึ้นสู้กับกองทัพในรูปแบบกองโจรด้วย
ขณะที่อองซาน ซูจี ก็ถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหามากมายตั้งแต่ทุจริตไปจนถึงละเมิดกฎหมายความรับราชการ ซึ่งหากเธอถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมดก็อาจจบลงที่การถูกจำคุกนานถึง 150 ปี
รายงานระบุด้วยว่าหลังจากมีข่าวการประหารชีวิต 4 นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยออกมา ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากในเมียนมาก็พากันเปลี่ยนภาพโปรไฟล์บัญชีโซเชียลมีเดียเป็นสีดำและแดงเพื่อไว้อาลัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น