ผลการทำประชามติเบื้องต้นออกมาปรากฎว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรในดินแดนเหล่านั้นต้องการกลับไปอยู่กับรัสเซีย
ประชาคมโลกออกมาประณามการทำประชามติแต่เพียงฝ่ายเดียวของรัสเซีย ขณะที่ยูเครนประกาศไม่ยอมรับจะเดินหน้าเอาดินแดนคืนมาให้หมด นี่คือตัวเร่งให้สงครามในยูเครนเข้าไปสู่จุดที่อันตรายมากขึ้น เพราะรัสเซียขู่ว่า ถ้าใครแตะต้องดินแดนเหล่านี้จะถูกตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์
การขู่ของรัสเซียทำให้เลขาธิการนาโตออกมาประกาศในวันนี้ว่า ถ้ารัสเซียใช้นิวเคลียร์จริง นาโตจะตอบโต้อย่างสาสม
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติรัสเซียไปยุโรปรั่ว อุบัติเหตุหรือฝีมือของใครบางคน?
ไม่มีทางหนีได้เลย! รัสเซียจ่อตั้งด่านเกณฑ์ทหารที่ชายแดนจอร์เจีย
การทำประชามติเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายนและสิ้นสุดลงเมื่อวานนี้ หนึ่งในแคว้นที่มีการจัดทำประชามติคือ แคว้นโดเนตสก์ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน ที่นี่มีกลุ่มแบ่งแยกที่หนุนโดยรัสเซียจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014
เมื่อคืนที่ผ่านมา ( 27 ก.ย.) เดนิส ปูชิลิน ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของโดเนตสก์ ออกมาประกาศผลการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการว่า ประมาณร้อยละ 99.23 ของประชากรในแคว้นนี้โหวตให้กลับไปอยู่กับรัสเซีย และนี่ถือวันแห่งประวัติศาสตร์ที่รอมานาน วันที่ได้กลับไปอยู่กับรัสเซียที่ยิ่งใหญ่
นอกเหนือจากแคว้นโดเนตสก์แล้ว ผลของประชามติของอีก 3 ดินแดนก็ออกมาคล้ายๆกัน ในแคว้นลูฮันสก์ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคดอนบาส กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังประกาศว่า ร้อยละ 98.42 ของประชากรโหวตให้กลับไปอยู่กับรัสเซีย ในภูมิภาคซาโปริซเซีย ร้อยละ 93.11 ของประชากรโหวตกลับไปอยู่กับรัสเซีย และในภูมิภาคเคอร์ซอน ร้อยละ 87.05 ของประชากรโหวตกลับไปอยู่กับรัสเซีย
ดมิทริ เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีของรัสเซียซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงประกาศผ่านเทเลแกรมว่า ผลการออกเสียงชัดเจนแล้ว “ขอต้อนรับกลับบ้าน สู่รัสเซีย”
คาดการณ์กันว่า ประธานาธิบดีปูตินจะประกาศผลการลงประชามติในการประชุมรัฐสภารัสเซียที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์นี้ เพื่อเดินหน้ารับรองการผนวกดินแดนทั้ง 4 อย่างเป็นทางการ
รัสเซียรีบเร่งผลักดันให้มีการลงประชามติหลังจากถูกยูเครนรุกหนัก และต้องสูญเสียพื้นที่ยึดครองไปเป็นจำนวนมาก โดยนักวิเคราะห์มองว่าการเร่งยึดเอาพื้นที่เหล่านี้ก็เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการยกระดับสงคราม
โดยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียหลายคนออกมาส่งสัญญานข่มขู่ยกระดับการทำสงครามด้วยการใช้อาวุธทำลายล้างสูง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซอร์เก ลาฟรอฟ ประกาศกลางเวทียูเอ็นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ทันทีที่ผลประชามติออกมาว่าดินแดนเหล่านี้ต้องการกลับไปอยู่กลับรัสเซีย รัสเซียจะถือว่ามีหน้าที่ในการต้องพิทักษ์ดินแดนเหล่านี้อย่างถึงที่สุด และจะทำทุกทางถึงแม้จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม
ข้อมูลจากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันระบุในข้อมูลที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า รัสเซียคือชาติที่มีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก โดยมีประมาณ 5,977 หัวรบ
-ในจำนวนนี้มีหัวรบที่ติดตั้งกับขีปนาวุธข้ามทวีปถีง 1,185 หัว
-ติดตั้ง/ยิงจากเรือดำน้ำได้ 800 หัว
-และติดตั้ง/ยิงจากเครื่องบินทิ้งระเบิดได้ 580 หัว
ทั้ง 3 ประเภทเป็นหัวรบนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Nuclear Weapon ซึ่งมีพลังการทำลายล้างสูงมาก หรือที่เรียกว่า High Yield สามารถคร่าชีวิตผู้คนหลายแสนคนได้ในคราวเดียว นอกจากนี้สารกัมมันตรังสีที่แผ่ออกมายังกระจายเป็นวงกว้างส่งผลกระทบต่อผู้คนอีกหลายล้านคน
อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้จริง อาจเป็นอาวุธนิวเคลียร์อีกประเภท นั่นคือ นิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีหรือ Tactical Nuclear Weapon ซึ่งมีขนาดเล็ก และความเสียหายจำกัดวงแคบกว่า
นิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับการโจมตีแบบจำกัดวง เพื่อทำลายเป้าหมายในพื้นที่เฉพาะเจาะจง เช่น ทำลายเรือบรรทุกเครื่องบิน ทำลายฐานบัญชาการ หรือแนวรถถัง เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่มรอานุภาพการทำลายล้างแบบให้ผลต่ำหรือ Low Yield
แต่ไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียร์ประเภทใด การนำออกมาใช้จะถือเป็นการข้ามเส้น และจะเปลี่ยนโฉมหน้าและระเบียบความมั่นคงในโลกทันที เพราะไม่ว่าจะเป็นแบบ High Yield หรือ Low Yield ถ้าเป้าหมายคือยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็สามารถสร้างหายนะได้พอๆกัน
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เปิดแถลงข่าวเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า รัสเซียไม่ใช่แค่ขู่ มีแนวโน้มที่นิวเคลียร์จะถูกนำมาใช้จริง
เลขานาโตระบุว่ารัสเซียต้องคิดให้ดี เพราะการใช้นิวเคลียร์จะมีผลลัพธ์ที่รุนแรงตามมา เพราะนาโตจะไม่อยู่เฉยอย่างแน่นอน
ถือเป็นการเปิดหน้าเอานิวเคลียร์มาข่มขู่กันตรงๆ อาจถือเป็นครั้งแรกหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ที่โลกมีความเสี่ยงที่สุดที่จะเห็นการใช้อาวุธทำลายล้างชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า หนึ่งในสมาชิกนาโตอย่างโปแลนด์ออกมาแสดงความเห็นว่า หากรัสเซียใช้นิวเคลียร์จริง นาโตไม่ควรตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ ควรใช้วิธีการอื่นๆที่มีผลลัพธ์ในทางที่รุนแรงพอที่จะหยุดรัสเซียได้แทนจะเป็นวิธีการใดก็ตามที่จะนำมาตอบโต้กัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การทำประชามติของรัสเซียเพื่อผนวกรวมดินแดนของยูเครนคือการสร้างเงื่อนไขที่จะยกระดับสงครามยูเครนขึ้นไปอีกขั้น
ในวันที่รัสเซียออกมาข่มขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องดินแดนเหล่านี้ ยูเครนก็ประกาศว่าจะไม่มีทางยอมเสียดินแดน
เมื่อคืนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเซเลนสกีออกมาแถลงว่า ไม่แปลกใจที่ผลการทำประชามติจะออกมาแบบนี้แต่จะไม่มีวันยอมรับประชามติปลอมๆ ของรัสเซียและจะปกป้องประชากรยูเครนทุกคนที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นในการแถลง ผู้นำยูเครนมีการพูดถึงความคืบหน้าในการยึดคืนพื้นที่ด้วยว่า กำลังจะมีข่าวดีเพิ่มจากแนวหน้า
คาดการณ์กันว่าข่าวดีที่ผู้นำยูเครนพูดถึงคือ ข่าวจากแนวรบด้านตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของภูมิภาคดอนบาส โดยหลังจากยึดคาร์คีฟคืนได้แล้ว ตอนนี้กองทัพยูเครนกำลังเคลื่อนต่อไปที่นั่น นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้นำรัสเซียต้องเร่งระดมพลเพื่อรับมือ
การประกาศการะดมพลสำรองของรัสเซียที่หมายถึงประชาชนคนธรรมดาจะถูกเกณฑ์ไปรบ ก่อให้เกิดการแสการต่อต้านและการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซียในรอบ 7 เดือน
คนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามหรือไม่อยากถูกเกณฑ์ไปรบทะยอยออกนอกประเทศต่อเนื่อง ชายแดนของรัสเซียที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านมีรถต่อคิวกันยาวเหยียดเพื่อข้ามแดน
ประเทศที่ชาวรัสเซียไปมากที่สุดที่หนึ่งคือคาซัคสถาน เนื่องจากไม่ต้องใช้วีซ่าในการข้ามแดน
มีรายงานว่าทางการคาซัคสถานกำลังเริ่มมีปัญหาในการจัดการและให้ความช่วยเหลือคนที่เข้ามา อีกประเทศหนึ่งคือจอร์เจีย
นี่คือภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณชายแดนรัสเซียที่ติดกับจอร์เจีย มีแถวของรถยาวเหยียดเกือบ 20 กิโลเมตรเพื่อรอข้ามแดน ส่วนใหญ่ของคนที่ข้ามแดนเป็นผู้ชายที่จำนวนมากอยู่ในข่ายการถูกเกณฑ์ไปรบ
ล่าสุดสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ทางการรัสเซียกำลังพิจารณาตั้งศูนย์คัดเลือกทหารบริเวณพรมแดนจุดนี้เพื่อสกัดและดักไม่ให้คนที่อยู่ในเกณฑ์ออกนอกประเทศ
ทั้งนี้คนที่อยู่ในข่ายของการถูกเกณฑ์ไปรบคือ ชายที่มีอายุระหว่าง 18 ปีขึ้นไปที่มีประสบการณ์ในการรบหรือการฝึกรบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคืนที่ผ่านมาผู้นำรัสเซียแถลงการณ์ทางโทรทัศน์แห่งชาติว่า เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา จะอยู่ในข่ายของการถูกเกณฑ์ไปรบด้วย และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ไว้
การระดมพลสำรองของรัสเซียที่เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมายังทำให้เกิดการประท้วงในกว่า 36 เมืองทั่วประเทศ เมื่อคืนที่ผ่านมาทางสหประชาชาติเปิดเผยตัวเลขว่า มีคนกว่า 2,300 คนแล้วที่ถูกจับกุมจากการออกมาประท้วงในรอบนี้