เปิดศักยภาพการผลิตยุทโธปกรณ์ของอิหร่าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สงครามในยูเครนกำลังถูกดึงเข้าสู่จุดที่คาดเดาได้ยากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในช่วง 10 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่สะพานเคียร์ช สะพานที่เชื่อมแผ่นดินใหญ่รัสเซียกับแคว้นไครเมียถูกระเบิด

หลังจากนั้นรัสเซียเปิดฉากกระหน่ำโจมตียูเครนด้วยการใช้ขีปนาวุธและโดรน  เมื่อวานนี้ 17 ต.ค. ในปฏิบัติการโจมตีกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน รัสเซียใช้โดรนกามิกาเซ่ที่ผลิตจากอิหร่าน ทำให้พันธมิตรของยูเครนไม่พอใจออกมาประกาศคว่ำบาตรลงโทษอิหร่าน รวมถึงระบุว่าสิ่งที่รัสเซียทำเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม อย่างไรก็ตาม ในวันนี้รัสเซียยังคงใช้โดรนโจมตียูเครนต่อ โดยเป้าหมายคือโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน

เครื่องบินรบ Su-34 ของรัสเซียตกใส่เมืองขณะซ้อมบิน เสียชีวิต 13 ราย

ยูเครนเผชิญการโจมตีระลอกใหม่ “โดรนกามิกาเซ่” ถล่มใจกลางกรุงเคียฟ

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (18 ต.ค.) รัสเซียยังคงใช้โดรนโจมตีเข้าใส่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนในหลายจุด ภาพที่เห็นคือโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงเคียฟ โรงไฟฟ้ามีควันดำพวยพุ่งขึ้นมา หลังจากถูกโจมตีด้วยโดรน

อีกจุดหนึ่งคือ โรงไฟฟ้าฟ้าที่เมืองดนิโปร อย่างไรก็ตามในจุดนี้ไม่มีรายงานความเสียหาย

การโจมตีด้วยโดรนเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ เป้าหมายคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทำให้ตอนนี้ประชาชนจำนวนมากในเมืองดังกล่าวไม่มีไฟฟ้าใช้เมืองที่โดนโจมตีหนักๆ คือ ดนีโปร ซูมี และกรุงเคียฟ ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 8 ราย โดย 4 รายอยู่ในกรุงเคียฟและอีก 4 รายอยู่ที่ซูมี

โดรนที่รัสเซียใช้คือโดรนกามิกาเซ่ หรือโดรน HESA Shahed 136 (เฮซา ชาเฮ็ด 136) ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยบริษัท ชาเฮ็ด เอวิเอชั่นชั่น อินดัสทรีส์ ของอิหร่าน แต่ถูกนำไปผลิตโดยบริษัทเฮซา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยุทโธปกรณ์ที่มีรัฐบาลอิหร่านถือหุ้นใหญ่

โดรนเฮซา ชาเฮ็ด 136 ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสงครามกลางเมืองเยเมน โดยรัฐบาลอิหร่านเป็นผู้ส่งโดรนชนิดนี้ไปให้กับกลุ่มกบฏฮูตี ในเยเมนใช้ต่อกรกับกองกำลังผสมของชาติพันธมิตรอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย

จุดเด่นของโดรนชนิดนี้คือสามารถลอยตัวอยู่บนท้องฟ้าได้นานหลายชั่วโมงโดยไม่ต้องกังวลว่าเชื้อเพลิงจะหมด ก่อนจะพุ่งโจมตีเป้าหมายทางภาคพื้นดินได้จากระยะไกล

และที่ต่างจากโดรนอื่นๆ คือ โดรนสัญชาติอิหร่านชนิดนี้ จะทำลายตัวเองหลังการโจมตีเป้าหมายเสร็จสิ้น นี่จึงเป็นที่มาของฉายาโดรนกามิกาเซ่หรือโดรนฆ่าตัวตาย คล้ายกับวิธีการที่นักบินกองทัพญี่ปุ่นใช้ พวกเขาฆ่าตัวตายด้วยการขับเครื่องบินพุ่งชนเรือรบและเครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิฝั่งแปซิฟิก

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนระบุว่า การใช้โดรนกามิกาเซ่โจมตียูเครนเป็นการก่อการร้ายของรัสเซียเพื่อปิดบังความพ่ายแพ้

การโจมตียูเครนด้วยโดรนกามิกาเซ่ เกิดขึ้นในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปกำลังประชุมกันอยู่ที่ลักเซมเบิร์ก และประกาศว่าจะใช้มาตรการลงโทษหรือคว่ำบาตรอิหร่านจากการกระทำนี้

ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุว่า การที่อิหร่านส่งโดรนให้รัสเซีย  ถือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

วีดานต์ ปาเทล โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯเห็นพ้องกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่มองว่าการที่อิหร่านส่งโดรนให้กับรัสเซียเป็นการละเมิดมติที่ 2231 ของคณะมนครีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ  หลังพบการโจมตีจากโดรนชาเฮ็ด-136 ของอิหร่านในยูเครน

อย่างไรก็ตาม  ทางการอิหร่านออกมาปฎิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯแบบทันควัน

นัสเซอร์ คานาอานี (NASSER KANAANI)  โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่านระบุว่า อิหร่านไม่เคยส่งออกหรือขายอาวุธเพื่อการทำสงครามในยูเครนตามข่าวที่ออกมา    และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการรายงานข่าวที่บิดเบือนของสื่อตะวันตก  

โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่านยังบอกด้วยว่า อิหร่านไม่เข้าข้างฝ่ายใดในสงครามยูเครน เพราะรัฐบาลเตหะรานนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งรัสเซียและยูเครน

ในวันที่อิหร่านออกมาปฎิเสธว่าไม่ได้ส่งโดรนให้กับรัสเซียเพื่อใช้ในการโจมตียูเครน รัฐบาลรัสเซียกลับยังไม่ออกมาแสดงท่าทีใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

คาดการณ์กันว่า ที่รัสเซียต้องหันไปใช้อาวุธจากอิหร่านเนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเริ่มร่อยหรอหลังจากสงครามในยูเครนถูกลากยาว ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 8

ซึ่งอิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดต่างๆ รวมถึงมีศักยภาพในการเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์ มายาวนาน

ในอดีต อิหร่านเคยมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐและอังกฤษ    

สหรัฐอเมริกาช่วยเหลืออิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ นี่เอง ที่ทำให้อิหร่านมีโครงการนิวเคลียร์เป็นของตัวเองได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1950

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 1979 เมื่ออิหร่านเกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นรัฐอิสลาม

ผู้ปกครองคนใหม่ของอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี โคมัยนี มองสหรัฐเป็นศัตรูผู้ตักตวงผลประโยชน์

ในปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์กลุ่มนักศึกษาอิหร่านบุกยึดและจับเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตหะราน 52 คนเป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน

ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ตกต่ำถึงขีดสุด จนสหรัฐฯ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตทุกทางกับอิหร่าน

หลังจากนั้น อิหร่านก็ปิดประเทศจากชาติตะวันตก และเริ่มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต

แล้วอาวุธที่อิหร่านผลิตมีอะไรบ้าง ?

รายงานของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) เมื่อปี 2001 ระบุว่า อิหร่านสามารถผลิตขีปนาวุธ ยานยนต์หุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ และโดรนได้ด้วยตัวเอง รวมถึงอาวุธร้ายแรงเช่น อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมี

สำหรับสงครามในยูเครน นอกเหนือจากโดรนกามิกาเซ่ที่รัสเซียใช้โจมตียูเครนแล้ว

สื่อของสหรัฐฯ อย่าง Washington Post ยังรายงานว่า ยังมียุทโธปกรณ์อีกตัวที่รัสเซียอาจได้จากอิหร่าน นั่นคือขีปนาวุธฟาเตห์-110

ขีปนาวุธตัวนี้เป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้  (SRBM: Short-range Ballistic Missile) สามารถยิงจากรถได้ มีพิสัยการทำการอยู่ที่ 200-300 กิโลเมตร นอกจากนี้ ตัวขีปนาวุธสามารถบรรจุหัวระเบิดแรงสูง หัวรบเคมี และระเบิดลูกปราย

อีกตัวที่รัสเซียอาจได้จากอหร่าน คือขีปนาวุธซ็อลฟาการ์ เป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ ที่มีพิสัยทำการอยู่ที่ 700 กิโลเมตร  โดยสามารถบรรจุหัวระเบิดแรงสูงชนิดครึ่งตัน และระเบิดลูกปราย และในวันที่รัสเซียกำลังต้องถอยร่น รวมถึงขาดแคลนอาวุธจนต้องพึ่งพาอิหร่าน มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นั่นคือ เครื่องบินรบของรัสเซียพุ่งเข้าชนอพาร์ทเมนต์ระหว่างฝึกซ้อม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่เมือง “เยสก์” (Yeysk)  ในภูมิภาค “กราสโนดาร์” ( Krasnodar) ของรัสเซีย

กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่า เครื่องบินรบลำที่เกิดเหตุเป็นเครื่องบินรบ “ซุคฮอย ซู-34” ที่อยู่ระหว่างการฝึกซ้อมรบในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ผ่านมา ก่อนจะพุ่งชนอพาร์ตเมนต์จนเกิดไฟลุกไหม้อาคาร

ระหว่างเกิดเหตุมีผู้อยู่ในอาคารประมาณ 600 คน และจนถึงขณะนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13 ราย โดยในจำนวนนี้ 3 รายเป็นเด็ก

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่าเป็นเพราะเกิดไฟลุกไหม้ที่เครื่องยนต์ ระหว่างที่เครื่องบนรบลำนี้กำลังขึ้นบิน

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสืบสวนแห่งชาติของรัสเซีย ซึ่งดูแลคดีสำคัญๆ ของประเทศ ได้ประกาศว่าจะเข้ามาสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวและรับเป็นคดีอาญาแล้ว

สำหรับเมืองเยสก์ เป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศใหญ่ของรัสเซีย และอยู่ใกล้กับทะเลอาซอฟ

เอเชียนกมส์2022-3 เอเชียนกมส์2022-3
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ