มหานครมุมไบ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียมีประชากรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบประชากรอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในมหานครแห่งนี้ประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เทียบเท่ากับประชากรทั้งมหานครนิวยอร์ก และการเพิ่มขึ้นประชากรจำนวนมาก หมายความว่าพวกเขากำลังแย่งกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
จนถึงตอนนี้ในเมืองมุมไบ มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 20 ล้านคน และคาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านคนภายในปี 2035 หรือในอีก 13 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ เมืองอื่นๆของอินเดีย
“พิพัฒน์” เปิดใจเหตุเลื่อนเสนอขยายเวลาเปิดผับ เพราะไม่อยากกวนสมาธินายกฯ ที่เตรียมประชุมเอเปค
“VIJIT CHAO PHRAYA” สีสันแม่น้ำเจ้าพระยา ต้อนรับประชุมเอเปค กระตุ้นการท่องเที่ยว
แม้ มุมไบ จะเป็นเมืองใหญ่ที่น่าจะพรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการที่อยู่อาศัย การขนส่ง น้ำ และของเสียยังคงย่ำแย่
ขณะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตชานเมืองของมุมไบต้องเดินทางไปทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมง บางคนที่เดินทางด้วยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนที่เต็มไปการจราจรคับคั่ง และในช่วงมรสุมก็มีน้ำท่วมถนนหนทางที่เป็นหลุมเป็นบ่ออยู่บ่อยครั้ง
ส่วนอีกหลายชีวิตต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟที่แน่นขนัด เนื่องจากที่นี่เป็นระบบรถไฟที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีผู้โดยสารมากกว่า 8 ล้านคนต่อวันที่ต้องใช้บริการรถไฟ
ทั้งนี้ "มุมไบ" ได้ดึงดูดผู้อพยพชาวอินเดียจากทั่วประเทศมานานหลายทศวรรษ โดยพวกเขาต่างเดินทางมาที่นี่เพื่อหาเลี้ยงชีพ และเป็นแรงงานราคาถูกให้กับชาวเมืองผู้ร่ำรวย
เช่นเดียวกับหญิงวัย 56 ปีคนนี้ ที่หลังจากแต่งงานตอนอายุ 17 ปี ได้ย้ายจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐคุชราต มายังเมืองมุมไบ และแม้ว่าตอนแรกเธอจะไม่ชอบที่นี่เลย เพราะใช้ชีวิตยากลำบาก ที่อยู่อาศัยก็มีราคาแพงจนไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ตึกสูงที่กว้างขวางดีๆได้ ทำให้เธอและครอบครัวต้องถูกผลักไสเข้าไปอยู่ในพื้นที่สลัมที่แออัดยัดเยียดกับสมาชิกครอบครัวรวม 10 คน ที่มีห้องน้ำเพียงห้องเดียว
จากผลสำรวจพบว่า ประชากรในเมืองมุมไบประมาณ 40% ยังคงอาศัยอยู่ในสลัม ซึ่งเป็นอาคารแออัดและทรุดโทรม ไม่มีน้ำประปา ไม่มีแหล่งจ่ายไฟ หรือสุขาภิบาลที่เหมาะสม และสลัมเหล่านี้ก็ตั้งตระหง่านอยู่ข้างย่านที่ร่ำรวยที่สุดบางแห่งของเมือง
ขณะที่ผู้ที่อยู่อาศัยในสลัมจำนวนมากในเมืองแห่งนี้ ก็เป็นผู้อพยพจากเมืองอื่นๆที่หลั่งไหลเข้ามาที่นี่เพื่อหางานและหาเงิน จนกลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ เช่น "ดาราวี" ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสลัมที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย เป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนประมาณหนึ่งล้านคน และเป็นฉากหลังของภาพยนตร์เรื่อง "Slumdog Millionaire" ที่ได้รับรางวัลออสการ์ปี 2008
โมฮัมเหม็ด ข่าน วัย 36 ปี หนึ่งในผู้อพยพจากหมู่บ้านชนบทในรัฐทางตอนเหนือของอินเดียได้เดินทางมาถึงสลัมแห่งนี้เมื่อตอนวัยรุ่น โดยเขาจำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองใหญ่เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว
โมฮัมเหม็ด เล่าว่า แม้เมืองมุมไบจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่ที่นี่ก็มีงาน และมีเงิน ตอนแรกที่เขาเริ่มทำงานได้เงินเดือน 6,000 รูปี หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน แต่ตอนนี้เขามีเครื่องจักรที่ใช้ทำงานฟอกหนังสัตว์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และทุกเดือนเขาก็ส่งเงินเดือนส่วนใหญ่ไปให้ภรรยาและลูกอีก 3 คนที่อาศัยอยู่ในชนบท แม้ว่าจะไม่ค่อยได้กลับไปเยี่ยมเยือนก็ตาม
องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า อินเดียจะมีประชากรแซงหน้าจีน และกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปีหน้า ปัจจุบันอินเดียมีประชากร 1 พัน 4 ร้อยล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2060 หรือ 38 ปีข้างหน้า อินเดียจะมีประชากรเพิ่มสูงสุดอยู่ที่ 1 พัน 7 ร้อยล้านคน ก่อนที่ประชากรจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 1 พัน 5 ร้อยล้านคนภายในต้นศตวรรษหน้า
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศของอินเดียเปิดเผยว่า ภายในปี 2040 จะมีผู้คน 270 ล้านคนอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ของอินเดีย เนื่องจากเมืองใหญ่ๆเหล่านี้มีการขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้า และการขนส่ง รวมถึงการผลิตเหล็ก และคอนกรีตเพื่อที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตามจากรายงานของรัฐบาลอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า ปัญหาหลักของเมืองใหญ่ในอินเดีย เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่แออัดยัดเยียด มลภาวะทางอากาศ ทางน้ำ และทางเสียง และประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งปฏิกูลในใจกลางเมืองใหญ่ที่ผลิตออกมาในทุกวัน วันละหลายพันล้านลิตรก็ไม่ได้ผ่านการบำบัด
นอกจากปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ก็มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้คนอินเดียต้องอยู่อย่างยากลำบาก โดยทุกช่วงฤดูหนาว กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ซึ่งมีประชากร 20 ล้านคน ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษทางอากาศ
จากผลการศึกษาของ The Lancet วารสารการแพทย์ รายงานว่าปี 2019 พบผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศก่อนวัยอันควรเกือบ 17,500 คน ซึ่งนอกจากจะมีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งตามมาด้วย
ที่อินเดียมีผู้คนนับล้านที่อาศัยตามเมืองต่างๆ ไม่มีน้ำประปาใช้ และต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำทางรถบรรทุกหรือรถไฟ ขณะที่ผู้คนในกรุงนิวเดลี และที่อื่น ๆ ต้องขุดบ่อน้ำที่ลึกกว่าเดิมเมื่อระดับน้ำใต้ดินลดลง
เช่นเดียวกับ ปี 2019 เมืองเจนไน เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งตั้งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากฝนตกไม่เพียงพอ และการขยายตัวของเมืองได้กัดกินพื้นที่ชุ่มน้ำในอดีต
นอกจากนี้ก็มีปัญหาน้ำท่วมในเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมืองบังกาลอร์ เมืองใหญ่ในรัฐกรณาฏกะ ซึ่งมีการจราจรที่เลวร้ายที่สุดในอินเดียเผชิญกับน้ำท่วมในช่วงฤดูมรสุม ในเดือนกันยายน เนื่องจากการขยายตัวของเมือง และมีการก่อสร้าง ที่ไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งตรงนี้ได้สร้างความทุกข์มานให้กับผู้คนในเมืองใหญ่ของอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ฤดูฝนของมรสุมประจำปีของอินเดียจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้นตามมา
ขณะที่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ฤดูร้อนของอินเดียรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่เต็มไปด้วยป่าคอนกรีตที่กักเก็บความร้อน และปีนี้อินเดียก็เผชิญกับเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความแออัดยัดเยียดในเมืองใหญ่ ที่อาจทำให้ผู้คนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคต่างๆในอนาคต
ปูนัม ฟอร์เตจา (Poonam Muttreja) ผู้อำนวยการมูลนิธิประชากรแห่งอินเดีย แนะว่า รัฐบาลอินเดียควรมีการลงทุนเพิ่มเติมในเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท หรือเพิ่มแรงจูงใจใหม่ ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้คนย้ายจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองเล็กๆมากขึ้น เนื่องจากเวลานี้คนจน โดยเฉพาะผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองใหญ่ ต่างตกอยู่ในความเสี่ยงสูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม งาน และการขาดโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลอินเดียต้องเปลี่ยนมุมมองต่อปรากฎการณ์ดังกล่าว และต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างก่อนที่จะสายเกินไป