น้ำท่วมปากีสถาน ผลกระทบอันเลวร้ายจากภาวะโลกร้อน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี แม้จะมีการเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ในปีนี้หลายพื้นที่บนโลกก็ประสบกับวิกฤตสภาพอากาศอย่างหนัก ตั้งแต่น้ำท่วม พายุหิมะ คลื่นความร้อน ไปจนถึงภัยแล้ง แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือปากีสถานที่เผชิญอุทกภัยรุนแรงจนก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้กับชาวปากีสถานอย่างหนัก

อย่างไรก็ดี การประชุม COP27 ในปีนี้ มีการบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ในการจัดหาเงินเยียวยาให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งแรก

น้ำท่วมหนัก! ปากีสถาน วอนนานาชาติช่วยเหลือกำลังเงินเพิ่ม

คลิปไวรัล! ชาวเน็ตแห่ชมนักข่าวปากีสถานลอยคอรายงานน้ำท่วม

บ้านเมืองที่จมอยู่ใต้น้ำ ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนที่ถูกทำลายจากกระแสน้ำพัด และภาพของผู้คนที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัย

ทั้งหมดนี้คือภาพเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ของปากีสถาน พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,700 คน

ผู้คนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่บ้านที่ถูกกระแสน้ำซัดจนพังเสียหาย ไปจนถึงสูญเสียชีวิต และสมาชิกในครอบครัว รวมถึงทรัพย์สินรวมแล้วมีมากถึง 33 ล้านคน ในจำนวนนี้ 8 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นและไร้ที่อยู่อาศัย

มวลน้ำรุนแรงยังเข้าซัดโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเขื่อน ถนน และสะพานจนพังทลาย ทั้งยังทำลายพืชผลผลิตทางการเกษตรมากถึงร้อยละ 80 ในปีนี้ปากีสถานต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักกว่าทุกปี

เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมที่ทำให้เกิดฝนตกหนักมากกว่าปกติถึงร้อยละ 780 และจุดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ทางตั้งแต่ภาคใต้ ภาคกลาง ไปจนถึงภาคเหนือ ขณะเดียวพื้นที่ทางภาคเหนือก็ถูกซ้ำเติมด้วยการละลายของธารน้ำแข็ง

ปากีสถานถือว่าเป็นประเทศที่มีธารน้ำแข็งมากที่สุด นอกเหนือจากแถบขั้วโลก มีธารน้ำแข็งมากถึง 7,253 แห่ง

ธารน้ำแข็งเกือบทั้งหมดของปากีสถานอยู่ทางตอนเหนือของประเทศติดกับเทือกเขาหิมาลัย แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว และในคราวนี้ ธารน้ำแข็งที่ละลายทำให้มวลน้ำที่ลงมาจากภูเขามากผิดปกติ พร้อมด้วยฝนที่เกิดจากมรสุม จึงทำให้เกิดน้ำท่วมหนักอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน

นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว สถานการณ์น้ำท่วมขังทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเลวร้ายลง ท้องถนนที่เต็มไปด้วยขยะ แหล่งน้ำขังที่ไม่สะอาด นำไปสู่การระบาดของโรคอย่างอหิวาตกโรค ไข้เลือดออก และไข้มาลาเรีย

ผู้ประสบภัยที่ได้รับความช่วยเหลือและได้เข้าไปอาศัยในค่ายพักพิงชั่วคราว แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะดีกว่า แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากจำนวนผู้ประสบภัยที่มากเกินไปทำให้อาหารมีแจกจ่ายไม่มากพอ ส่งผลให้มีผู้ประสบภัยเสียชีวิตจากความอดอยาก

ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้เห็นความเลวร้ายนี้ด้วยตนเอง ระหว่างลงพื้นที่ดูความเสียหายในปากีสถาน โดยเขาระบุว่า เขาไม่เคยเจอความโหดร้ายที่เกิดจากด้านวิกฤตภูมิอากาศที่รุนแรงเท่านี้มาก่อน

ในปีนี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทวีความรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในปากีสถานเท่านั้น

อย่างในยุโรปที่ประสบกับคลื่นความร้อนแผดเผารุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บางแห่ง เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส หรือสเปน มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาฯ

อากาศที่ร้อนจัดประกอบกับความแห้งแล้งทำให้เกิดไฟป่าลุกท่วมในหลายพื้นที่ เผาผลาญพื้นที่ป่ากว่า 7,850 ตารางกิโลเมตร เป็นระดับที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006

ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศในจะงอยแห่งแอฟริกาต้องประสบกับภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี อย่างในโซมาเลียผู้คนกว่า 1 ล้านคนต้องอพยพหนีภัยแล้ง เนื่องจากไม่สามารถเพาะปลูกหรือทำปศุสัตว์ได้ และเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างหนัก

อย่างไรก็ตามปากีสถานถือว่าเจอกับผลกระทบรุนแรงที่สุด ยิ่งเป็นประเทศที่มีรายได้น้อยท่ามกลางความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและทางการเมืองวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าสร้างความเสียหายให้แก่ปากีสถานอย่างสาหัส

รัฐบาลปากีสถานต้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ และเรียกร้องความรับผิดชอบจากประเทศอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษให้กับโลกมหาศาล แต่ปากีสถานกลับต้องแบกรับผลกระทบจากโลกร้อนอย่างไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ดี การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่มาได้บรรลุข้อตกลงประวัติศาตร์  นั่นคือการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนรุนแรงที่สุด

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่การประชุมในครั้งนี้พูดถึงการมอบเงินเยียวยาการสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศเปราะบางอย่างจริงจัง

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2009 ประเทศร่ำรวยรับปากว่าจะมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ประเทศยากจนอยู่แล้วกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.6 ล้านบาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้ในการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดมลพิษ รวมถึงมอบเงินนี้สำหรับการปรับตัวและเตรียมรับมือกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เงินจำนวนนี้ไม่ครอบคลุมเงินเยียวยาการสูญเสียและความเสียหาย

โดยอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า เขายินดีที่จะจัดตั้งเงินทุนเพื่อการสูญเสียและความเสียหายที่จะเริ่มดำเนินการต่อจากนี้ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานานหลายปี

แม้จะบรรลุข้อตกลงแล้วตาม ประเทศกำลังพัฒนายังไม่เชื่อมั่นในคำมั่นสัญญานี้ เพราะจนถึงขณะนี้ ประเทศที่ร่ำรวยยังไม่สามารถทำตามสัญญาว่าจะมอบเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ โดยให้เหตุว่าประเทศกำลังเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลงนี้ไม่ได้ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

โดย COP27 ยังคงยึดมั่นในข้อตกลงที่จะจำกัดอุณภูมิโลกไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาฯ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

หากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย องค์กรสหประชาชาติเตือนว่าจะทำให้ผู้คนหลายล้านคนได้รับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย

และไม่จำเป็นต้องถึงวันนั้น วิกฤตน้ำท่วมในปากีสถานเป็นเหมือนภาพสะท้อนความเลวร้ายอันมาจากปัญหาโลกร้อน จนถึงขณะนี้ยังมีชาวปากีสถานที่ไม่มีบ้านอยู่เพราะบ้านถูกทำลาย คนเกือบล้านยังต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน

น้ำท่วมในครั้งนี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้ทั่วโลกต้องเร่งแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อไม่ให้มีใครต้องประสบกับหายนะและความสูญเสีย

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ