ดังนั้น สิ่งที่ชาติพันธมิตรยูเครนต้องทำคือ ต้องส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพอที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ของสงคราม เพื่อกดดันให้รัสเซียเสียเปรียบจนนำไปสู่การเจรจา
การแถลงครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่ส่งไปยังเยอรมนี หนึ่งในประเทศในที่ถือครองยุทโธปกรณ์สำคัญอย่างรถถังเลพเพิร์ด 2 ซึ่งสามารถเปลี่ยนพลวัตของสงครามได้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำเยอรมนีถูกกดดันจากพันธมิตรในยุโรปอย่างต่อเนื่อง ให้ส่งรถถังนี้ให้ยูเครน แต่ก็ยังไม่เป็นผล
สหรัฐฯจ่อทุ่มงบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ให้ยูเครน ส่งรถหุ้มเกราะ Stryker ช่วยรบ
“Leopard 2”รถถังเยอรมัน กับอนาคตของสงครามยูเครน
เมื่อคืนที่ผ่านมาในระหว่างขึ้นพูดในงาน World Economic Forum นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ไม่มีการเอ่ยถึงเรื่องการส่งรถถังรุ่นดังกล่าวบนเวทีแต่อย่างใด
เริ่มที่ประเด็นการประเมินภาพรวมของสงครามล่าสุด เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโตระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าประธานาธิบดีปูตินจะถอย และไม่มีสัญญาณว่าโลกจะเห็นสันติภาพในเร็วๆ นี้ เพราะรัสเซียยังไม่เสียเปรียบในสนามรบอย่างชัดเจน จนถึงจุดที่จะยอมเจรจา
ดังนั้นสิ่งที่ชาติพันธมิตรตะวันตกต้องทำคือ ทำให้ยูเครนได้เปรียบมากขึ้นในสนามรบด้วยการทำให้ยูเครนได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ เพื่อกดดันในเกิดการเจรจาที่นำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน เลขาธิการใหญ่นาโตระบุด้วยว่า ตอนนี้เป็นเวลาที่โลกต้องเข้าใจว่า สงครามที่ดำเนินมายาวนานกว่า 11 เดือน กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ และการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับยูเครนในสนามรบคือสิ่งที่จะยุติสงครามครั้งนี้ได้
สิ่งที่เลขาฯ นาโตพูดคือ บริบทของสงครามในปัจจุบัน ที่ทั้งยูเครนและรัสเซียไม่สามารถเอาชนะหรือได้เปรียบกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสนามรบ และกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า สงครามยืดเยื้อ ลักษณะของสงครามแบบนี้คือ ต่างฝ่ายฝ่ายต่างยื้อสถานการณ์ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอีกฝั่งจะเพลี่ยงพล้ำ
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ในวันที่รัสเซียเอาชนะยูเครนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ ประธานาธิบดีปูตินต้องการให้ลักษณะของสงครามเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าหากสงครามยืดเยื้อ ชาติพันธมิตรของยูเครนจะเหนื่อยล้าและเลิกสนับสนุนอาวุธให้ยูเครนในที่สุด
นี่คือเหตุผลที่ทำให้ยูเครนต้องเร่งพลิกสถานการณ์ เพื่อให้ได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ ยูเครนต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับต่อสู้
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ คือ สงครามในยูเครนเป็นสงครามการต่อสู้กันแบบระยะประชิดในพื้นที่เปิดโล่ง หรือ Close combat ซึ่งเป็นลักษณะการต่อสู้แบบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีรถถังและปืนใหญ่เป็นอาวุธชูโรง ทำให้ทั้งสองสิ่งได้รับฉายาว่าเป็น"ราชาแห่งสนามรบ”ดังนั้นสงครามที่เราเห็นอยู่ในยูเครนตอนนี้ ถือว่าเป็นการรบที่สวนทางกับการพัฒนาทางการทหารในปัจจุบัน ที่เกือบทั่วโลกเน้นพัฒนาเครื่องบินรบและขีปนาวุธหลากหลายวิถี เพื่อชนะสงครามจากทางอากาศ
ส่วนการต่อสู้กันด้วยรถถังในสงครามยูเครนนั้น เป็นผลโดยตรงจากแกนกลางของตำราพิชัยสงครามฉบับรัสเซีย ที่เน้นการพัฒนาการรบบนภาคพื้นดินด้วยรถถัง / ยานยนต์หุ้มเกราะ / ปืนใหญ่ ที่มีหลากหลายรุ่น เช่น รถถังซีรีส์ ที 64 หรือ ที 90
ส่วนกองทัพอากาศของรัสเซียซึ่งสำคัญต่อการสู้รบสมัยใหม่ ถูกให้ความสำคัญรองลงมา ทำให้เครื่องบินรบ อากาศยาน และจรวดนำวิถีของรัสเซียมีประสิทธิภาพต่ำ เนื่องจากต้องใช้การเล็งด้วยสายตา ทำให้รัสเซียไม่สามารถสู้ด้วยปฏิบัติทางอากาศได้ในวันที่ยูเครนมีระบบป้องกันภัยทางอากาศทั้งแบบใช้คนยิงและใช้เครื่องยิง
นี่ส่งผลให้การสู้รบบนพื้นดินเป็นตัวเลือกที่รัสเซียจะได้เปรียบมากที่สุด และเป็นคำตอบว่าเหตุใดยูเครนต้องการรถถังสมัยใหม่มากขึ้น เพราะถ้าต้องต่อสู้กันด้วยรถถังโดยตรง รถถังของชาติตะวันตกถือว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าของฝั่งรัสเซียที่ใช้อยู่ในสนามรบขณะนี้ เนื่องจากรถถังของชาติตะวันตกจะช่วยให้การรุกคืบของกำลังพลทำได้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น
ตอนนี้รถถังที่ยูเครนใช้เป็นรุ่นเก่า เช่น รถถังโซเวียตรุ่น T-64 ทหารยูเครนที่ใช้รถถังรุ่นนี้ในแนวหน้าที่แคว้นโดเนตสก์อธิบายว่า รถถังรุ่นนี้มีข้อจำกัดเยอะมาก เช่นต้องใช้เวลาถึง 20 นาทีในการวอร์มเครื่อง การไม่มีระบบ GPS ทำให้การเคลื่อนกำลังและโจมตีศัตรูไม่มีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญโมเดลของรถถังนี้ถูกออกแบบให้ทหารนั่งบนกระสุนปืนใหญ่ หากรถถังถูกโจมตีพลขับแทบไม่มีโอกาสรอดเลย
นั่นหมายความว่า หากรถถังซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์หลักในสนามรบที่สู้กันในระยะประชิด ยังเป็นรุ่นเก่าอยู่ ยูเครนจะไม่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของยุทธศาสตร์สงครามได้เลย นี่จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องรถถัง Leopard 2 จากเยอรมนีลีโอพาร์ด 2 ผลิตโดยประเทศเยอรมนี เป็นรถถังหลักหรือ Main Tank ของกองทัพเยอรมัน
ถือเป็นหนึ่งในรถถังที่ดีที่สุดในโลก ด้วยน้ำหนักถึง 74 ตัน ตัวเกราะจึงมีความแข็งแรงทนทานสามารถป้องกันกำลังพลรถจากอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ รวมถึงกัมมันตรังสีจากนิวเคลียร์ ถึงแม้น้ำหนักมาก แต่เคลื่อนที่ได้เร็ว มีความคล่องตัวสูง เนื่องจากติดเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่รุ่น MTU MB 873 ของบริษัทผลิตรถชื่อดังอย่างปอร์เช่ (Porsche)
ส่วนในตัวรถถังเป็นระบบดิจิทัลควบคุมเพลิงอัตโนมัติ มีกล้องหักเหและจอมอนิเตอร์ทำให้การโจมตีมีความแม่นยำมาก
ตัวรถยังสามารถดำน้ำที่ลึก 1.2 เมตรได้โดยที่ไม่ต้องเตรียมการล่วงหน้า หากเตรียมการล่วงหน้าจะสามารถดำน้ำได้ถึง 4 เมตร
ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า ยูเครนจะสามารถเปลี่ยนทิศทางของสงครามได้หากมีรถถังเลพเพิร์ด 2 ในจำนวนที่เพียงพอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนรายหนึ่งออกมาระบุว่าอาจต้องใช้รถถังนี้มากถึง 300 คัน
ตอนนี้ประเทศยุโรปที่มีรถถัง Leopard 2 อยู่ในครอบครองมี 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ ฮังการี นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี โดยประเทศที่ครอบครองรถถังดังกล่าวไว้มากที่สุดคือ ตุรกีและเยอรมนี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 350 คัน
ตอนนี้หลายฝ่ายให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ารถถัง Leopard 2 จะกลายเป็นปัจจัยในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสนามรบได้ แต่ปัญหาหลักตอนนี้อยู่ที่เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ถือใบอนุญาตการส่งออก ไม่ยอมตัดสินใจเรื่องการอนุมัติการส่งรถถังดังกล่าว แม้ว่าจะถูกกดดันอย่างหนักจากพันธมิตร เช่นโปแลนด์ ประเทศบอลติก รวมถึงสหราชอาณาจักร
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ปรากฏตัวบนเวที World Economic Forum แต่ก็ยังไม่พูดชัดเจนว่าจะส่ง Leopard 2 ให้กับยูเครนหรือไม่ เขาพูดสั้น ๆ เพียงว่า จะสนับสนุนยูเครนต่อไปตราบเท่าที่ยูเครน แต่ไม่มีการเอ่ยถึงเรื่อง เลพเพิร์ด 2 แม้แต่น้อย
นักวิเคราะห์ประเมินว่าสาเหตุที่เยอรมนีไม่ต้องการส่งรถถังรุ่นดังกล่าวไปยังยูเครนเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ ข้อแรก ไม่ต้องการถูกดึงเข้าไปร่วมสงคราม เนื่องจากเยอรมนียังคงมีบาดแผลในใจเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นผู้จุดชนวน
ข้อที่สอง เยอรมนีไม่ต้องการทำลายความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมา เยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียมาโดยตลอดในฐานะหุ้นส่วนด้านพลังงาน
ข้อที่สาม เยอรมนีไม่ต้องการให้เทคโนโลยีของรถถัง ที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกตกไปอยู่ในมือของฝั่งรัสเซีย เนื่องจากถ้ายูเครนจำเป็นต้องสละรถถังเพราะพ่ายแพ้รัสเซีย รัสเซียอาจใช้โอกาสนี้ในการศึกษาวิทยาการของเยอรมนีจากซากรถถังกล่าว
การที่เยอรมนีไม่ตัดสินใจ หมายความว่าประเทศอื่นๆที่มีรถถังรุ่นนี้อยู่และประกาศจะมอบให้ยูเครนก็ไม่สามารถทำได้ด้วย เนื่องจากติดข้อกฎหมายของเยอรมนีที่ระบุว่า การส่งออกยุทโธปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัทเยอรมนี ต้องได้รับการยินยอมจากทางการก่อน
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีรายงานว่า นายกฯ เยอรมนีระบุว่า ไม่ได้ปิดโอกาสในการส่งรถถัง แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้เยอรมนีส่งเลพเพิร์ด 2 ให้ยูเครน สหรัฐฯ ต้องทำแบบเดียวกันด้วย นี่คือเงื่อนไขที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะรถถังของทางฝั่งสหรัฐฯ ที่เทียบเคียงกับ Leopard 2 คือ เอ็มวัน เอบรามส์ (M1 Abrams) รถถังที่เว็บไซต์ด้านอาวุธหลายเว็บไซต์ยกให้เป็นรถถังที่ดีที่สุดในโลก
แม้ว่า เอ็มวัน เอบรามส์จะเป็นรถถังที่ดีสุดที่สุดในโลก แต่นักวิเคราะห์มองว่ารถถังนี้ไม่เหมาะกับสงครามและทางสหรัฐฯ จะไม่ส่งให้ยูเครนด้วยเหตุผลทั้งทางด้านเทคนิคและการขนส่ง มากกว่าที่จะกลัวว่าเป็นการยกระดับความขัดแย้ง
ในด้านเทคนิค เอ็มวัน เอบรามส์ เป็นยานยนต์ที่ต้องใช้น้ำมันสำหรับเครื่องบิน ที่มีราคาแพงมากเพื่อเดินเครื่อง ซึ่งต่างจากรถถังรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้น้ำมันดีเซล ตลอดจนซ่อมแซมยาก หากเกิดความเสียหายหรือต้องการการซ่อมบำรุง ซึ่งทางยูเครนไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ
ในด้านการขนส่ง เอ็มวัน เอบรามส์ เป็นรถถังที่มีความซับซ้อนและมีชิ้นส่วนหลักพันชิ้น ทำให้ต้องมีระบบโลจิสติกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลายชนิด เพื่อให้การส่งมอบและประกอบเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เงื่อนไขดังกล่าวของเยอรมนีถือเป็นเงื่อนไขที่สร้างความลำบากใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีการประกาศความช่วยเหลือชุดใหม่ให้แก่ยูเครนในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนชุด
ล่าสุด สหรัฐฯ ไม่ได้ตั้งใจจะส่งรถถัง เอ็มวัน เอบรามส์ ให้แก่ยูเครน แต่จะส่งยานเกราะต่อสู้แบรดลีย์ (Bradley) และสไตเกอร์ส (Strykers) ที่วิ่งได้อย่างรวดเร็วในสนามรบให้
ท่ามกลางความไม่ลงรอยกันในหมู่บรรดาชาติตะวันตก ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนระบุว่า ตอนนี้เวลาเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ยูเครนต้องได้ยุทโธปกรณ์ทางยุทธศาสตร์ก่อนที่ประธานาธิบดีปูติน จะเดินหมากตัวต่อไปเพื่อบีบให้ยูเครนยอมจำนน
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เข้าพบกับ บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนีคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 2 วัน
โดยการพบกันของทั้งสองรัฐมนตรี มีขึ้นก่อนการประชุมกลุ่มชาติพันธมิตรยูเครนในวันพรุ่งนี้ ซึ่งวาระหลักของการประชุมคาดว่าจะอยู่ที่เรื่องของการอนุญาตส่งมอบรถถังเลพเพิร์ด 2 ที่มีเยอรมนีเป็นผู้ตัดสินใจ
วันนี้เราต้องติดตามความคืบหน้าเรื่องการส่งอาวุธอย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้มีประชุมรอบแรก ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักรและรัฐบอลติกที่เอสโตเนียและที่ฐานทัพอากาศแรมสไตน์ในเยอรมนี เพื่อเตรียมกดดันเยอรมนีให้อนุมัติการส่งมอบรถถัง Leopard 2 ให้แก่ยูเครนในวันพรุ่งนี้