แต่ละปี องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาและเฝ้าระวังการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก จะทำการอัปเดต “บัญชีแดง (Red List)” ซึ่งเป็นการจัดประเภทว่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดอยู่ในสถานะไหน ใกล้สูญพันธุ์ หรือพบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติ
ที่ IUCN ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ สิ่งมีชีวิตในกลุ่ม “สายพันธุ์ถูกคุกคาม” ซึ่งหมายถึงสปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ (Critically Endangered) ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable)
“มลภาวะทางแสง” ทำให้คนบนโลกมองเห็นดาวบนฟ้าได้น้อยลงเรื่อย ๆ
เปลี่ยนหนูแก่เป็นหนูหนุ่ม! “ความชรา” เป็นสิ่งที่สามารถ “ย้อนกลับ” ได้?
"กบหมอกภูเขา" สูญพันธุ์แล้ว! ตอกย้ำปัญหาการอนุรักษ์ของออสเตรเลีย
การอัปเดตบัญชีแดงครั้งล่าสุดของ IUCN ได้ทำการประเมินสิ่งมีชีวิตกว่า 150,000 สปีชีส์ทั่วโลก และพบว่า เมื่อพิจารณาสิ่งมีชีวิตในทุกอาณาจักร (สัตว์ พืช ฟังไจ และโครมิสตา) มีสิ่งมีชีวิตที่เข้าข่ายถูกคุกคามอยู่ทั้งสิ้นกว่า 42,000 สปีชีส์ ที่มากสุดคือสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรพืช
การที่มีถึง 42,000 สปีชีส์ถูกคุกคามหมายความว่า 28% หรือ 1 ใน 4 ของสิ่งมีชีวิตบนโลกขณะนี้ กำลังอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2007-2022 สปีชีส์สัตว์ที่ถูกจัดให้อยู่ในสถานะถูกคุกคามนั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า!
โดยเมื่อปี 2007 มีสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์อยู่ในสถานะถูกคุกคามราว 7,800 สปีชีส์เท่านั้น แต่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นมาเป็น 16,900 สปีชีส์
เมื่อพูดถึงสัตว์ที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ เรามักนึกถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างลิงอุรังอุตัง ชิมแปนซี วาฬสเปิร์ม ชีตาห์ หรือโลมาหลังค่อม แต่ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกคุกคามไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่ากับสัตว์ประเภทอื่น
ระหว่างปี 2007-2022 สายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกคุกคามเพิ่มขึ้นเพียง 22% ขณะที่สายพันธุ์สัตว์กลุ่มหอย (จำพวกหอยทาก ทาก หอยแมลงภู่ ปลาหมึก และหนอน) ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น 145% ตามมาด้วยสายพันธุ์ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 196%
แต่กลุ่มที่ถูกคุกคามมากเป็นพิเศษคือ แมลง ถูกคุกคามเพิ่มขึ้น 276% และกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ถูกคุกคามเพิ่มขึ้นมากถึง 336%
สาเหตุของการที่แมลงและปลาถูกคุกคามนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากอะไรบ้าง ทั้งการรุกพื้นที่ป่า การจับปลา มลภาวะต่าง ๆ แต่ในส่วนของหอยและสัตว์เลื้อยคลานนั้นไม่ค่อยมีใครเขียนเกี่ยวกับต้นเหตุภัยคุกคามต่อพวกมันมากนัก
จากข้อมูลของ IUCN สัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ป่าฝน ดังนั้นจึงถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่าเช่นเดียวกับสัตว์พวกแมลง นอกจากนี้ สปีชีส์สัตว์เลื้อยคลานยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย ทำให้พวกมันได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในขณะที่หอยใกล้สูญพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บนบกและในน้ำจืด พวกมันถูกคุกคามจากการทำลายที่อยู่อาศัยหรือถูกขับไล่ออกจากถิ่นที่อยู่เดิมไปโดยสายพันธุ์ผู้รุกรานที่อาจมีคนนำมาปล่อย หรืออาจถูกผลักดันมาจากการขาดอาหารอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน
สัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์มีความวิตกกังวลเป็นพิเศษ คือหอยหลายสายพันธุ์ในกลุ่มหอยเป๋าฮื้อ (Abalone) และปะการังเสา (Pillar Coral; Dendrogyra cylindrus)
หอยเป๋าฮื้อหลายสายพันธุ์เป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่มีการซื้อขายกันแพงที่สุดในโลก นำไปสู่การล่าและรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย ประกอบกับผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และมลพิษ ทำให้ปัจจุบัน จากหอยเป๋าฮื้อทั้งหมดที่มีบนโลก 54 สายพันธุ์ มีถึง 20 สายพันธุ์ที่ขณะนี้กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
ขณะที่ปะการังเสานั้น เป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วทะเลแคริบเบียน ตั้งแต่คาบสมุทรยูคาทานและฟลอริดาไปจนถึงตรินิแดดและโตเบโก เดิมมีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่ล่าสุด IUCN ได้ยกระดับสถานะไป 2 ขั้น เป็นสปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ หลังจากจำนวนประชากรลดลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงปี 1990
ภัยคุกคามหลักของปะการังเสาคือโรคระบาดที่มีชื่อว่า Stony Coral Tissue Loss Disease ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาและเป็นโรคที่อัตราการระบาดสูง สามารถแพร่เชื้อไปยังแนวปะการังได้ 90-100 เมตรต่อวัน ประกอบกับการฟอกขาวที่เกิดจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นเพราะโลกร้อนและการทิ้งยาปฏิชีวนะ ปุ๋ย และสิ่งปฏิกูลลงทะเลมากเกินไป ทำให้ปะการังอ่อนแอลงและทำให้พวกมันอ่อนแอต่อโรค
เรียบเรียงจาก IUCN
ภาพจาก AFP