หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่อยู่ในระดับติดลบ ขณะที่สัดส่วนจำนวนประชากรกลุ่มสูงอายุที่มากขึ้น ทำให้จีนกังวลว่า จะเกิดผลกระทบระยะยาวต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
การตกต่ำทางประชากรส่วนใหญ่ของจีนเกิดจากนโยบายลูกคนเดียวที่มีผลบังคับใช้ระหว่างปี 1980 ถึง 2015 ที่ผ่านมา
ชาวจีนลังเลมีลูกเพิ่ม แม้ประชากรลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี
จีน "เกิดน้อยกว่าตาย" ประชากรลดครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี
จีน เผย ช่วงพีคโควิด - 19 ติดเชื้อ วันเดียว 7 ล้านคน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางการจีนจำเป็นจะต้องหาทางกระตุ้นให้ประชากรจีนมีบุตรมากขึ้น โดยที่ผ่านมา จีนอนุญาตให้คู่สามีภรรยาสามารถมีบุตรได้ถึง 3 คน รวมถึงออกมาตรการลดหย่อนภาษีและการดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สำเร็จ
ล่าสุด มีอีกหนึ่งความพยายามจากคณะกรรมาธิการสุขภาพมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเตรียมอนุญาตให้บุคคลที่ยังไม่ได้แต่งงาน สามารถสร้างครอบครัว มีบุตร และรับสิทธิประโยชน์ที่เคยสงวนไว้เฉพาะสำหรับคู่สมรสได้
ตลอดมานี้ รัฐบาลจีนกำหนดให้เฉพาะผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้คลอดลูกได้ แต่ด้วยอัตราการแต่งงานและการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานระดับท้องถิ่นจึงปรับปรุงกฎหมายใหม่ในปี 2019 เพื่อให้ครอบคลุมคนโสดที่ต้องการมีบุตร
โดยตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. นี้เป็นต้นไป บุคคลใดก็ตาม ทั้งที่แต่งงานแล้วหรือยังไม่แต่งงาน ซึ่งต้องการมีบุตร จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนขอมีบุตรกับรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลเสฉวนได้ โดยเบื้องต้นยังไม่มีการกำหนดชัดเจนว่า พวกเขาสามารถมีบุตรได้กี่คน
คณะกรรมาธิการสุขภาพมณฑลเสฉวนแถลงว่า มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “ส่งเสริมการพัฒนาประชากรในระยะยาวและสมดุล”
จนถึงขณะนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้อนุญาตให้เฉพาะคู่แต่งงานที่ต้องการมีลูกไม่เกิน 2 คนเท่านั้นที่จดทะเบียนกับหน่วยงานท้องถิ่นได้ โดยการลงทะเบียนจะทำให้คู่รักเข้าถึงประกันการคลอดบุตรที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล รวมถึงมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วยังคงได้รับเงินเดือนระหว่างลาคลอด
ภายใต้กฎหมายใหม่ สิทธิประโยชน์เหล่านี้จะขยายไปถึงคู่รักที่ยังไม่แต่งงานในมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นมณฑลที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ และมีประชากรสูงอายุมากเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก AFP