เปิดเหตุผลพันธมิตรปฏิเสธส่ง"เครื่องบินรบ"ช่วยยูเครน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

การส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เยอรมนีมีการตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการยอมมอบรถถังประจัญบานรุ่นเลพเพิร์ด 2 ให้กับยูเครน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี

ด้านสหรัฐฯก็ตัดสินใจส่งรถถังเอ็มวัน เอบรามส์ให้ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนท่าทีที่สำคัญเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านั้นยืนยันมาตลอดว่าจะไม่มีการส่งยุทโธปกรณ์หนักให้แก่ยูเครน

หลังจากได้รถถังประจัญบานแล้วยูเครนเดินหน้าขอเครื่องบินขับไล่สมัยใหม่ โดยระบุว่าเพื่อสกัดไม่ให้รัสเซียโจมตีทางอากาศ

หลังร้องขอ ผู้นำเยอรมนีและสหรัฐฯ ออกมาพูดตรงกันว่า ไม่สามารถให้เครื่องบินรบได้ เนื่องจากจะทำให้สงครามลุกลามบานปลายออกไป และการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์หนักให้กับยูเครน กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงแม้แต่ในหมู่สมาชิกสหภาพยุโรป

สหรัฐฯจ่อทุ่มงบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ให้ยูเครน ส่งรถหุ้มเกราะ Stryker ช่วยรบ

ไรฮ์นเมทัลล์ เผย สามารถส่ง“รถถัง Leopard” ให้ยูเครนได้ถึง 139 คัน

เมื่อคืนที่ผ่านมา (30 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวได้สอบถามประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ว่า ทางรัฐบาลจะส่งเครื่องบินขับไล่โดยเฉพาะรุ่น F-16 ให้แก่ยูเครนหรือไม่ หลังจากที่ยูเครนยื่นคำร้องดังกล่าวมา

นี่คือคำตอบของประธานาธิบดีไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ตอบชัดๆ แบบไม่ลังเลว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งเครื่องบินรบ F-16 ให้กับยูเครน

การออกมาขอเครื่องบินรบของยูเครนเกิดขึ้นหลังจากเยอรมนีและสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งรถถังประจันบานหรือรถถังหลักของกองทัพทั้ง 2 ชาตินั่นคือ เลพเพิร์ด 2 และเอ็มวัน เอบรามส์ ให้กับยูเครนเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

รถถังคือยุทโธปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการทำสงครามครั้งนี้ เนื่องจากเป็นสงครามที่ต่อสู้กันแบบระยะประชิดในพื้นที่เปิดโล่ง หรือ Close Combat การมีรถถังที่มีปืนใหญ่ที่แม่นยำและทรงพลังจะทำให้ศัตรูฝ่าแนวรับเข้ามาได้ยาก

ส่วนถ้าจะรุกคืบก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพราะรถถังเหล่านี้มีเกราะที่แข็งแกร่งสามารถป้องกันกำลังพลได้จากทั้งอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรือกัมมันตรังสีจากระเบิดนิวเคลียร์

หลายฝ่ายคาดว่าเมื่อยูเครนได้รับรถถังสมัยใหม่ที่คาดว่าจะมีถึง 300 คันจากพันธมิตรแล้ว จะทำให้ยูเครนพลิกเกมสงครามหรือแม้แต่เอาชนะรัสเซียได้

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเซเลนสกี ผู้นำยูเครนออกมาระบุหลังจากนั้นว่า ยูเครนต้องการยุทโธปกรณ์อีกหลายตัวเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น โดยมีการพูดถึงขีปนาวุธระยะไกลและเครื่องบินรบสมัยใหม่อย่างเช่น F-16

โดยเมื่อ 2 วันก่อน แอนดรีฟ เมลนิค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศยูเครนออกมาขอร้องให้มีการจัดตั้ง “พันธมิตรเครื่องบินขับไล่” เพื่อใช้เป็นตัวกลางในการระดมเครื่องบินรบไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินรบ F-16 และ F-35 ของสหรัฐฯ รวมถึง ทอร์นาโด ซึ่งเป็นเครื่องบินรบของชาติยุโรป

หลังจากคำขอนี้ออกมา นอกจากผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดนจะออกมาตอบว่าไม่สามารถให้ได้แล้ว ก่อนหน้านั้นก็มีคำตอบลักษณะเดียวกันออกมาจากผู้นำเยอรมนี นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์

ผู้นำเยอรมนีซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนบราซิลได้ระบุว่า ตอนนี้มีกระแสถกเถียงเรื่องการส่งเครื่องบินขับไล่ไปให้ยูเครน และเขาอยากให้มีความระมัดระวังในการพูดเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้โลกไปถึงจุดที่เรียกว่า “สงครามประมูลอาวุธ” และถ้าพิจาณาจากสถานการณ์ทั้งหมด ยังไม่มีความเป็นไปได้ที่จะต้องส่งเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเยอรมนียังระบุเพิ่มเติมว่า หากจำกันได้ สิ่งที่ชาติพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงมาตลอดคือ การเผชิญหน้าทางอากาศ และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ชาติตะวันตกตัดสินใจไม่ประกาศ No Fly Zone หรือเขตห้ามบิน ตามยูเครนเรียกร้องมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของสงคราม

ทำไมยูเครนจึงต้องการเครื่องบินรบ และทำไมการส่งเครื่องบินรบจึงเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าการส่งรถถัง คำตอบคือ ยูเครนต้องการเครื่องบินรบเพื่อใช้ป้องกันการถูกโจมตีทางอากาศ

ตั้งแต่ช่วงต้นของสงครามม ยูเครนขอเครื่องบินรบจากพันธมิตรมาตลอด โดยสหรัฐฯและพันธมิตรเกือบตัดสินใจส่งเครื่องบินรุ่นที่ผลิตในสมัยสหภาพโซเวียตอย่าง มิโคยาน มิก-29 (MiG-29) ให้ยูเครน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เปลี่ยนใจไม่ส่งเครื่องบินรุ่นดังกล่าวให้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดสงครามทางอากาศ

การให้สัมภาษณ์ของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปีที่แล้ว หรือประมาณ 2 สัปดาห์ หลังรัสเซียรุกรานยูเครนใหม่ๆ

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างเยือนประเทศมอลโดวา โดยบลิงเคนระบุว่าสหรัฐฯ กำลังหารือกับพันธมิตรในการช่วยเหลือยูเครนเรื่องการป้องกันภัยจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซียให้มากขึ้น ด้วยการส่งเครื่องบินรบให้กับยูเครนโดยให้โปแลนด์จัดหาให้ ในคราวนั้นต้องให้โปแลนด์เป็นตัวกลางด้วย 2 เหตุผล

เหตุผลแรกคือโปแลนด์เป็นสมาชิกนาโต

เหตุผลที่สอง คือ โปแลนด์มีเครื่องบินขับไล่แบบ MIG-29 ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบเดียวกับที่ยูเครนใช้ ทำให้นักบินยูเครนสามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการฝึกฝน นี่คึอเครื่องบินกองทัพอากาศยูเครนถนัดที่สุดเมื่อเทียบกับเจ็ทรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่วันหลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ออกมาประกาศว่า ต้องระงับแผนดังกล่าว เพราะเกรงว่านาโตจะถูกดึงเข้าสู่สงครามโดยตรงกับรัสเซีย

นอกจากจะไม่ให้เครื่องบินรบแล้ว สหรัฐฯ และนาโตยังปฏิเสธคำขอของยูเครนที่ให้มีการประกาศเขตห้ามบินหรือ No Fly Zone เหนือน่านฟ้ายูเครนด้วย

เขตห้ามบิน (no-fly zone) หมายถึงบริเวณน่านฟ้าที่มีข้อกำหนดว่าห้ามอากาศยานบางชนิดบินผ่านเพื่อปกป้องพื้นที่ที่มีความเปราะบาง

หากนาโตประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน หมายความว่า กองกำลังทางทหารของนาโตจะเข้ามาดูแลและจัดการโดยตรงกับเครื่องบินรัสเซียที่ล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้ายูเครนและยิงเครื่องบินเหล่านี้ได้ตามความจำเป็น

การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการเปิดฉากสงครามทางอากาศอย่างเป็นทางการระหว่างนาโตกับรัสเซีย ซึ่งนาโตหลีกเลี่ยงและไม่อยากให้เกิดขึ้นมาตลอด

สาเหตุที่ทำให้นาโตหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางอากาศ เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลรุนแรงมากกว่าสงครามภาคพื้นดิน เนื่องจากการต่อสู้จะไม่จำกัดบริเวณและความเสียหายเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่กับทหารในสนามรบ แต่รวมถึงชีวิตพลเรือนด้วย

นี่ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรรวมถึงนาโต ยืนยันอย่างชัดเจนมาตลอดว่าจะไม่ส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนเด็ดขาด

ประเด็นเรื่องการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่า ควรส่งอะไรหรือมากขนาดไหน เพื่อไม่ให้สงครามครั้งนี้ลุกลามบานปลาย ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ยูเครนสามารถป้องกันตนเองจากการถูกรุกรานของรัสเซียได้

ข้อถกเถียงเหล่านี้เกิดขึ้นแม้แต่ในประเทศสหภาพยุโรปด้วยกันเอง โดยเฉพาะประเด็นการส่งรถถัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกือบทุกชาติให้ความเห็นว่าเหมาะสมแล้ว

โดยผู้ที่ออกมาพูดเรื่องนี้คือ โซราน มิลาโนวิก ประธานาธิบดีโครเอเชีย เขาได้วิจารณ์การตัดสินใจส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ของรัฐบาลเยอรมนีว่า เยอรมนียอมให้ตนเองโดนเหยียบย่ำ และคนเยอรมนีจำนวนไม่น้อยก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการส่งรถถังเลพเพิร์ด 2

ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้เยอรมนีโชคดีกับการตัดสินใจส่งรถถังไปต่อต้านรัสเซีย

นอกจากประเด็นเรื่องการส่งรถถังแล้ว ผู้นำโครเอเชียยังได้พูดถึงคาบสมุทรไครเมียของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปตั้งแต่ปี 2014 ด้วย

โดยเขาระบุว่า คาบสมุทรไครเมียไม่มีทางกลับมาเป็นของยูเครนแล้ว แม้ว่าการกระทำดังกล่าวของรัสเซียจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

โซราน มิลาโนวิก เป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายแบบเสรีนิยมที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโครเอเชียในปี 2019 โดยจุดยืนของเขาขัดแย้งกับกลุ่มรัฐบาลอนุรักษ์นิยมที่ครองเสียงข้างมากในสภายุโรปและนาโตในเวลานี้

เนื่องจากโซรานเป็นผู้นำสายโปรรัสเซีย ทำให้เขาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซียและประเทศในคาบสมุทรบอลข่านมาโดยตลอด

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐสภาของโครเอเชียได้ปัดตกร่างความช่วยเหลือของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ยูเครน

หลายฝ่ายมองว่า นี่คือรอยร้าวและการต่อต้านของผู้นำโครเอเชียที่มีกับชาติอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นท่าทีแบบเดียวกับรัฐบาลฮังการีและเซอร์เบีย

แม้ว่าจะเกิดการถกเถียงและวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นการส่งอาวุธ แต่ชาติพันธมิตรตะวันตกและนาโตยังคงเดินหน้าและเตรียมแผนการช่วยเหลือยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานว่าสหรัฐฯ ได้ส่งรถแบรดลีย์ให้ยูเครนแล้ว

ขณะที่ทั้งผู้แทนสหรัฐฯ และนาโต ได้เดินทางไปเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อแสวงหาพันธมิตรช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติม

ภาพรถยานเกราะแบรดลีย์จำนวน 60 คัน ที่กำลังถูกเคลื่อนย้ายไปยังเรือในเมืองนอร์ธชาร์ลตัน รัฐเซาท์แคโรไรนาของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของชุดความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้ยูเครนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

ยานยนต์หุ้มเกราะแบรดลีย์ เป็นยานพาหนะที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ขนกำลังพลและอุปกรณ์ไปยังพื้นที่แนวรบ เคลื่อนที่ด้วยตีนตะขาบ สามารถติดอาวุธขนาดกลางและบรรทุกทหารได้ 3-6นายต่อคัน นอกจากนี้ แบรดลีย์ยังสามารถติดตั้งปืนกลขนาดลำกล้อง 25 มม.ได้บริเวณด้านบน

และมีฐานยิงขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูในพื้นที่โล่ง  การได้รถยานเกราะแบรดลีย์  จะช่วยให้ยูเครนเพิ่มความได้เปรียบในสนามรบยิ่งขึ้น

ด้านเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต หลังจากเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้เมื่อวานนี้ และพูดอย่างตรงไปตรงมาขอให้เกาหลีใต้ช่วยส่งอาวุธให้แก่ยูเครนโดยตรง

วันนี้ เลขาฯ นาโต ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น และขอร้องให้ญี่ปุ่นสนับสนุนยูเครนต่อไป ก่อนที่จะย้ำแบบเดียวกันกับที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ของฝรั่งเศสว่า ประเด็นความมั่นคงไม่ใช่เรื่องในภูมิภาค แต่เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด หากรัสเซียชนะ เผด็จการทั่วทุกมุมโลกจะรู้ว่าการใช้กำลังสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้

ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ได้เดินทางไปเยือนเกาหลีใต้และหารือร่วมกับอี จง-ซ็อบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้เกี่ยวกับประเด็นภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังคาดการณ์ว่าทั้งสองอาจมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความช่วยเหลือยูเครนด้วย

 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ