นักวิทย์เล็งคืนชีพ “นกโดโด” ผสมจีโนมเข้ากับนกพิราบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บริษัท Colossal Biosciences ประกาศแผนคืนชีพ “นกโดโด” ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วเกือบ 400 ปี

นกโดโด (Raphus cucullatus)” เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เดิมมีถิ่นที่อยู่ในมอริเชียส ประเทศที่เป็นเกาะนอกชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมาดากัสการ์

มีหลักฐานการพบเห็นนกโดโดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1662 สาเหตุหลักของการสูญพันธุ์คือการเข้ามาของชาวดัตช์ในช่วงปี 1600 ซึ่งได้เข้ามาตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ และการทำลายวิถีชีวิตของโดโดด้วยการนำสัตว์อื่นเข้ามาที่เกาะ

16 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์สัตว์บนโลกที่ถูกคุกคาม เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า!

นักวิจัยออสเตรเลีย-สหรัฐฯ เล็งคืนชีพ "เสือแทสเมเนีย" สูญพันธุ์

นักวิทย์เล็งคืนชีพ “แมมมอธ” เริ่มสร้างลูกผสมช้างเอเชีย-แมมมอธ

ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์มีแผนที่จะนำสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปเกือบ 400 ปีกลับมา ด้วยการแก้ไขยีน โดยนำจีโนมของนกโดโดประกอบกลับเข้าไปในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดทางสายวิวัฒนาการกับโดโด ซึ่งตามการจัดลำดับจีโนมแล้ว สัตว์ที่มีความใกล้เคียงกับนกโดโดมากที่สุดคือ “นกพิราบ”

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่จะทำการปลุกชีพนกโดโดกลับมานี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือบริษัท Colossal Biosciences ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศแผนคืนชีพให้กับแมมมอธขนดก (Mammuthus primigenius) และเสือแทสเมเนีย (Thylacinus cynocephalus) ด้วยวิธีลักษณะคล้ายกัน

การทดลองครั้งนี้ซึ่งเกี่ยวพันกับนก ทำให้ Colossal Biosciences สามารถหลีกเลี่ยงประเด็นเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทดลองในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ เนื่องจากเทคนิคนี้ต้องใช้การฝังชิ้นส่วนพันธุกรรมที่ตัดต่อยีนเข้าไปในระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ที่มีความใกล้ชิด

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของแมมมอธ ก็ต้องมีการสร้างตัวอ่อนในช้าง ซึ่งในทางปฏิบัติอาจต้องทำให้มีการตั้งครรภ์หลายครั้งในช้าง เพื่อสร้างลูกผสมแมมมอธ-ช้างที่มีชีวิต

ขณะที่ในกรณีของการคืนชีพนกโดโดนี้ นักวิทยาศาสตร์จะทำงานกับไข่นกพิราบ และใช้สารพันธุกรรมจากนกพิราบที่ดัดแปลงยีนให้มีคุณลักษณะของนกโดโด รวมถึงคุณลักษณะการเป็นนกที่บินไม่ได้ด้วย

แต่วิธีการนี้ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายในเชิงเทคนิค เนื่องจากยังไม่มีใครสามารถใช้การตัดต่อยีนนกด้วยวิธีนี้ได้มาก่อน

เบ็ธ ชาปิโร หัวหน้านักบรรพชีวินวิทยาของ Colossal บอกว่า เธอหลงใหลในนกโดโดมานานกว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่เรียนปริญญาที่อ็อกซ์ฟอร์ดในปี 1999 ซึ่งเธอเห็นนกโดโดที่ถูกสตัฟฟ์ไว้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และพยายามเกลี้ยกล่อมพิพิธภัณฑ์ให้ยอมให้เธอสกัดดีเอ็นเอของมันมาศึกษา

เธอกล่าวว่า บนโลกมีนกโดโดที่ถูกสตัฟฟ์ไว้หลายร้อยตัว ซึ่งหมายความว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะจัดลำดับจีโนมของนกที่ตายแล้วออกมา อย่างไรก็ตาม ชาปิโรเตือนว่า นกโดโดที่ฟื้นขึ้นมาจากวิธีการนี้ ไม่สามารถทดแทนนกโดโดที่สูญพันธุ์ไปได้อย่างแน่นอน

“สิ่งที่เรากำลังพยายามทำคือการแยกยีนของโดโดออกมา ... มันคงบ้าไปแล้วหากคิดว่าวิธีแก้ปัญหาสำหรับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพของโลกคือการนำตัวแทนของมันกลับมา” เธอบอก

ด้าน เบน แลมม์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Colossal กล่าวว่า บริษัทกำลังระดมทุนอีก 150 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.9 พันล้านบาท) เพื่อดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับนกโดโด

เขากล่าวว่า นกโดโดเวอร์ชันที่สร้างขึ้นใหม่นี้ อาจถูกนำไปไว้ในมอริเชียส ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของพวกมัน “สถานที่ที่เราจะนำโดโดกลับสู่ธรรมชาติคือมอริเชียส”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า จากเรื่องนี้ เราควรจะช่วยกันอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติให้ดี เพื่อที่ในอนาคตจะได้ไม่ต้องมาหาทางคืนชีพพวกมันกลับสู่ธรรมชาติ

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

ภาพจาก Colossal Biosciences

คอนเทนต์แนะนำ
ตรวจหวย - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ลอตเตอรี่ 1/2/66
ตรวจสลากออมสินพิเศษ 2 ปี และสลากออมสินพิเศษดิจิทัล 2 ปี งวดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566
อย่าลืมเช็ก! เงินชาวนาเข้าแล้ว กว่า 24 ล้านบาท 4,958 ครัวเรือน

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ