แต่สิ่งที่ "ยูเครน" ขาดและถือเป็นจุดอ่อนในสงครามครั้งนี้คือ การรบทางอากาศ เนื่องจากขาดทั้งเครื่องบินรบรุ่นใหม่ที่ใช้ในการสกัดเครื่องบินรัสเซียและระบบป้องกันภัยทางอากาศเพื่อป้องกันพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานจากการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ
ล่าสุด มีสัญญาณความเป็นไปได้ว่า "อิสราเอล" อาจเป็นผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาปิดจุดอ่อนดังกล่าวของยูเครน
สหรัฐฯจ่อทุ่มงบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ให้ยูเครน ส่งรถหุ้มเกราะ Stryker ช่วยรบ
โดรนโจมตีโรงงานผลิตกระสุนในอิหร่าน หวังสร้างความไม่มั่นคงภายใน
สำนักข่าวเดอะเทเลกราฟของสหราชอาณาจักร รายงานว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเปิดเผยว่า กำลังพิจารณาเรื่องการส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้แก่ยูเครน และกำลังพิจารณาเรื่องการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งให้ทั้งสองฝ่ายในเวลาที่ “เหมาะสม”
โดยยุทโธปกรณ์ที่คาดว่าอิสราเอลจะส่งให้ยูเครนคือ ระบบไอรอนโดม ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลที่มีประสิทธิภาพสูงตัวหนึ่งของโลก
สาเหตุที่มีการคาดการณ์ออกมาเช่นนี้ เกิดจาการที่นักข่าวของสำนักข่าว CNN ได้ถามผู้นำอิสราเอลว่าจะสามารถส่งระบบไอรอนโดมให้แก่ยูเครนได้หรือไม่ และนายกฯ เนทันยาฮู ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่” รัสเซียเมินอิสราเอลส่งอาวุธช่วยยูเครน ระบุพร้อมทำลายทิ้ง
หลังจากที่มีข่าวเช่นนี้ออกมา เมื่อวานนี้มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ออกมาตอบโต้ทันที โดยระบุว่ารัสเซียจะทำลายอาวุธที่ถูกส่งมายังยูเครนทิ้งทั้งหมด โดยไม่พิจารณาว่าเป็นอาวุธของประเทศใด
หลายฝ่ายมองว่านี่คือการเปลี่ยนท่าทีครั้งสำคัญของอิสราเอล เพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน อิสราเอลพยายามวางตัวเป็นกลางมาตลอด เพราะความสัมพันธ์ของอิสราเอลต่อชาติทั้ง 2 นี้มีความซับซ้อนมาก และไม่สามารถเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้อย่างออกหน้าออกตา
สำหรับยูเครน อิสราเอลต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้เพราะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอิสราเอลคือผู้สนับสนุนหลักของยูเครน
นั่นทำให้ตั้งแต่เกิดสงคราม อิสราเอลส่งความช่วยเหลือให้ยูเครน แต่ความช่วยเหลือที่อิสราเอลให้กับยูเครนเป็นไปอย่างระมัดระวังและจำกัด
โดยอิสราเอลส่งเพียงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และปฏิเสธการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้ยูเครน เพราะไม่ต้องการขัดแย้งกับรัสเซีย
ส่วนหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อิสราเอลเกรงใจรัสเซีย เป็นเพราะรัสเซียคือผู้สนับสนุนหลักของประธานาธิบดีอัล อัสซาด ผู้นำซีเรียในการทำสงครามกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ระเบิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์อาหรับสปริงในช่วงทศวรรษ 2010
โดยรัสเซียได้เข้าไปช่วยประธานาธิบดีอัลอัสซาดในปี 2015 ด้วยการสนับสนุนทางอากาศถล่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจนราบคาบ
นอกจากรัสเซียแล้ว อีกตัวช่วยที่สำคัญของผู้นำซีเรียในการทำสงครามครั้งนี้ คือกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ องค์กรทางการเมืองและการทหารของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเลบานอน
ฮิซบอลเลาะห์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1982 เพื่อตอบโต้การรุกรานของอิสราเอลทางตอนใต้ของเลบานอน โดยในช่วงก่อตั้ง อิหร่านได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านอุดมการณ์ การฝึกซ้อมรบและอาวุธ
กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ต่อสู้กับอิสราเอลอย่างหนักจนสามารถขับไล่ทหารอิสราเอลออกจากเลบานอนได้สำเร็จในปี 2000
ปัจจุบันทั้งคู่ยังคงเป็นศัตรูคู่แค้นกัน และนี่คือสิ่งที่อิสราเอลต้องระวัง หากบริหารความสัมพันธ์กับรัสเซียไม่ดี เพราะอาจทำให้เกิดสงครามบริเวณชายแดนเลบานอน-อิสราเอลอีกได้
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อิสราเอลพยายามวางตัวเป็นกลางมาตลอด นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศของอิสราเอลอาจมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากได้รัฐบาลใหม่เป็นพรรคปีกขวาอนุรักษ์นิยม
รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูมีท่าทีสนับสนุนยูเครนมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียเริ่มเพิ่มความใกล้ชิดกับอิหร่านศัตรูอันดับหนึ่งของอิสราเอล
เพราะรัสเซียต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์ของอิหร่านในการทำสงครามกับยูเครน เนื่องจากกำลังการผลิตอาวุธภายในประเทศไม่พอ
โดยยุทโธปกรณ์หลัก ๆ ที่รัสเซียซื้อจากอิหร่านคือ โดรนพลีชีพรุ่นชาเฮด-136 ซึ่งเป็นอาวุธที่รัสเซียใช้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนถี่ๆ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
การพึ่งพาอิหร่านมากขึ้นของรัสเซีย ทำให้อิสราเอลกังวลว่า ในอนาคตรัสเซียอาจปล่อยให้อิหร่านโจมตีอิสราเอลผ่านที่ราบสูงโกลันที่เป็นดินแดนของปาเลสไตน์ ความกังวลใจนี้มีมากขึ้นเมื่อมีรายงานว่า อิหร่านใกล้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จและความไม่ไว้ใจอิหร่านรวมถึงรัสเซียเป็นที่มาของการที่อิสราเอลเริ่มขยับมาทางยูเครนมากขึ้น
ดังนั้นนี่จึงเป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอลที่ระบุว่า อาจส่งระบบไอรอนโดม ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลที่มีประสิทธิภาพสูงตัวหนึ่งของโลกให้กับยูเครน การให้สัมภาษณ์ผู้นำอิสราเอลเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีโรงงานอาวุธของกองทัพอิหร่าน
นี่คือภาพขณะเกิดระเบิดที่โรงงานผลิตอาวุธของกองทัพอิหร่านที่ตั้งอยู่ในเมืองอิสฟาฮาน ทางตอนกลางของอิหร่านเมื่อกลางดึกของวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านระบุว่า โดรนที่ถูกส่งเข้ามามี 3 ลำ โดย 2 ใน 3 ลำถูกยิงสกัดไว้ได้ก่อนถึงเป้าหมาย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านยังว่า นี่คือการกระทำอันขี้ขลาดของศัตรู และการโจมตีแบบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน
หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ระบุว่า อิสราเอลอยู่เบื้องหลังการโจมตีโรงงานผลิตของอิหร่านในครั้งนี้
โดยจุดประสงค์คือ เพื่อสกัดความทะเยอทะยานของอิหร่านในการมีอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่ออิสราเอล