ผู้นำยูเครนกล่าวสุนทรพจน์ขออังกฤษหนุนเครื่องบินรบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สงครามในยูเครนดำเนินมาถึงวันที่ 351 แล้ว ประเด็นใหญ่ที่หลายฝ่ายติดตามคือการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อคืนที่ผ่านมาตามเวลาบ้านเรา

สาเหตุที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นเพราะการไปเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน โดยมีเป้าหมายหลักคือ เพื่อขอเครื่องบินรบไปสู้กับรัสเซีย

หลังจากเดินทางไปถึง ผู้นำยูเครนได้เข้าพบกับริชี สุนัค นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่บ้านพักหมายเลข 10 ถนนดาวน์นิงสตรีท ที่เป็นที่พักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเข้าไปหารือร่วมกัน

“เซเลนสกี” เยือนอังกฤษพบ“ริชี ซูนัค” ขยายแผนการฝึกให้ทหารยูเครน-จัดหาอาวุธเพิ่มเติม

“ปูติน” เคยให้คำมั่น จะไม่พยายามสังหาร “เซเลนสกี”

จากนั้น ผู้นำยูเครนก็ได้เดินทางไปยังโถงเวสต์มินสเตอร์ หรืออาคารรัฐสภาของสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีทั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

โดยไฮไลต์สำคัญของการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ อยู่ที่การที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีมอบหมวกของนักบินยูเครนให้แก่ เซอร์ ลินด์เซย์ ฮอยล์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะกล่าวขอร้องให้สหราชอาณาจักรอนุมัติเครื่องบินรบให้ยูเครน เพื่อใช้ปกป้องอิสรภาพ

นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณบุคคลต่าง ๆ เช่น บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรี  ริชี สุนัค นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รัฐสภาสหราชอาณาจักร รวมถึงประชาชนชาวอังกฤษ ที่สนับสนุนยูเครนตั้งแต่วันแรกที่รัสเซียเข้ารุกราน

ก่อนที่จะพูดยกตัวอย่างเปรียบเทียบความสำคัญของนักบินกับสงครามในยูเครน และขอบคุณสหราชอาณาจักรล่วงหน้าสำหรับเครื่องบินรบ

การเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรและการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักรของผู้นำยูเครนในครั้งนี้ สื่อหลายสำนักพาดหัวว่า เป็นการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำยูเครน

สาเหตุที่สื่อต่างชาติพาดหัวเช่นนั้นเป็นเพราะมีนัยยะหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในการไปเยือนครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จัดรับรอง ที่โถงเวสต์มินเตอร์ หรือเนื้อหาสุนทรพจน์ที่ผู้นำยูเครนกล่าวต่อชนชั้นนำของสหราชอาณาจักร

เริ่มที่สถานที่จัดงานอย่างโถงเวสต์มินสเตอร์ ที่นี่คืออาคารรัฐสภาของสหราชอาณาจักรมีอายุเก่าแก่กว่า 900 ปี เคยถูกใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของสหราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นพิธีบรมราชาภิเษก พิธีประดิษฐานศพและพระบรมศพบุคคลสำคัญของอังกฤษ เช่น วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกฯ ในปี 1965  หรือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ โถงเวสมินสเตอร์ยังเคยเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำบางประเทศด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในรอบเกือบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา หากไม่นับประมุขของสหราชอาณาจักร มีผู้นำจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพียง 6 คนเท่านั้น ที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ในโถงเวสต์มินสเตอร์ ต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักรจากทั้งสองสภา

โดยผู้นำทั้ง 6 คนได้แก่ อัลเบิร์ต ลูบรัง (Albert Lebrun) และชาร์ล เดอ โกล อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส, เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษและอดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้, สมเด็จพระสันตปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16, บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ, และนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาติชาติ เมียนมา

การกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวานนี้ ทำให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนกลายเป็นผู้นำคนที่ 7 ที่มีโอกาสได้กล่าวสุนทรพจน์ในห้องโถงแห่งนี้

หลายฝ่ายมองว่า นี่คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักร ว่าการมาเยือนของผู้นำยูเครน มีความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกับทั้ง 6 ผู้นำก่อนหน้า  นอกจากสถานที่แล้ว บทสุนทรพจน์ของผู้นำยูเครนก็สร้างประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน

แพทริก วินทัวร์ บรรณาธิการของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน ได้วิเคราะห์การเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรของผู้นำยูเครนครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการทำให้ชาติตะวันตกไม่ลืมยูเครน

นอกจากนี้ เขาได้ให้ความเห็นว่า ผู้นำยูเครนมีความสามารถในการดึงดูดจิตใจของผู้ฟัง ผ่านการย้ำเตือนสหราชอาณาจักรให้นึกถึงบทบาทและความยิ่งใหญ่ของตนเองในประวัติศาสตร์

ขณะที่ปีเตอร์ วอล์กเกอร์ นักข่าวการเมืองของเดอะการ์เดียนวิเคราะห์บทสุนทรพจน์ของผู้นำยูเครนว่าเป็นสุนทรพจน์ที่กินใจและระบุความต้องการของยูเครนอย่างตรงไปตรงมา

ตลอดจนมีการผูกเรื่องราวของยูเครนให้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์และความรู้สึกร่วม

ตลอดการปราศรัย ผู้นำยูเครนกล่าวถึงการเยือนลอนดอนครั้งแรกในฐานะผู้นำยูเครนเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 และอธิบายความรู้สึกของเขาผ่านการเปรียบเทียบกับความกล้าหาญของวินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษและอดีตนายกฯ สหราชอาณาจักรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องต่อสู้กับกองทัพนาซีเยอรมนี   นี่ทำให้สมาชิกรัฐสภาอังกฤษอาจเข้าใจถึงสิ่งที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ได้อย่างรวดเร็วและจะไม่ลืม เนื่องจากเรื่องเล่าทั้งสองคือเรื่องเล่าที่เหมือนกัน เพียงแค่เกิดต่างช่วงเวลาเท่านั้น

หลังจากนั้น ผู้นำยูเครนก็ได้เดินทางไปยังพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ของสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ ผู้นำยูเครนใส่เสื้อทหาร เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แทนที่จะเป็นชุดสูทสุภาพ

สำหรับเรื่องนี้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ผู้นำยูเครนต้องการเตือนตัวเองว่าสงครามในยูเครนยังคงดำเนินอยู่ ชาวยูเครนยังคงสู้ต่อไป แม้แต่ในตอนที่ตัวเขาเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์อยู่

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในรัฐสภาและพระราชวังบักกิงแฮมแล้ว ผู้นำยูเครนและผู้นำสหราชอาณาจักร ได้เดินทางต่อไปยังฐานฝึกทหารยูเครนในเมืองดอร์เซ็ต ทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อเยี่ยมทหารยูเครนที่มาเข้ารับการฝึกรบ

ก่อนที่ทั้งคู่จะออกมาแถลงข่าวร่วมกัน โดยนายกฯ สหราชอาณาจักรได้พูดถึงประเด็นการส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนว่า สหราชอาณาจักรยังไม่ตัดความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวออกไป และนี่เป็นสาเหตุที่สหราชอาณาจักรเริ่มฝึกนักบินยูเครนให้ใช้เครื่องบินมาตรฐานนาโต

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าการประกาศของผู้นำสหราชอาณาจักรเช่นนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปยังชาติสมาชิกนาโตให้ส่งมอบเครื่องบินรบให้แก่ยูเครน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่น F-16 หรือตระกูลกริพเพนที่ยูเครนต้องการ

สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะ สหราชอาณาจักรไม่มีเครื่องบินรบทั้งสองรุ่นนี้อยู่ในครอบครอง เนื่องจากเครื่องบินที่สหราชอาณาจักรใช้เป็นรุ่นไทฟูน (Typhoon) และ F-35 ซึ่งยากต่อการควบคุมเมื่อเทียบกับเครื่องบินตระกูล F-16 

เมื่อดูจากท่าทีของผู้นำสหราชอาณาจักร หลายฝ่ายประเมินว่าการเยือนของผู้นำยูเครนครั้งนี้ ค่อนข้างประสบความสำเร็จ และอาจทำให้ยูเครนได้เครื่องบินรบตามที่ต้องการ    อย่างไรก็ดี ผู้นำยูเครนยังคงเดินหน้าหาพันธมิตรเครื่องบินเพิ่มเติม ด้วยการเดินทางไปเยือนฝรั่งเศส

วันนี้ 9 ก.พ. ผู้นำยูเครนได้เดินทางไปเยือนฝรั่งเศสและเข้าพบกับเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งเป้าหมายหลักในการเจรจาครั้งนี้คือเรื่องการขอเครื่องบินรบ หลังจากการหารือเสร็จสิ้น ทั้งสามผู้นำได้ออกมาแถลงข่าวร่วมกัน โดยผู้นำยูเครนกล่าวว่า ฝรั่งเศสและเยอรมนีคือประเทศที่สามารถเปลี่ยนเกมได้ เพียงแค่ส่งเครื่องบินมาให้ยูเครน

อย่างไรก็ดี ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนียังไม่ได้ตอบรับคำขอเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

โดยผู้นำเยอรมนีระบุว่า จะให้ความช่วยเหลือยูเครนต่อไปตราบเท่าที่ยูเครนต้องการ และรัสเซียจะไม่มีทางชนะสงครามนี้

ด้านผู้นำฝรั่งเศสกล่าวว่า จะหารือเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารกับยูเครนในภายหลัง และยืนยันว่าฝรั่งเศสจะยังอยู่เคียงข้างยูเครนต่อไป

ล่าสุดช่วงเย็น ผู้นำยูเครนได้เดินทางต่อไปยังกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม เพื่อเข้าร่วมการประชุมของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีการอภิปรายหลักคือ เรื่องการให้ความช่วยเหลือยูเครน

โดยก่อนการประชุม โจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงเปิดเผยกับสื่อว่า สหภาพยุโรปจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครนเพิ่มเติมหลังจากนี้

หลังจากที่ผู้นำสหราชอาณาจักรออกมาส่งสัญญาณว่าอาจส่งเครื่องบินไปให้ยูเครน ทำให้รัสเซียออกมาโต้ตอบเรื่องนี้ทันที

ด้าน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หากชาติตะวันตกตัดสินใจส่งเครื่องบินรบให้ยูเครน จะทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายมากขึ้น และเครื่องบินไม่สามารถเปลี่ยนผลลัพธ์ในสนามรบได้

 

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ