หลังวานนี้ (4 เมษายน 2566) นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมายังศาลอาญาในเมืองนิวยอร์กเป็นครั้งแรก เพื่อพิจารณาคดีจ่ายเงินปิดปากดาราหนังผู้ใหญ่ ระหว่างนั้นได้ทำการแถลงข้อเท็จจริงด้วย
ในคำฟ้องจำนวนทั้งสิ้น 34 กระทง ได้กล่าวหาทรัมป์และบุคคลอื่นๆ ว่า ทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งด้วยวิธีการขัดขวางไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลด้านลบต่อตัวเองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016
โดยมีผู้หญิง 2 คนที่ได้รับเงินจากทรัมป์เพื่อปกปิดความสัมพันธ์ทางเพศ ได้แก่ สตอร์มี แดเนียลส์ ดาราหนังผู้ใหญ่และ คาเรน แม็กดูเกิล (karen mcdougal) อดีตนางแบบนิตยสารเพลย์บอย
เมื่อผู้พิพากษาถามว่าจะให้การอย่างไร ทรัมป์ยืนยันว่า ตัวเองไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา โดยศาลนิวยอร์กได้กำหนดไต่สวนรอบต่อไปในวันที่ 4 ธันวาคม 2566 และไม่มีคำสั่งห้ามฝ่ายใดในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทรัมป์ได้เดินทางกลับถึงรีสอร์ทส่วนตัว “มาอลาโก” ในรัฐหฟลอริดาเมื่อช่วงเวลาประมาณ 20.00 น.ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศสหรัฐฯ แล้ว และคาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการแถลงถึงคดีนี้ด้วย
ทรัมป์พร้อมขึ้นศาลนิวยอร์ก สู้คดีให้เงินปิดปากนักแสดงหนังผู้ใหญ่
“โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตผู้นำสหรัฐฯคนแรกที่โดนฟ้องคดีอาญา
สำหรับ ทรัมป์ เป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่ถูกดำเนินคดีอาญา โดยหลักฐานบางส่วนมาจากการบันทึกเสียงสนทนาระหว่างทรัมป์และทนายส่วนตัวเกี่ยวกับการจ่ายเงินให้กับหญิงสาวทั้งสอง
อัยการกล่าวหาว่า เชคเงินสดที่ทรัมป์มอบให้กับไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความส่วนตัวโดยอ้างว่าเป็นค่าจ้างในการทำงานแท้จริงแล้วเป็นเงินที่นำไปใช้เพื่อปกปิดความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น โดย โคเฮน ยอมรับว่า ตัวเองเป็นผู้ประสานงานการจ่ายเงินแก่ทั้ง แมคดูกัล และ แดเนียลส์ ที่รับเงินจำนวน 130,000 ดอลลาร์หรือประมาณ 4.4 ล้านบาท ก่อนที่เธอจะออกมาเปิดเผยว่าเคยร่วมหลับนอนกับทรัมป์ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในปี 2006
ขณะที่ นาย โจ ทาโคปินา ทนายความของทรัมป์ แถลงหลังจากการรับฟังคำฟ้องว่า หากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น คงไม่เกิดการฟ้องร้อง โดยหาก ทรัมป์ ถูกตัดสินว่า มีความผิดทั้ง 34 กระทง จะมีโทษจำคุกรวมกันมากกว่า 100 ปี แต่การกำหนดบทลงโทษจริงน่าจะมีระยะเวลาการจำคุกที่น้อยกว่านั้นมากพอสมควร ซึ่งตามกฎหมายนิวยอร์กแล้วความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารหลักฐานทางธุรกิจถือเป็นคดีเล็กน้อยที่มีอัตราจำคุก 1-2 ปี แต่อาจจะเพิ่มเป็น 4 ปีได้หากพบว่าพฤติดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อปกปิดหรือต่อยอดไปสู่การกระทำผิดในคดี