โลกของเราเต็มไปด้วยปริศนาอันยิ่งใหญ่ที่หลายคนยังคงพยายามตามหาคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแจ็ก เดอะ ริปเปอร์, สัตว์ประหลาดเนสซี, ปริศนาเครื่องบิน MH370 หายสาบสูญ, เขตแดนแอเรีย 51 มีอะไรซ่อนอยู่ ไปจนถึงเรื่องของการกลับชาติมาเกิดและโลกหลังความตาย
แต่อีกหนึ่งปริศนาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและยังคงเป็นปริศนาเรื่อยมา ก็คือเรื่องของ “สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา” (Bermuda Triangle)
สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเป็นพื้นที่ในมหาสมุทรแตแลนติกทางตะวันออกของรัฐฟลอริดา ทางเหนือของทะเลแคริบเบียน บริเวณเกาะเบอร์มิวดา ซึ่งที่ผ่านมามีเครื่องบินและเรือหลายลำหายสาบสูญไปอย่างเป็นปริศนา ตามหาไม่เจอ จนกลายเป็นตำนานว่าพื้นที่แห่งนี้มีปริศนาบางอย่างซ่อนอยู่ และอยู่เบื้องหลังการหายสาบสูญ
นักวิทย์พบอีกสาเหตุสำคัญ ทำธารน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่คาด
ลึกสุดที่เคยถ่ายและจับได้! ยลโฉมปลาใต้ทะเลลึก 8,300 เมตร
9 ปี MH370 หายปริศนา ครอบครัวยังไม่หมดหวัง ขอให้มีการค้นหาอีกครั้ง
เคสหายสาบสูญไปในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาที่โด่งดัง เช่น กรณี Flight 19 หรือหมู่เครื่องบินทิ้งระเบิด TBM Avenger จำนวน 5 ลำที่หายสาบสูญไปเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 1945 และเมื่อใช้เครื่องบิน PBM Mariner BuNo 59225 ออกตามหา ก็ปรากฏว่าหายสาบสูญไปด้วยเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางทฤษฎีต่าง ๆ นานาว่าภายในสามเหลี่ยมมรณะนี้มีอะไรซุกซ่อนอยู่ นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานวิทยาศาสตร์ได้ออกมาโต้แย้งอย่างต่อเนื่องว่า “ไม่มีปริศนาอะไรทั้งนั้นในสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา”
หนึ่งในผู้ที่พูดเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน คือ คาร์ล ครูสเซลนิกกิ นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA)
ทั้งคู่พูดมานานหลายปีแล้วว่า สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาไม่ได้มีเรื่องราวลึกลับใด ๆ เลย และความจริงแล้ว การสูญหายของเรือและเครื่องบินทั้งหลายเป็นเพียงเรื่องของ “ความน่าจะเป็น” เท่านั้น
เมื่อปี 2010 NOAA บอกว่า “ไม่มีหลักฐานว่าการสูญหายตัวไปอย่างลึกลับเกิดขึ้นที่สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาถี่กว่าพื้นที่ขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่มีการเดินทางจำนวนมาก”
และตั้งแต่ปี 2017 จนถึงทุกวันนี้ ครูสเซลนิกกิก็พูดแบบเดียวกันว่า “ปริมาณการจราจรหนาแน่นในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินทาง แสดงให้เห็นว่า จำนวนของเรือและเครื่องบินที่สูญหายไปในสามเหลี่ยมเบอร์มิวดานั้น มีสัดส่วนเท่ากันกับทุกที่ในโลก”
NOAA กล่าวว่า สามารถใช้ข้อพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมอธิบายการสูญหายส่วนใหญ่ในสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาได้ โดยเน้นย้ำถึงแนวโน้มของกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง จำนวนเกาะในทะเลแคริบเบียนที่ทำให้การเดินเรือมีความยากและซับซ้อน และหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดามีผลกระทบต่อเข็มทิศ ทำให้เกิดความสับสนในการหาเส้นทาง
“กองทัพเรือสหรัฐฯ และหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ โต้แย้งว่า ไม่มีคำอธิบายเหนือธรรมชาติสำหรับภัยพิบัติในทะเลที่เกิดขึ้น ... ประสบการณ์ของพวกเขาชี้ให้เห็นว่าพลังที่ผสมผสานกันของธรรมชาติและความผิดพลาดของมนุษย์มีชัยเหนือแม้แต่เรื่องราวในวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ที่เหลือเชื่อที่สุด” NOAA กล่าว
ครูสเซลนิกกิได้รับความสนใจจากสาธารณชนมาโดยตลอดสำหรับการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ครั้งแรกในปี 2017 และอีกครั้งในปี 2022 ก่อนที่เขาจะออกมายืนยันอีกครั้งในปี 2023 นี้ เขายังคงยึดมั่นในแนวคิดเดิมว่า “ตัวเลขไม่โกหก”
ครูสเซลนิกกิชี้ให้เห็นว่า ทุกกรณีของการสูญหาย มีสภาพอากาศเลวร้ายหรือความผิดพลาดของมนุษย์ หรือทั้งสองอย่าง เป็นสาเหตุที่แท้จริง
เรื่องราวเกี่ยวกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ณ ปัจจุบันนี้ ยังคงมีการต่อสู้ทางความคิดอยู่ ระหว่างแนวคิดที่น่าหวือหวาของทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเล มนุษย์ต่างดาว หรืออาณาจักรแอตแลนติส กับแนวคิดที่ฟังดูน่าเบื่ออย่างเรื่องของความน่าจะเป็นและคณิตศาสตร์
ก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตอันใกล้ โลกวิทยาศาสตร์จะมีเครื่องมือที่สามารถไขความลับเกี่ยวกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาได้ เพื่อหา “ความจริงเพียงหนึ่งเดียว” และยุติการโต้เถียงทียาวนานหลายสิบปีนี้เสียที
เรียบเรียงจาก Popular Mechanics
ภาพจาก Getty Image