WHO เตือนทั่วโลกการ์ดอย่าตก เตรียมพร้อมรับมือโรคใหม่เสมอ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 หลังใช้ต่อเนื่องมานานกว่า 3 ปี หลังตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง และผู้คนทั่วโลกกลับมาใช้ชีวิตปกติ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกประจำปีที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ล่าสุด WHO ได้ย้ำว่าโควิด-19 ยังเป็นภัยคุกคามระดับโลก

‘ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส’ ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 76 เมื่อวานนี้ว่า แม้การระบาดของโควิด-19 จะไม่ได้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกแล้ว แต่โควิด-19 ยังถือเป็นภัยคุกคามอยู่ 

โลกอาจเผชิญกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่และรุนแรงถึงชีวิต รวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ที่อันตรายถึงชีวิตอีกด้วย

WHO ปรับคำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ใครยังควรฉีดเข็มกระตุ้นอยู่?

"จีน"ย้ำเปิดเผยข้อมูลโควิด-19 อย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ

พร้อมย้ำว่าประเทศต่างๆ ควรเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา WHO ได้ประกาศให้การระบาดของโควิด -19 ไม่ได้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระดับโลกอีกต่อไป เนื่องจากอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงแตะระดับต่ำสุด เหลือราวสัปดาห์ละ 3,500 คนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จาก 100,000 คนเมื่อเดือนมกราคมปี 2021 ขณะที่ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 และแรงกดดันต่อระบบสาธาณสุขก็ผ่อนคลายลง

ในครั้งนั้น WHO เตือนว่าการระบาดของโควิด-19 ยังไม่จบสิ้นและยังสามารถกลายพันธ์ุได้ จึงขอให้ประเทศต่างๆ ยังคงควบคุมมาตรการป้องกันการระบาดของโควิดบางประการเอาไว้ และอย่าเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนที่บ่งบอกว่าโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว

หลังการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินด้านโควิด-19 ของ WHO หลายประเทศก็ได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกัน อย่าง สหรัฐอเมริกาที่เพิ่งประกาศยกเลิกไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในบางประเทศ อย่างประเทศไทย เริ่มกลับมาน่ากังวลอีกครั้ง หลังจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ได้รายงานสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 2,632 คน เฉลี่ยวันละ 376 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 15,069 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 401 คน และผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ที่ 226 คน

ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย พุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 200 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 22 รายเท่านั้น ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียสะสมอยู่ที่ 384 รายตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้ว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในหมู่ประชากรลดลงมาก นอกจากนี้ ยังพบการระบาดในกลุ่มเด็กนักเรียน โดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษา กรมควบคุมโรคจึงขอความร่วมมือให้ครูในโรงเรียนเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด พร้อมย้ำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ และเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

สำหรับจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังไม่มีรายงานผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มเติม ข้อมูลวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ที่ 144,951,341 โดส

วัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 57,233,919 โดส คิดเป็นร้อยละ 82.28 ส่วนเข็มที่ 2 จำนวน 53,730,348 โดส คิดเป็นร้อยละ 77.25 และตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป จำนวน 33,987,074 โดส

ขณะที่ประเทศแอฟริกาใต้ กำลังเผชิญกับการระบาดของเชื้อโรคอีกชนิด นั่นคืออหิวาตกโรค ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถหาต้นตอของการระบาดได้

กระทรวงสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้รายงานว่า มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบ 100 คน ในจำนวนนี้ 37 คนอยู่ในอาการวิกฤต ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองฮัมมันสคราลของเขตกัวเตง ทางตอนเหนือของแอฟฟริกาใต้ ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 15 คน

แอฟริกาใต้มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอหิวาตกโรคครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ โดยคาดว่าการแพร่ระบาดของโรคมาจากผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาลาวี อย่างไรก็ตาม ทางการแอฟริกาใต้ยังคงสืบหาต้นตอที่แท้จริงอยู่

ผู้ป่วยอหิวาตกโรครายนี้กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทางการแอฟริกาใต้ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำประปาที่อาจเป็นสื่อนำให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอหิวาตกโรคจะมีอาการท้องเสียฉับพลัน อาเจียน และอ่อนแรง ส่วนใหญ่แพร่ระบาดจากอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหากไม่รีบนำตัวไปรักษาพยาบาล

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ