ทาคาชิมะ ชินโงะ แพทย์หนุ่มวัย 26 ปีในประเทศญี่ปุ่น เคยทำงานเป็นแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์โคนัน ในเมืองโกเบ แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง โดยสาเหตุเกิดจาก “การต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 200 ชั่วโมงใน 1 เดือน”
ล่าสุดครอบครัวของแพทย์หนุ่ม ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบปัญหาวัฒนธรรมการทำงานหนักมายาวนาน และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนวัยทำงานฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก
ทนายความของครอบครัวระบุว่า ทาคาชิมะทำงานล่วงเวลามากกว่า 207 ชั่วโมงในเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต และไม่มีวันหยุดเลยเป็นเวลา 3 เดือน
ด้านศูนย์การแพทย์โคนันได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ในเดือนมิถุนายน หน่วยตรวจแรงงานของรัฐบาลตัดสินว่า การเสียชีวิตของเขามีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงานหนัก
ญี่ปุ่นต่อสู้กับวัฒนธรรมการทำงานหนักมาเป็นเวลานาน โดยพนักงานในภาคส่วนต่าง ๆ มักต้องทำงานล่วงเวลาด้วยหลายเหตุผล เช่น เป็นการลงโทษ ความกดดันสูงจากหัวหน้างาน และความเคารพต่อบริษัท
ความเครียดและสุขภาพจิตที่ตามมาทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “คาโรชิ” (karoshi) หรือ Wการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก” ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป
ในการแถลงข่าววันนี้ (25 ส.ค.) ทาคาชิมะ จุนโกะ แม่ของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ลูกชายมักจะบอกว่า “มันยากมาก” และ “ไม่มีใครช่วยเขาได้”
เธอกล่าวว่า “ไม่มีใครช่วยผม เขาคอยบอกฉันอยู่เสมอ ฉันคิดว่าสภาพแวดล้อมทำให้เขาทนไม่ไหว ... ลูกชายของฉันจะไม่ได้เป็นหมอใจดี และจะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและช่วยเหลือสังคมได้อีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานของแพทย์จะดีขึ้น เพื่อไม่ให้สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”
ด้านพี่ชายของทาคาชิมะซึ่งไม่เปิดเผยชื่อก็พูดในการแถลงข่าวด้วยว่า “ไม่ว่าเราจะมองชั่วโมงทำงานของน้องชายอย่างไร 200 ชั่วโมงของการทำงานล่วงเวลาก็เป็นตัวเลขที่น่าเหลือเชื่อมาก และผมไม่คิดว่าโรงพยาบาลจะมีแนวทางที่มั่นคงในการจัดการการทำงานตั้งแต่แรก”
ในงานแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศูนย์การแพทย์โคนันได้บอกว่า “มีหลายครั้งที่แพทย์ใช้เวลาศึกษาด้วยตัวเองและนอนหลับตามความต้องการทางสรีรวิทยาของพวกเขา เนื่องจากมีอิสระในระดับที่สูงมาก จึงไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานได้อย่างแม่นยำ”
เมื่อได้รับการติดต่อจาก CNN โฆษกศูนย์การแพทย์กล่าวว่า “เราไม่ยอมรับว่ากรณีเกิดจากการทำงานล่วงเวลา และจะไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้”
ปัญหาการทำงานหนักเกินไปในญี่ปุ่นยังคงมีสูง โดยเฉพาะในภาคสาธารณสุข การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2016 พบว่า แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลเต็มเวลามากกว่า 1 ใน 4 ทำงานมากถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ 5% ทำงานมากถึง 90 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 2.3% ทำงานมากถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
การปฏิรูปกฎหมายแรงงานและกฎระเบียบล่วงเวลาในปี 2018 มีความคืบหน้าเล็กน้อย โดยรัฐบาลรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อปีต่อพนักงานหนึ่งคน “ลดลงทีละน้อย” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนชั่วโมงทำงานจริงจะลดลง แต่ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก AFP
ญี่ปุ่นเริ่มเก็บตัวอย่างน้ำทะเล หลังปล่อยน้ำเสียจากฟุกุชิมะ
ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่ทะเล
ญี่ปุ่นจัดสรรงบ รวบรวม “ต้นฉบับการ์ตูน” อนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติชาติ