อย่างไรก็ตามการประท้วงยกระดับไปสู่การข่มขู่คุกคามแล้ว ล่าสุดมีรายงานว่าบริษัทหลายแห่งทั่วญี่ปุ่นได้รับโทรศัพท์ข่มขู่คุกคามจากจีนนับตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงมหาสมุทรแปซิฟิก
วันนี้ (28 ส.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า ธุรกิจและหน่วยงานญี่ปุ่นหลายแห่งได้รับโทรศัพท์หลายสาย โทรมาตำหนิเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ธุรกิจและหน่วยงานญี่ปุ่นเปิดเผยว่า หลายสายที่โทรเข้ามาต่อว่าเป็นเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วยรหัส 86 ซึ่งเป็นรหัสหมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศของจีน
ธุรกิจญี่ปุ่นโอด ถูกชาวจีนโทรคุกคามหลังปล่อยนำเสียโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ
ญี่ปุ่นโชว์ความปลอดภัย “น้ำเสียฟุกุชิมะ” ไลฟ์สดชีวิตปลาในน้ำที่ผ่านการบำบัด
ธุรกิจและหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหลายแห่งมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองฟุกุชิมะ ฮิโรชิ โคฮาตะ นายกเทศมนตรีประจำเมืองฟุกุชิมะออกมาระบุผ่านเฟซบุคเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เทศบาลเมืองต้องรับโทรศัพท์คุกคามราว 200 ครั้งตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ขณะที่เจ้าของธุรกิจรายหนึ่งในเมืองฟุกุชิมะระบุกับสำนักข่าวเกียวโดว่า ร้านค้าของเขาต้องรับโทรศัพท์จากชาวจีนที่โทรมาต่อว่ามากกว่า 1,000 ครั้งเมื่อวันศุกร์ จนต้องดึงสายโทรศัพท์ออก ส่วนโรงเรียน ร้านอาหาร และโรงแรมในพื้นที่ก็เผชิญการข่มขู่จากชาวจีนเช่นกัน นายกเทศมนตรีเมืองฟุกุชิมะระบุว่าโรงเรียนประถมและมัธยมต้นที่มีที่ตั้งห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราว 60 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือ ก็ได้รับสายจากประเทศจีนเกือบ 70 สาย
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจและหน่วยงานในพื้นที่อื่นๆ ของญี่ปุ่นที่เผชิญต้อการคุกคามเช่นเดียวกัน เช่น อควาเรียมแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของจังหวัดอิวาเตะ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคโทโฮคุ ภูมิภาคเดียวกันกับที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ รวมถึงสถานที่จัดคอนเสิร์ตแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว
หน่วยงานเหล่านี้ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า สายที่โทรเข้ามาต่อว่าจากจีนรบกวนการทำงานจนดำเนินงานตามปกติได้อย่างยากลำบากขณะที่สื่อท้องถิ่นจีนระบุว่า มีการโพสต์วิดีโอขณะที่ชาวจีนโทรไปก่อกวนหน่วยงานต่างๆ ของญี่ปุ่นออกมาทางโซเชียลมีเดียของจีน โดยมีทั้งผู้ที่ต่อว่าด้วยภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ แต่หากผู้รับสายสามารถสื่อสารด้วยภาษาจีนได้ ก็จะต่อว่าด้วยภาษาจีน
ล่าสุดทางการญี่ปุ่นออกมาแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ที่ชาวจีนแห่กันโทรเข้ามาข่มขู่หน่วยงานของญี่ปุ่นแล้ว ฮิโรคาสึ มัตสึโนะ โฆษกประจำรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาระบุว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่ากังวลอย่างมาก ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกมาตรการตอบสนองที่เหมาะสม เช่น ประกาศข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
นอกจากนี้ สถานทูตญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่งยังได้ออกมาเตือนประชาชนชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนว่าให้ระมัดระวังตัวขณะออกจากที่พัก เช่น ไม่พูดภาษาญี่ปุ่นเสียงดังเกินความจำเป็นในที่สาธารณะ
หลังจากเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระลอกแรกนำไปสู่กระแสต่อต้านจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้
แต่ท่าทีที่แข็งกร้าวอย่างมากมาจากจีน โดยหนึ่งวันหลังจากนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ประกาศว่าญี่ปุ่นจะเริ่มดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้า รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาประกาศระงับการนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัด
ของญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะทันที อีกทั้งยังระบุอีกด้วยว่าการปล่อยน้ำปนเปื้นครั้งนี้เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว
สาเหตุที่จีน เกาหลีใต้ และหลายประเทศวิตกกังวล เนื่องจากเกรงว่าสารกัมมันตรังสีที่ค้างอยู่จะสะสมในมหาสมุทรและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม น้ำที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นน้ำที่ถูกใช้ในการหล่อเย็นแกนปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะหลังจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงและคลื่นสึนามิถล่มจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดการระเบิด ผ่านกระบวนการบำบัดด้วยระบบกรอง Advanced Liquid Processing System หรือ เอแอลพีเอส (ALPS) มาแล้ว
ระบบเอแอลพีเอสสามารถแยกอนุภาคกัมมันตรังสี 62 ชนิดที่ปนเปื้อนได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นทริเทียม ซึ่งไม่สามารถขจัดออกได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เนื่องจากมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกับน้ำธรรมดา แต่บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ เทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะและด้านทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติออกมายืนยันตรงกันว่า ระดับปริมาณของทริเทียมที่อยู่ในน้ำที่จะปล่อยออกสู่มหาสมุทรนั้นอยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานโลก
ล่าสุด หลังจากที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลในรัศมี 40 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 11 จุดเพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพน้ำเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบออกปรากฏว่า พบว่าค่าทริเทียมอยู่ที่ 7-8 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าสามารถตรวจพบได้
ขณะที่ทางจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งทำการตรวจสอบน้ำทะเลแยกจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมออกมาประกาศเช่นกันว่า ระดับค่าทริเทียมที่ตรวจพบ ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 9 จุดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ตรวจพบได้ นอกจากนี้ หน่วยงานด้านประมงยังออกมาระบุเช่นกันว่า ค่าทริเทียมในปลาที่จับได้จากบริเวณที่ปล่อยน้ำอยู่ในระดับต่ำเกินกว่าจะตรวจพบเช่นกัน
แม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันแล้วว่าน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดมีค่ากัมมันตรังสีอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่แข็งกร้าวไม่ได้มาจากรัฐบาลจีนเท่านั้น ประชาชนชาวจีนมีท่าทีสนับสนุนการระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของรัฐบาลเช่นกัน
หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาประกาศระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากบางพื้นที่ของญี่ปุ่น ชาวจีนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมค้าขายอาหารทะเลจำนวนหนึ่งก็ได้ออกมาแสดงความกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่กล้าที่จะนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีคุณภาพดีกว่าอาหารทะเลจากประเทศอื่นๆ ก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานขายรายหนึ่งยังมองว่ารัฐบาลจีนจะต้องบอยคอตสินค้าจากญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต
ไม่เพียงแต่ผู้ที่ทำงานในแวดวงค้าขายอาหารทะเลเท่านั้น ประชาชนชาวจีนก็สนับสนุนการระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเช่นกัน รายงานจากสำนักข่าว CNN ระบุว่า หลังจากทางการญี่ปุ่นดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อน แฮชแท็กที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้วิพากษ์วิจารณ์การปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน “เว่ยโป๋” โซเชียลมีเดียสัญชาติจีนก็มียอดคลิกพุ่งทะลุ 800 ล้านครั้งภายในไม่กี่ชั่วโมง
ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียชาวจีนจำนวนมากออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนมติระงับการนำเข้าของรัฐบาลตนเอง และเห็นพ้องไปกับคำตำหนิของรัฐบาลจีนที่ว่า การกระทำของญี่ปุ่นไม่มีควมรับผิดชอบ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอีกจำนวนมากเช่นกันที่เรียกร้องให้รัฐบาลจีนยกระดับการบอยคอตให้รุนแรงขึ้นโดยความเห็นจาก top comment เรียกร้องไปถึงระดับว่า ให้รัฐบาลจีนบอยคอตการนำเช้าสินค้าทั้งหมดจากญี่ปุ่น
คำถามคือ ทำไมการตอบสนองจากรัฐบาลและสังคมจีนต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดสารกัมมันตรังสีอยู่ในระดับที่ปลอดภัยแล้วจึงเป็นไปอย่างรุนแรงและแข็งกร้าว
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายระบุตรงกันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่จีนมีท่าทีเช่นนี้มาจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างสองชาติที่มีมาอย่างยาวนานโดยจีนและญี่ปุ่นถือว่าเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่ในประเด็นที่เห็นกระแสต่อต้านญี่ปุ่นจากจีนได้ชัดที่สุดคือ กรณีข้อพิพาททางทะเลที่ต่างฝ่ายต่ายอ้างกรรมสิทธิ นั่นคือเกาะเซนคาคุหรือเกาะเตียวหยูในชื่อภาษาจีน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2012
กรณีดังกล่าวนำไปสู่ปฏิกิริยาที่คล้ายกับกรณีปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ นั่นคือ การเรียกร้องให้บอยคอตสินค้าญี่ปุ่น
ขณะที่กรณีข้อพิพาทเกาะเซนคาคุ กระแสต่อต้านญี่ปุ่นยกระดับไปถึงการประท้วง ซึ่งปกติรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักไม่ยอมให้มีการประท้วงเกิดขึ้น