งานศึกษาวิจัยใหม่รายงานการค้นพบ “ไมโครพลาสติก” อยู่ในตัวอย่างดินอายุมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อโบราณวัตถุและศพโบราณต่าง ๆ ที่ยังคงถูกฝังอยู่ใต้ดินได้
ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร เกิดขึ้นเมื่อพลาสติกขนาดใหญ่เกิดการย่อยสลายหรือแตกตัวลง ไม่ว่าจะโดยการย่อยสลายทางเคมีหรือการสึกหรอทางกายภาพจนกลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ
ปัจจุบันโลกกำลังกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกรอบตัวเราและอันตรายจากมัน เพราะพบทั้งในแหล่งน้ำ บนท้องฟ้า หรือแม้แต่ในอาหาร
สำหรับการศึกษาล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในสหราชอาณาจักร ทำการศึกษาตัวอย่างดินจากชั้นดินที่ลึกกว่า 7 เมตร ซึ่งถูกฝังไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือ 2 และขุดขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980
พวกเขากลับพบไมโครพลาสติกในตัวอย่างเหล่านั้น และที่สำคัญคือ พบไมโครพลาสติกโพลีเมอร์ที่แตกต่างกันมากถึง 16 ชนิด
ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์มักมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ แต่การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่องานทางโบราณคดีทั้งหมดได้ด้วยเช่นกัน
การอนุรักษ์ซากทางโบราณคดีต่าง ๆ ไว้ยังแหล่งที่ขุดค้นพบเป็นแนวทางที่นิยมกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การค้นพบครั้งใหม่นี้อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทาง เนื่องจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอาจทำให้คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ของซากสิ่งของหรือศพโบราณลดลง
จอห์น สโชฟิลด์ ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาในภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยยอร์ก หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เราคิดว่าแหล่งโบราณคดีเก่าแก่มีความสำหรับการตรวจสอบ แต่จริง ๆ แล้วกลับมีการปนเปื้อนด้วยพลาสติก และรวมถึงแหล่งเก็บตัวอย่างและจัดเก็บในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ด้วย”
เขาเสริมว่า “เราคุ้นเคยกับพลาสติกในมหาสมุทรและแม่น้ำ แต่ที่นี่เราเห็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของเรามีองค์ประกอบที่เป็นพิษเข้ามาผสมด้วย การปนเปื้อนนี้กระทบต่อมูลค่าของแหล่งสะสมเหล่านี้ และความสำคัญระดับชาติของสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่เราจะพยายามค้นหาต่อไป”
ด้าน เดวิด เจนนิงส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกองทุนโบราณคดียอร์ก บอกว่า การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล
“ซากศพที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดของเรา เช่น ซากไวกิ้งที่พบในคอปเปอร์เกต (ในเมืองยอร์ก) อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำขังแบบไม่ใช้ออกซิเจนสม่ำเสมอมานานกว่า 1,000 ปี ซึ่งสามารถรักษาวัสดุอินทรีย์ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ” เขากล่าว
เจนนิงส์เสริมว่า “แต่การมีอยู่ของไมโครพลาสติกสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติทางเคมีของดิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดองค์ประกอบซึ่งจะทำให้ซากอินทรีย์สลายตัวได้ หากเป็นเช่นนั้น การอนุรักษ์โบราณคดีไว้ในแหล่งขุดค้นอาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป”
เรียบเรียงจาก CNN
วิเคราะห์ฟุตบอลโลก 2026 ทีมชาติไทย พบ เกาหลีใต้ 26 มี.ค.67
ถ่ายทอดสด ทีมชาติไทย พบ เกาหลีใต้ ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก
"เศรษฐา" ควันออกหู สื่อจี้ ที่มาเงินดิจิทัล ไล่ไปฟังแถลงรายละเอียด