เรือดำน้ำนิวเคลียร์รัสเซีย ถึงคิวบาไม่ไกลจากชายฝั่งสหรัฐฯ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ตอนนี้นอกจากการสู้รบในยูเครนแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งที่กำลังมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดความตึงเครียดจากการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจ คืออ่าวเม็กซิโก ที่กั้นระหว่างประเทศคิวบาและรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมาตามเวลาบ้านเรา กองเรือรัสเซียได้เดินทางถึงอ่าวของคิวบาเพื่อซ้อมรบตามที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

กองทัพเรือรัสเซีย จอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือในอ่าวฮาวานา เมืองหลวงของประเทศคิวบา เรือของรัสเซียที่เดินทางมายังกรุงฮาวานาในรอบนี้ ประกอบด้วยเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่มีชื่อว่า “คาซาน” เรือฟริเกตติดขีปนาวุธ รวมถึงเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือลากจูง

ทั้งนี้ รัฐบาลคิวบาเคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า เรือดำน้ำนิวเคลียร์คาซาน จะไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์ ขณะที่เดินทางเข้ามาในอ่าวเม็กซิโกและน่านน้ำคิวบา 

คอนเทนต์แนะนำ
รัสเซีย ส่ง “เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” เยือนคิวบา 12-17 มิ.ย.นี้
“ปูติน” ออกกฤษฎีกาจูงใจชาวต่างชาติ ได้สัญชาติรัสเซีย หากร่วมกองทัพสู้รบในยูเครน

เรือดำน้ำ รายการรอบโลก DAILY
เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ของรัสเซีย

ส่วนสาเหตุที่เรือทั้งหมดเดินทางมาในน่านน้ำคิวบา เป็นเพราะต้องมาเตรียมเข้าร่วมการซ้อมรบประจำปี ซึ่งจะจัดขึ้นที่ทะเลทะเลแคริบเบียนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยทางการคิวบาระบุว่า กองเรือรัสเซียจะอยู่ในอ่าวฮาวานาถึงวันที่ 17 มิถุนายน

ทันทีที่กองเรือของรัสเซียเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือคิวบาได้มาให้การต้อนรับ ท่ามกลางการติดตามของประชาชนที่มารออยู่รอบๆ ท่าเรือของเมืองหลวง ประชาชนคิวบาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการมาถึงของกองเรือรัสเซีย โดยระบุว่า

พวกเขารู้สึกตื่นเต้นและประทับใจที่ได้เห็นกองเรือของรัสเซีย และสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างรัสเซียและคิวบาที่มีมายาวนานหลายสิบปี โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามหรือความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้

เหตุใดการเดินทางมาถึงของกองเรือรัสเซียในคิวบาอาจสร้างความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในอ่าวเม็กซิโก และรัสเซียกับคิวบาซึ่งอยู่เกือบคนละซีกโลกมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกันได้อย่างไร

ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและคิวบาเกิดขึ้นจากบริบทของสงครามเย็นและสงครามปฏิวัติคิวบาหรือสงครามปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 1953-1959 สงครามปฏิวัติคิวบาเป็นสงครามการต่อสู้กันระหว่างฟุลเกนซิโอ บาติสตา ผู้นำเผด็จการของคิวบา และฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติสายคอมมิวนิสต์

 ก่อนที่จะจบลงด้วยชัยชนะของฟิเดล คาสโตร และทำให้นักปฏิวัติรายนี้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1959 ในฐานะประธานาธิบดีของคิวบา และได้สถานปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสหภาพโซเวียตอย่างไรก็ดี การขึ้นสู่อำนาจของนักปฏิวัติสายคอมมิวนิสต์ ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากคอมมิวนิสต์ถือเป็นศัตรูทางอุดมการณ์ของสหรัฐฯ และฟิเดล คาสโตร ก็สนิทกับนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียต

ทำให้ในปี 1960 รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติแผนลับที่ให้หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA เข้าไปฝึกชาวคิวบาที่ลี้ภัยสงครามมาอยู่ในรัฐแอละบามาและประเทศกัวเตมาลา เพื่อเตรียมต่อสู้ทำสงครามกับกองทัพคอมมิวนิสต์ เป้าหมายของแผนการคือ ต้องการให้ชาวคิวบาที่ลี้ภัยเหล่านี้ ล้มฟิเดล คาสโตรและรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ตลอดจนสถาปนารัฐบาลที่เป็นมิตรกับรัฐบาลสหรัฐฯ  ก่อนที่หนึ่งปีต่อมา ในปี 1961 จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะอนุมัติแผนบุกยึดครองอ่าวหมู หรือ Bay of Pigs invasion อย่างไรก็ดี ทางกองทัพของฟิเดล คาสโตรได้โต้กลับ จนกองกำลังผู้ลี้ภัยคิวบาต้องล่าถอยและยอมแพ้

หลังจากจบสงครามบุกยึดครองอ่าวหมูไม่นาน ฟิเดล คาสโตรได้ขอร้องให้นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตส่งกองกำลังมาคุ้มครองคิวบา และขอให้สหภาพโซเวียตนำอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการบนเกาะคิวบา

สหภาพโซเวียตได้ตอบรับคำขอของฟิเดล คาสโตรแทบจะทันที โดยเฉพาะกับการประจำการหัวรบนิวเคลียร์เพราะสหภาพโซเวียตต้องการตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำหัวรบนิวเคลียร์ที่มีชื่อว่า “จูปิเตอร์” และ “ธอร์” ไปประจำไว้ในประเทศตุรกีตั้งแต่ปี 1959 ซึ่งถือเป็นการเอาอาวุธนิวเคลียร์ไปจ่อไว้ที่หน้าบ้านของรัสเซีย ในเดือนสิงหาคม ปี 1962 สหภาพโซเวียตได้ลักลอบนำขีปนาวุธไปไว้บนเกาะคิวบา จนนำไปสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในคิวบา ปี 1962

หลังจากนั้น ในวันที่ 14 ตุลาคม ปี 1962 เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ได้ไปตรวจพบฐานยิงขีปนาวุธของสหภาพโซเวียตในคิวบา

ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า สหภาพโซเวียตได้ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยกลาง (MRBM) รุ่น R-12 จำนวน 36 ลูก ซึ่งมีพิสัยการโจมตีไกล 1,700-2,000 กิโลเมตร สามารถโจมตีได้ถึงนิวยอร์ก อิลลินอยส์ เท็กซัส

รวมถึงติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลาง (IRBM) รุ่น R-14 จำนวน 24 ลูก ซึ่งมีพิสัยการโจมตีไกล 3,500-4,000 กิโลเมตร โจมตีได้เกือบทุกรัฐในสหรัฐอเมริกาไปถึงแคนาดา และไปไกลถึงทวีปอเมริกาใต้ บริเวณตอนเหนือของประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลา

ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม หรือ 2 วัน หลังสหรัฐฯ ตรวจพบขีปนาวุธโซเวียตในคิวบา ซึ่งจ่อหัวไปทางรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 300 กิโลเมตรประธานาธิบดีเคนเนดีได้จัดประชุมเพื่อหาทางตอบโต้สหภาพโซเวียต ซึ่งมี 3 วิธี คือ

ข้อแรก การทิ้งระเบิดใส่คิวบาทางอากาศเพื่อทำลายขีปนาวุธรัสเซีย

ข้อที่สอง การปิดล้อมทางทะเล

ข้อที่สาม ขอให้สหภาพโซเวียตถอนอาวุธออกจากคิวบา แลกกับการที่สหรัฐฯ ถอนอาวุธออกจากตุรกี

หลังจากนั้น ความตึงเครียดและความกังวลว่าโลกจะเผชิญกับสงครามนิวเคลียร์ก็เกิดขึ้น หลังประธานาธิบดีเคนเนดีของสหรัฐฯ ประกาศในวันที่ 22 ตุลาคมว่า สหภาพโซเวียตได้ติดอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในคิวบา ขณะที่ทางนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียต ก็กังวลกับการเกิดสงครามนิวเคลียร์ จึงเรียกประชุมสภาเพื่อขอต่อรองเรื่องการถอนอาวุธนิวเคลียร์

ก่อนที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตได้ต่อสายตรงหารือกัน พร้อมกับได้ข้อสรุปว่า ทั้งสองประเทศจะถอนอาวุธนิวเคลียร์ออกจากพื้นที่สุ่มเสี่ยงอย่างตุรกีและคิวบา ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 28 ตุลาคม ครุสชอฟได้สั่งถอนขีปนาวุธทั้งหมดออกจากคิวบา

หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน สหรัฐฯ ได้สั่งถอนขีปนาวุธจูปิเตอร์ออกจากตุรกีในเดือนเมษายน ปี 1963 ข้อตกลงการถอนอาวุธนิวเคลียร์ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับคิวบาเป็นอย่างมาก แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็แลกกับการที่สหรัฐฯ ให้หลักประกันว่าจะไม่แทรกแซงหรือรุกรานคิวบา และยกเลิกการปิดล้อมคิวบา

ขณะเดียวกัน คาสโตรก็ได้เดินทางไปเยือนกรุงมอสโกของคิวบาในปี 1963 เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติ โดยสหภาพโซเวียตพยายามเอาใจคิวบา หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 คิวบาก็ยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาล และการอนุญาตให้รัสเซียเข้ามาทำสัมปะทานเหมืองนิกเกิลในคิวบา

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ลงนามในความร่วมมือกับคิวบาทั้งในด้านองค์ความรู้และวัฒนธรรม ซึ่งมีตั้งแต่ประเด็นการศึกษา สุขภาพ อุตุนิยมวิทยา การบินและเทคโนโลยีอวกาศ

แม้หลายฝ่ายจะออกมาเปรียบเทียบว่าการเยือนคิวบาของกองทัพรัสเซียอาจมีลักษณะคล้ายกับวิกฤตการณ์คิวบา 1962 เนื่องจากรัสเซียส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์เข้ามาในอ่าวเม็กซิโก ไม่ไกลจากดินแดนสหรัฐฯ

แต่ล่าสุดทางการสหรัฐฯ ออกมายืนยันในทำนองเดียวกับคิวบาว่า การมาร่วมซ้อมรบของรัสเซียครั้งนี้ ไม่ได้เป็นภัยต่อภูมิภาค ผู้ที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้คือ ซาบรินา ซิงห์ รองโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยเธอระบุว่า การเยือนคิวบาของกองเรือรัสเซียที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติและเคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลชุดก่อนๆ และไม่ถือเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ

แม้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะออกมาระบุว่า กองเรือของรัสเซียไม่ได้เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสหรัฐฯ แต่เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ไม่ได้มองเช่นนั้น  สังเกตได้จากการให้สัมภาษณ์ของเขาต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ ซึ่งระบุว่า

แม้การส่งเรือเดินทางเยือนคิวบาจะเป็นเรื่องปกติของรัสเซีย แต่รอบนี้มีสิ่งที่แตกต่างออกไปคือ รัสเซียส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้มาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อ 33 ปีก่อน

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพบางราย ได้ให้ความเห็นว่า การส่งเรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นนี้มาเยือนอ่าวเม็กซิโก อาจเป็นการส่งสัญญาณความไม่พอใจจากผู้นำรัสเซียไปยังฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนยูเครนให้ใช้อาวุธสัญชาติอเมริกันบางชนิดโจมตีเป้าหมายทางการทหารบนแผ่นดินรัสเซียได้

ความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพสหรัฐฯ สอดคล้องกับความเห็นของ วิลเลียม ลีโอแกรนด์ ศาสตราจารย์ประจำอเมริกัน ยูนิเวอร์ซิตี ที่มองว่า การที่เรือรบรัสเซียไปเยือนคิวบา เป็นวิธีที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เตือนประธานาธิบดีไบเดนว่า รัสเซียสามารถท้าทายสหรัฐฯ ได้ แม้จะอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ตาม  นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงการวางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยตรรกะของสงครามเย็น

ในขณะที่รัสเซียส่งเรือดำน้ำไปเยือนชาติพันธมิตรของตนเองเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทหาร ด้านสหรัฐฯ ก็ได้เดินทางไปประชุมร่วมกับชาติพันธมิตรอย่าง G7 ที่ประเทศอิตาลี

เมื่อคืนที่ผ่านมา ผู้นำของสหรัฐฯ และชาติสมาชิก G7 ได้เดินทางถึงเมืองบรินดิซี ประเทศอิตาลี เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำของชาติกลุ่ม G7 ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้ตามเวลาบ้านเรา วาระสำคัญในการประชุมรอบนี้จะอยู่ที่ประเด็นการอายัดทรัพย์สินที่ถูกแช่แข็งของรัสเซียมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อมอบให้แก่ยูเครน รวมถึงประเด็นผู้อพยพ ประเด็นภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ และประเด็นความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ยังให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะลงนามในข้อตกลงทวิภาคีฉบับใหม่กับยูเครน ซึ่งว่าด้วยการมอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครนในระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี

ข้อตกลงทวิภาคีฉบับนี้ จะเน้นไปที่การสนับสนุนการฝึกทหารยูเครน การเพิ่มความร่วมมือด้านการผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์ การให้ความช่วยเหลือทางทหารอย่างต่อเนื่อง และการแบ่งปันข่าวกรองที่มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงฉบับนี้จะไม่ผูกมัดกับประธานาธิบดีคนต่อไป ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในวาระปี 2025-2029

ดูวอลเลย์บอลสด บัลแกเรีย พบ ไทย วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก VNL 2024 วันที่ 13 มิ.ย. 67

พยากรณ์ฝนล่วงหน้า เตรียมรับมือมรสุมกำลังแรงขึ้น 14-21 มิ.ย.

โปรแกรมบอลยูโร 2024 ทุกคู่ เวลาแข่งขัน EURO 2024

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ