“เศรษฐกิจกลางคืน” (Night-time Economy) ถือเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของหลายเมืองทั่วโลก ซึ่งเมืองจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังมุ่งเป้าหาวิธีที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจกลางคืนของตน
เศรษฐกิจกลางคืนมีอยู่หลากหลาย ทั้งธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร การบริการต่าง ๆ แต่เมืองส่วนใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งลอนดอน ซิดนีย์ และนิวยอร์ก ที่ขึ้นชื่อเรื่องไนต์ไลฟ์ ก็ยังไม่ได้เปิดให้บริการต่าง ๆ ตลอดคืน โดยไม่ได้อนุญาตให้บาร์และไนต์คลับเปิดทำการและเสิร์ฟแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีนี้ มอนทรีออล เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของแคนาดา กำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนเมืองให้สามารถเปิดบาร์-ไนต์คลับได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เช็กโปรแกรมกีฬาโอลิมปิก 2024 เวลาแข่งขัน Olympic 2024 วันที่ 6 ส.ค.67
เปิดประวัติ "บี" จันทร์แจ่ม นักมวยสากลหญิงไทย ในศึกปารีสเกมส์ 2024
ผ้าคลุมรถกันความร้อน และ 4 ไอเทมที่ช่วยทำให้รถดูสวยใหม่ตลอดเวลา
ปัจจุบัน บาร์และคลับในเมืองมอนทรีออลจะต้องปิดทำการภายในตี 3 แต่ภายใต้แผนการใหม่นี้ สถานที่ต่าง ๆ ในย่านกลางคืนแห่งใหม่ใจกลางเมืองมอนทรีออลจะได้รับอนุญาตให้เปิดทำการและเสิร์ฟแอลกอฮอล์ได้ตลอดคืน
เจ้าหน้าที่ของเมืองกล่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะนำมาซึ่งรายได้เพิ่มเติมหลายร้อยล้านดอลลาร์แคนาดา
หากสำเร็จ มอนทรีออลจะกลายเป็นเมืองแรกในแคนาดาที่อนุญาตให้ดื่มได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ในโตรอนโต สถานบริการต่าง ๆ จะต้องปิดทำการภายในตี 2 และในแวนคูเวอร์คือตี 3
ตัวอย่างจากประเทศอื่น เช่น ในสหรัฐฯ ที่ลาสเวกัสและนิวออร์ลีนส์ได้อนุญาตให้บาร์และคลับเปิดทำการได้ตลอดคืนมาเป็นเวลานานแล้ว ในขณะที่นิวยอร์ก เวลาปิดทำการคือตี 4 และในลอสแองเจลิสปิดตี 2
ส่วนผับในลอนดอนของอังกฤษมักจะปิดทำการเวลา 23.00 น. อย่างไรก็ตาม เมืองนี้มีไนต์คลับและบาร์จำนวนหนึ่งที่เปิดทำการตลอดคืน เนื่องจากกฎหมายการออกใบอนุญาตที่ยืดหยุ่น
เอริกกา อัลเนียส สมาชิกสภาเมืองมอนทรีออล ผู้ริเริ่มแผน 24 ชั่วโมง กล่าวว่า “นี่คือโอกาสสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ... และยังเป็นการนำเสนอและเสริมสร้างวัฒนธรรมของเราด้วย”
ในปี 2022 มูลค่าทางการเงินประจำปีของสถานบันเทิงยามค่ำคืนในมอนทรีออลประเมินว่ามีมูลค่า 2.25 พันล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 5.7 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าอัลเนียสหวังว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเมื่อสถานบริการต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการตลอดคืน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ นักเที่ยวกลางคืนรายหนึ่งบอกว่า “เราไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพียงพอ”
ส่วนพลเมืองอีกคนหนึ่งกังวลเกี่ยวกับผลกระทบในทางปฏิบัติ “เป็นเรื่องดีสำหรับคนที่ชอบปาร์ตี้ แต่รถไฟใต้ดินปิดตอนตี 1.30 น. ต้องหาวิธีให้ผู้คนสามารถกลับบ้านได้”
เซอร์จิโอ ดา ซิลวา เจ้าของบาร์ดนตรีสด Turbo Haus Club บนถนนเซนต์เดนิส ในย่านโอลด์มอนทรีออล บอกว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเพียงพอ “คุณไม่สามารถแค่พูดว่า 'นี่คือบาร์ 24 ชั่วโมง ลุยเลย!' มันยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยพิเศษ”
เขาเสริมว่า “นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของค่าครองชีพอีกด้วย หากผู้คนไม่มีเงินพอที่จะออกไปข้างนอก ไม่ว่าคุณจะกำหนดนโยบาย 24 ชั่วโมงอย่างไร ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อยู่ดี”
ขณะที่ มิเชล ลาวัลเล เจ้าของร้าน L'ile Noire ไม่เห็นด้วย เขามีมุมมองที่แตกต่างออกไป “ในมอนทรีออล เราปิดร้านตอนตี 3 แต่ผู้คนเมาตอนตี 1 และเมาจัดตอนตี 3”
เขาอธิบายว่า “ปัญหาอย่างหนึ่งที่เรามีคือ ช่วงเวลาตี 3 มันจะเป็นเหมือนกับความบ้าคลั่ง แต่ถ้าคุณขยายเวลาเปิดทำการ ปัญหาต่าง ๆ จะลดลง ความต้องการด้านความปลอดภัยก็จะน้อยลง”
อัลเนียสเห็นด้วย เธอกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าบาร์และคลับหลายแห่งต้องปิดทำการตอนตี 3 เป็นปัญหาสำหรับตำรวจ
เธอเชื่อว่าการอนุญาตให้ดื่มได้ตลอด 24 ชั่วโมงจะทำให้สถานบริการที่อาจไม่ได้อยากเปิดร้านทั้งคืนสามารถปิดร้านได้คนละเวลากัน การปิดร้านแบบสลับเวลาจะทำให้ “ย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนมีความปลอดภัยมากขึ้น”
ทั้งนี้ มอนทรีออลยังไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นสำหรับแผนการเปิดเมืองตลอด 24 ชั่วโมง อัลเนียสกล่าวว่า ตั้งใจว่าจะเปิดตัวในช่วงฤดูใบไม้ร่วง “เราพยายามเป็นผู้บุกเบิกและผลักดันสิ่งที่ทุกคนชื่นชอบ”
เธอเสริมว่า “มีสถานบริการ ศิลปิน ความคิดริเริ่ม และการแสดงในเวลากลางคืนที่ควรมีแสงสว่างส่องถึง เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง แต่ยังรวมถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของมอนทรีออลด้วย”
เรียบเรียงจาก BBC