เมื่อวันที่ 11 ต.ค. รัฐมนตรีอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ทางการอินโดนีเซียได้ขอให้อัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล และแอปเปิล (Apple) ช่วยปิดกั้น “Temu” ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนจากร้านค้าแอปพลิเคชันในประเทศ เพื่อไม่ให้สามารถดาวน์โหลดได้
การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของประเทศจากผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่ PDD Holdings เสนอขายใน Temu
รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร บูดี อารี เซเตียดี บอกว่า แม้ว่าทางการจะยังไม่พบธุรกรรมใด ๆ จากผู้อยู่อาศัยในอินโดนีเซียบนแพลตฟอร์มก็ตาม แต่ต้องการให้มีการปิดกั้น
โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Temu ได้กระตุ้นให้เกิดการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจต้นทุนต่ำของบริษัทในการส่งพัสดุไปยังลูกค้าจากจีนในหลายประเทศ
บูดีบอกว่า รูปแบบธุรกิจของ Temu ซึ่งเชื่อมโยงผู้บริโภคโดยตรงกับโรงงานในจีนเพื่อลดราคาอย่างมากถือเป็น “การแข่งขันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ”
เขาบอกว่า “เราไม่ได้ทำอย่างนี้เพื่อปกป้องอีคอมเมิร์ซ แต่เราปกป้องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีธุรกิจอีกหลายล้านแห่งที่เราต้องปกป้อง”
นอกจากนี้ ทางการอินโดนีเซียจะบล็อกการลงทุนใด ๆ ของ Temu ในอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นหากดำเนินการดังกล่าว แต่เบื้องต้นยังไม่พบความเคลื่อนไหวลักษณะนั้น
บูดียังกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีแผนที่จะขอบล็อก “Shein” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันด้วย
ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียบังคับให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย TikTok ปิดบริการอีคอมเมิร์ซในประเทศเมื่อปีที่แล้ว เพื่อปกป้องข้อมูลของผู้ค้าในท้องถิ่นและผู้ใช้
หลายเดือนต่อมา TikTok ตกลงที่จะซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน GoTo's ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย เพื่อเปิดอีคอมเมิร์ซใหม่
Google, Temasek Holdings บริษัทผู้ลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co. ระบุว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเป็นประมาณ 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (53 ล้านล้านบาท) ในปี 2030 จาก 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.05 ล้านล้านบาท) ในปี 2023
เรียบเรียงจาก Reuters