ย้อนรอย 13 ปีสงครามกลางเมืองซีเรีย สู่การล้มอำนาจตระกูล “อัล-อัสซาด”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ย้อนดูจุดเริ่มต้นสงครามกลางเมืองซีเรีย และเส้นทางตลอด 13 ปีจนสุดท้ายกลุ่มกบฏสามารถขับไล่ตระกูล “อัสซาด“ ออกไปจากอำนาจได้

การโค่นล้มประธานาธิบดีซีเรีย “บาชาร์ อัล-อัสซาด” ที่อยู่ในอำนาจมานานกว่า 24 ปีโดยฝีมือของกลุ่มพันธมิตรกบฏซีเรียภายใต้การนำของกลุ่มติดอาวุธ ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham) หรือ HTS ถือเป็นสถานการณ์โลกที่สำคัญซึ่งหลายฝ่ายไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะสำเร็จแบบสายฟ้าแลบขนาดนี้

แต่ที่ผ่านมา แผ่นดินซีเรียถูกฉาบไปด้วยหยดเลือดและหยาดน้ำตาของสงครามและการต่อสู้นานกว่า 13 ปี เรามาย้อนดูกันว่า “สงครามกลางเมืองซีเรีย” นี้เริ่มขึ้นได้อย่างไร และเกิดอะไรขึ้นบ้างกว่าจะมาถึงปัจจุบัน

คอนเทนต์แนะนำ
หัวหน้าหน่วยที่นำกำลังบุกรัฐสภาเกาหลีใต้ลั่น “พร้อมรับผิดชอบเต็มที่”
ฝ่ายค้านเกาหลีใต้เรียกร้องจับกุม ปธน. ปมใช้กฎอัยการศึก
ผู้นำซีเรียลี้ภัยไปรัสเซียหลังพ่ายกลุ่มกบฏ

ย้อนรอย 13 ปีสงครามกลางเมืองซีเรีย AFP/HO/SANA
บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย

“อัล-อัสซาด” ตระกูลผู้ปกครองซีเรียมากว่า 50 ปี

ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองซีเรีย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ซีเรียอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูล “อัล-อัสซาด” มาตั้งแต่ปี 1971 หรือ 53 ปีก่อน เมื่อ “ฮาเฟซ อัล-อัสซาด” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและมีความสนิทสนทกับสหภาพโซเวียต ได้ก่อการรัฐประหารชิงอำนาจจาก ซาลาห์ จาดิด และแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีคนที่ 18 ของซีเรีย

ฮาเฟซปกครองซีเรียด้วยระบอบเผด็จการและความรุนแรงนานเกือบ 30 ปี โดยไม่ยอมให้ใครเห็นต่าง และพร้อมปราบปรามขั้นเด็ดขาด เช่น ในปี 1982 ในเมืองฮามา เขาได้ส่งกองทัพและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองไปสังหารผู้ที่ต่อต้านเขาไปหลายพันคน

ฮาเฟซมีบุตรธิดา 5 คน ได้แก่ ลูกสาวคนโต “บุชรา”, ลูกชายคนโต “บาสเซล”, ลูกชายคนรอง “บาชาร์”, ลูกชายคนที่สาม “มาจิด” และลูกชายคนสุดท้อง “มาเฮอร์”

เดิมทีฮาเฟซกำหนดตัวบาสเซลไว้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจ ทำให้บาชาร์ศึกษาจักษุวิทยาในลอนดอน จนกระทั่งบาสเซลเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1994 ทำให้ฮาเฟซเลือกลูกชายคนรองอย่างบาชาร์เป็นผู้สืบทอดแทน

บาชาร์ได้รับความสนใจจากทั่วประเทศ และหันมาศึกษาวิทยาศาสตร์การทหาร และต่อมาได้เป็นพันเอกในกองทัพซีเรีย

หลังจากบิดาของเขาเสียชีวิต รัฐสภาซีเรียใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อลดอายุผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 40 ปีเหลือ 34 ปี ซึ่งเป็นอายุของบาชาร์ในขณะนั้น

ต่อมาบาชาร์ลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่ไม่มีคู่แข่งลงชิลตำแหน่งด้วยเลย ทำให้เขาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 19 ของซีเรีย

ในตอนแรก นักวิเคราะห์จำนวนมากในชาติตะวันตกรู้สึกยินดีกับประธานาธิบดีคนใหม่ เพราะเขาพรีเซนต์ตัวเองว่าเป็นผู้นำที่อ่อนวัยและมีชีวิตชีวา ซึ่งอาจนำไปสู่ระบอบการปกครองที่มีความก้าวหน้าและสายกลางมากขึ้น

แต่ความหวังของตะวันตกที่มีต่อซีเรียก็พังทลายลงเมื่อผู้นำคนใหม่รักษาความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมของประเทศกับกลุ่มก่อการร้าย เช่น ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์อย่างรวดเร็ว และจากนั้นบาชาร์ก็แสดงวิถีการปกครองด้วย “กำปั้นเหล็ก” ของเขาในลักษณะที่ไม่ต่างจากผู้เป็นบิดา

เตือนอย่าเพิ่งด่วนสรุป! ปม “น้องผิง” เสียชีวิตจากนวด แนะรอผลชันสูตรก่อน

ปธน.เกาหลีใต้ “ยุน ซอกยอล” เป็นผู้ต้องสงสัยฐาน “กบฏ-ใช้อำนาจในทางมิชอบ”

ผลตรวจยาเสพติดปาร์ตี้หนุ่มกล้ามโตทองหล่อ ครอบครองยา 31 คน เสพยา 66 คน

ย้อนรอย 13 ปีสงครามกลางเมืองซีเรีย AFP/LOUAI BESHARA
สงครามกลางเมืองซีเรียเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 ช่วงที่เกิดอาหรับสปริง

“อาหรับสปริง” จุดเริ่มต้นสงคราม

ในเดือน ธ.ค. 2010 เกิดขบวนการประท้วงที่เรียกว่า “อาหรับสปริง” (Arab Spring) เป็นคลื่นการลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอาหรับ

อาหรับสปริงเริ่มต้นในตูนิเซียเป็นที่แรก เกิดจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาการทุจริตและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

จากตูนิเซีย การประท้วงได้แพร่กระจายไปยังอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ลิเบีย อียิปต์ เยเมน ซีเรีย และบาห์เรน ก่อนจะขยายไปยังอีกหลายสิบประเทศ

อาหรับสปริงทำให้มีผู้นำถึง 4 คนถูกโค่นล้มอำนาจ ได้แก่ ไซน์ เอล อะบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย ในปี 2011, มูอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย ในปี 2011, ฮอสนี มูราบัก แห่งอียิปต์ ในปี 2011 และอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ แห่งเยเมนในปี 2012

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ประชาชนในโลกอาหรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ไม่พอใจรัฐบาลของตนเป็นทุนเดิมออกมาเคลื่อนไหว เกิดเป็นระลอกคลื่นของการต่อต้านครั้งใหญ่

ในส่วนของซีเรีย เกิดการประท้วงขึ้นในเดือน มี.ค. 2011 จากความไม่พอใจที่วัยรุ่น 15 คนถูกจับกุมและทรมานหลังก่อเหตุวาดกราฟิตีสนับสนุนอาหรับสปริง และหนึ่งในนั้นถูกทรมานจนถึงแก่ความตาย โดยที่เขาเป็นเด็กชายวัย 13 ปีเท่านั้น

การประท้วงในช่วงแรกเป็นการประท้วงโดยสันติ แต่รัฐบาลซีเรียของบาชาร์กลับปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย และถูกจับกุมอีกนับพันคน

การประท้อวงต่อต้านรัฐบาลซีเรียจึงยกระดับความรุนแรงขึ้น มีการก่อจลาจลและใช้อาวุธปะทะกับฝ่ายรัฐบาลจนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง เกิดกลุ่มกบฏหลายกลุ่มที่มีเป้าหมายล้มล้างการปกครองของตระกูลอัสซาด เช่น FSA ซึ่งเกิดจากทหารซีเรียที่แปรพักตร์ รวมถึง HTS ซึ่งเป็นผู้นำหลักในการโค่นล้มบาชาร์

HTS เริ่มรวมตัวกันในช่วงเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองซีเรีย เมื่อนักรบญิฮาดได้จัดตั้งกลุ่มนุสรา (Nusra Front) เพื่อต่อสู้กับกองกำลังที่สนับสนุนอัสซาด โดยใช้ยุทธวิธีก่อความไม่สงบและการโจมตีแบบพลีชีพ

ในช่วงแรก กลุ่ม HTS มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม ISIS รวมถึงกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่ในช่วงกลางปี ​​2016 กลุ่มนุสราพยายามตัดรากเหง้าของความเป็นกลุ่มหัวรุนแรงของตนออก โดยรวมกลุ่มกับกลุ่มอื่น ๆ หลายกลุ่มเพื่อก่อตั้งกลุ่ม HTS ย่างไรก็ตาม ประเทศตะวันตกยังคงถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย

HTS เคยประกาศว่า เป้าหมายหลักของพวกเขาคือ “ปลดปล่อยซีเรียจากระบอบการปกครองที่กดขี่นี้”

ตั้งแต่นั้นมา ซีเรียจึงตกอยู่ภายใต้ไฟสงครามกลางเมืองที่ทำลายล้างประเทศและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของกลุ่มหัวรุนแรง ISIS ขณะเดียวกันก็จุดชนวนให้เกิดสงครามตัวแทนระหว่างประเทศและวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน

ตั้งแต่นั้นมา กองกำลังของอัสซาดถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและทำร้ายพลเรือนอย่างโหดร้ายตลอดสงครามที่กินเวลานาน 13 ปี รวมถึงใช้อาวุธเคมีกับประชาชนของตนเองจนถูกนานาประเทศคว่ำบาตร

แต่บาชาร์ยังคงอยู่ในอำนาจมาได้ด้วยการสนับสนุนจากพันธมิตรอย่างรัสเซียและอิหร่าน เขาชนะเลือกซึ่งมีขึ้นทุก 7 ปีได้อย่างราบรื่นทุกครั้ง (ครั้งล่าสุดคือปี 2021) ท่ามกลางเสียงประณามจากชาติตะวันตกว่าเป็น “การเลือกตั้งที่ฉ้อโกง”

ความรุนแรงเต็มรูปแบบ

เมื่อกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มได้จัดตั้งกองกำลังกบฏขึ้น หลายกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ ทำให้ซีเรียเข้าสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ โดยฝ่ายกบฏสามารถยึดเมืองสำคัญ ๆ ทางตอนเหนือของประเทศได้ รวมถึงบางส่วนของเมืองอเลปโป ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของซีเรีย

เมื่อรัฐบาลซีเรียเสียดินแดนไปมากในปี 2013 กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนได้ส่งกองกำลังติดอาวุธมาสนับสนุนอย่างเปิดเผย ขณะที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) เองได้ส่งที่ปรึกษาทางทหารไปช่วยเหลือรัฐบาลของอัสซาดด้วย

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มรัฐอิสลามไอเอสและกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงอื่น ๆ เติบโตในหลายพื้นที่ของซีเรีย ในปี 2014 กลุ่มรัฐอิสลามอ้างสิทธิ์ในดินแดนของซีเรียไปมากถึง 1 ใน 3 โดยมีเมืองร็อกกาเป็นเมืองหลวงของกลุ่ม

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สงครามกลางเมืองซีเรียมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นการกระตุ้นให้กองทัพสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงโดยตรงเพื่อปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลามที่อยู่ในซีเรีย ในขณะเดียวกัน กลุ่มกบฏที่มีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลก็ถูกกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ บดบังอิทธิพลไปมากขึ้นเรื่อย ๆ

ช่วงปี 2015-2016 เริ่มมีการแทรกแซงทางทหารจากรัสเซียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏสายปลดปล่อยซีเรีย รัสเซียได้นำอาวุธและระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัยที่สุดบางส่วนมาใช้ ขณะที่บทบาทของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และอิหร่านก็เข้มข้นขึ้นเช่นกัน

ด้วยความช่วยเหลือจากรัสเซีย อิหร่าน และฮิซบอลเลาะห์ ทำให้กลุ่มกบฏสายปลดปล่อยซีเรียตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ อัสซาดสามารถยึดดินแดนคืนมาและรวมอำนาจควบคุมส่วนใหญ่ของประเทศไว้ได้

ณ สิ้นปี 2016 รัฐบาลซีเรียยึดเมืองใหญ่ๆ  คืนมาได้ รวมทั้งเมืองอเลปโป ตลอดจนพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วแนวด้านตะวันตกที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และในกลางปี ​​2018 รัฐบาลยังได้ยึดเขตชานเมืองเชิงยุทธศาสตร์รอบ ๆ ดามัสกัสคืนมาได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ที่ผ่านมา มีความพยายามทางการทูตเพื่อยุติสงครามกลางเมืองซีเรียมาโดยตลอด ทั้งในช่วงแรกที่นำโดยสหประชาชาติและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่การเจรจาที่เจนีวากลับล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในปี 2017 รัสเซียได้ริเริ่มโครงการเจรจาแยกต่างหาก โดยมีอิหร่านและตุรกีเป็นหุ้นส่วน ซึ่งรวมถึงการเจรจาที่อัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน และโซซีในรัสเซีย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ตลอด 13 ปีของสงครามกลางเมืองซีเรีย มีชาวซีเรียเสียชีวิตจากการสู้รบมากกว่า 465,000 ราย บาดเจ็บกว่า 1 ล้านคน และมีผู้พลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 12 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ

ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนหลั่งไหลเข้าสู่ตุรกี จอร์แดน เลบานอน แม้แต่อิรักและอียิปต์ รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในยุโรปหลายประเทศ ซึ่งวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยได้ทำให้เกิดปัญหาตามมาในประเทศเหล่านั้น

ขณะที่การทำลายล้างทั้งบ้านเรือน โรงเรียน ภาคธุรกิจ โรงพยาบาล ถนน และโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายสะสมโดยรวมไว้ที่หลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ย้อนรอย 13 ปีสงครามกลางเมืองซีเรีย AFP/OMAR HAJ KADOUR
กลุ่มกบฏโค่นล้มรัฐบาล บาชาร์ อัล-อัสซาด สำเร็จ

ปฏิบัติฟ้าแลบโค่นล้ม “อัสซาด”

จุดเริ่มต้นของจุดจบรัฐบาลอัสซาดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พ.ย. เมื่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านได้เปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ต่อกองกำลังฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล

การโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นที่แนวหน้าระหว่างเมืองอิดลิบซึ่งเป็นฐานสำคัญของฝ่ายต่อต้านและเมืองอเลปโปที่อยู่ใกล้เคียง และเพียง 3 วันต่อมา กองกำลังฝ่ายกบฏได้ยึดเมืองอเลปโปสำเร็จหลังเสียเมืองนี้ไปเมื่อ 8 ปีก่อน

จากนั้นกลุ่มกบฏได้เดินหน้ารุกคืบอย่างรวดเร็ว โดยภายในไม่กี่วัน พวกเขาสามารถยึดเมืองฮามาและฮอมส์ ซึ่งเคยได้รับฉายาว่า ไเมืองหลวงแห่งการปฏิวัติ” ในช่วงปีแรกของสงครามกลางเมืองได้ ต่อมาในวันที่ 7 ธ.ค. เมืองดาราก็หลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐบาลเช่นกัน

กองทัพซีเรียประกาศว่า “กำลังส่งกำลังไปประจำการและจัดทัพใหม่” ในเมืองสไวดาที่อยู่ใกล้เคียง แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่ดีขึ้นเลย และสุดท้ายในวันที่ 8 ธ.ค. กลุ่มกบฏบุกมาถึงเมืองหลวง กรุงดามัสกัส โดยที่บาชาร์ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปยังรัสเซีย ส่วนทหารซีเรียก็ไม่ได้ต่อสู้

นั่นทำให้กลุ่มกบฏซีเรียสามารถยึดเมืองหลวงมาได้อย่างราบรื่นและแทบไม่เสียเลือดเนื้อ ถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลอัสซาด ในปฏิบัติที่ใช้เวลาเพียง 13 วันเท่านั้น

ทำไมรัฐบาลอัสซาดพ่ายแพ้ง่ายดายขนาดนี้?

คาดว่าที่รัฐบาลของบาชาร์ถูกโค่นล้มได้ง่ายแบบนี้เป็นเพราะเดิมทีรัฐบาลกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีรายงานว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้ส่วนใหญ่จากการค้ายาเสพติดแคปตากอนซึ่งเป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ตัวของบาชาร์เองไม่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากประชาชนพบว่าการมีชีวิตรอดในประเทศนี้เป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ จนปรากฏภาพประชาชนออกมาแสดงความยินดีที่กลุ่มกบฏเป็นฝ่ายชนะ

ในด้านการทหารเองก็อ่อนแอมาหลายปีแล้ว และทหารส่วนใหญ่ไม่ต้องการสู้เอาชีวิตไปทิ้งเพื่อบาชาร์ จนมีรายงานว่าทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจละทิ้งตำแหน่ง ส่งมอบอาวุธ และหลบหนีไปก่อนที่ฝ่ายต่อต้านจะรุกคืบเข้ามา

หลายปีที่ผ่านมา บาชาร์พึ่งพาการสนับสนุนทางทหารจากรัสเซียและอิหร่านเป็นหลักในการรักษาอำนาจ แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัสเซียยังคงติดหล่มอยู่ในสงครามกับยูเครน ส่วนอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนก็ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของอิสราเอล ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าช่วยเหลือกองทัพซีเรียที่กำลังอ่อนแอได้ และนำมาสู่ความปราชัยในที่สุด

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera / CNN / New York Times / United States Institute of Peace

Bottom-BDMS Bottom-BDMS

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ