เมื่อ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ กรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย มีประชาชนรวมตัวกันที่มัสยิดอุมัยยะฮ์ หนึ่งในมัสยิดที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก เพื่อร่วมละหมาดวันศุกร์ครั้งแรกนับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบอัสซาด
โมฮัมเหม็ด อัล-บาชีร์ นายกรัฐมนตรีรักษาการซีเรีย เป็นผู้นำการละหมาด โดยกล่าวบทสวดที่เรียกร้องความเมตตาและความสามัคคี พร้อมระบุว่า ซีเรียควรเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและความเมตตา
หลังเสร็จการละหมาด ชาวซีเรียได้ออกมาเฉลิมฉลองที่จัตุรัสอุมัยยะฮ์ท่ามกลางบรรยากาศที่เหมือนกับงานรื่นเริง ผู้คนต่างโบกธงของฝ่ายต่อต้าน ร้องเพลงและตะโกนสโลแกนของการปฏิวัติ ร้านค้าต่าง ๆ ทาสีทับธงรัฐบาลซีเรียเดิมที่มีดาวสีเขียว 2 ดวง
ก่อนหน้านี้ อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-จอลานี ผู้นำกลุ่มกบฏ ซึ่งตอนนี้ได้ใช้ชื่อจริงว่า อาเหม็ด อัล-ชารา ได้ขอให้ชาวซีเรียออกมาฉลองชัยชนะของตามท้องถนน
แต่ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการเฉลิมฉลอง หลายครอบครัวยังคงค้นหาร่างของญาติที่หายตัวไปในเรือนจำในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ที่โรงเก็บศพแห่งหนึ่งในกรุงดามัสกัส หลายคนพยายามนำรูปมาดูเทียบกับศพที่อยู่ในถุงระหว่างตามหาญาติที่สูญหาย บางคนหาเจอ ขณะที่บางคนต้องผิดหวังกลับไปหลังไม่เจอเบาะแสใด ๆ ซึ่งโรงเก็บศพแห่งนี้เต็มไปด้วยศพที่ถูกขนย้ายมาจากเรือนจำเซดนายา ซึ่งเรียกขานกันว่าเป็นโรงเชือดมนุษย์
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ประจำซีเรียระบุเมื่อวานนี้ว่า จำนวนผู้สูญหายในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา คาดว่าอยู่ที่ 35,000 คน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ระบุว่าตัวเลขดังกล่าวอาจสูงกว่านี้มาก
ฝ่ายกบฏซีเรีย ซึ่งนำโดยกลุ่มฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม อดีตเครือข่ายของอัลกออิดะห์ ได้โค่นล้มการปกครองอันโหดร้ายยาวนานกว่า 50 ปี ของตระกูลอัสซาดเมื่อวันอาทิตย์ ส่งผลให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ต้องหลบหนีไปยังรัสเซีย
รัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่านที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายกบฏ ได้เริ่มต้นสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าขั้นตอนการสร้างสถาบันในซีเรีย ขณะที่ประชาคมโลกได้ตอบรับความเป็นไปได้ของการมีรัฐบาลใหม่ในซีเรียอย่างระมัดระวัง
โดยในวันเดียวกัน ตุรกีได้แต่งตั้งทูตประจำซีเรีย หลังปิดสถานทูตในกรุงดามัสกัสมานาน 12 ปี ขณะที่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของยุโรปกำลังพิจารณาการสร้างความสัมพันธ์ในระดับปฏิบัติงานกับผู้นำใหม่ของซีเรีย
ด้านผู้นำกลุ่ม G7 แสดงความหวังว่าซีเรียจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติและเป็นระเบียบ และเรียกร้องให้มีกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมทุกฝ่าย
ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนอิรักโดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้า เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีมูฮัมหมัด ชิอา อัล-ซูดานี เกี่ยวกับอนาคตของประเทศซีเรียที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะเดียวกัน จอร์แดน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรียที่เมืองอคาบา (Aqaba) วันที่ 14 ธ.ค. 67 ซึ่งจะมีนักการทูตระดับสูงจากหลายประเทศและหน่วยงานเข้าร่วม ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก เลบานอน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ ตุรกี สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ