วันที่ 29 ม.ค. เจ้าหน้าที่อินเดียเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7 ราย และได้รับบาดเจ็บประมาณ 10 คน จากเหตุเหยียบกันตายที่งานมหากุมภเมลา หรือเทศกาลอาบน้ำล้างบาปของชาวฮินดู ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย
ภาพจากโดรนแสดงให้เห็นผู้ศรัทธาหลายล้านคนมารวมตัวกันในช่วงก่อนรุ่งสางเพื่อลงอาบน้ำที่บริเวณซางกัม (Sangam) ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยมุนาและแม่น้ำสรัสวดี
ทั้งนี้ ชาวฮินดูเชื่อว่า วันที่ 29 ม.ค. ถือเป็นวันมงคลที่สุดในการอาบน้ำล้างบาป เนื่องจากปรากฏการณ์ที่ดาวเคราะห์ต่าง ๆ เรียงตัวกันอย่างผิดปกติในรอบ 144 ปี ทำให้มีผู้คนมารวมตัวกันหลักล้าน
วิดีโอและภาพถ่ายหลังจากเกิดเหตุเหยียบกันตาย แสดงให้เห็นศพถูกหามออกไปบนเปลหาม และผู้คนนั่งร้องไห้อยู่บนพื้น ขณะที่คนอื่น ๆ ก้าวข้ามข้าวของที่ผู้คนทิ้งไว้เพื่อพยายามหนีจากจุดแออัดที่มีการเหยียบกันตาย
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เหตุเหยียบกันตายเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (03.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) แต่ “ไม่ร้ายแรง” และไม่ทราบสาเหตุ
อย่างไรก็ตาม พยานบอกว่า ผู้ศรัทธาที่พยายามหนีออกจากงานกลับต้องพบกับการเหยียบกันอีกครั้งที่ทางออก จากนั้นพวกเขาจึงเดินกลับไปที่สะพานเพื่อหาทางออกอื่น แต่กลับพบว่าทางการสั่งปิดสะพานนั้น
ราวิน (สงวนนามสกุล) ผู้ศรัทธาที่เดินทางมาจากมุมไบเพื่อร่วมงานเทศกาลดังกล่าว กล่าวว่า “ผมเห็นคนจำนวนมากล้มลงและถูกฝูงชนเหยียบย่ำ ... เด็กและผู้หญิงจำนวนมากหลงทางและร้องขอความช่วยเหลือ”
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า กองกำลังปฏิบัติการพิเศษ (RAF) ได้ถูกส่งไปเพื่อควบคุมสถานการณ์แล้ว และกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี พูดคุยกับ โยคี อาทิตยนาถ มุขมนตรีรัฐอุตตรประเทศ และสั่งการให้มี “มาตรการช่วยเหลือทันที”
เทศกาลมหากุมภเมลาจะจัดขึ้นทุก ๆ 12 ปี ซึ่งปีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. หรือราว 2 สัปดาห์ก่อน มียอดผู้เข้าร่วมงานสะสมเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 148 ล้านคนแล้ว และคาดว่าในระยะเวลาของเทศกาลที่เหลืออีกประมาณ 1 เดือน จะมีนักท่องเที่ยวสะสมรวมทั้งหมดกว่า 400 ล้านคน
เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับฝูงชนจำนวนมาก รวมถึงเพิ่มการรักษาความปลอดภัยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเพิ่มรถไฟและรถบัสพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการใช้ซอฟต์แวร์ AI เพื่อจัดการฝูงชนอีกด้วย
ทั้งนี้ ในเทศกาลหมากุมภเมลาครั้งก่อนเมื่อปี 2013 ก็เกิดเหตุการณ์เหยียบกันตายในวันมงคลที่สุดของเทศกาลเช่นกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 36 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
เรียบเรียงจาก Reuters