ผู้บริหารคลองปานามาปัดไฟเขียวเรือรัฐบาลสหรัฐฯ แล่นผ่านฟรี

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ปานามาปฏิเสธ หลังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ อ้างว่า รัฐบาลปานามาไฟเขียวให้เรือรัฐบาลสหรัฐฯ แล่นผ่านคลองปานามาได้โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง

ปมร้าวระหว่างสหรัฐฯ และปานามา ส่อเค้าลุกลาม หลังเมื่อวันที่ 6 ก.พ. กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า รัฐบาลปานามาตกลงที่จะไม่เก็บค่าผ่านทางกับเรือของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านคลองปานามา เส้นทางขนส่งหลักของโลก ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณสหรัฐฯ ได้ปีละหลายล้านดอลลาร์

แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการคลองปานามา ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลปานามา ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเก็บค่าผ่านทางเรือของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ก็พร้อมเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง

คอนเทนต์แนะนำ
กองทัพอิสราเอลขานรับแผนสหรัฐฯ คุมฉนวนกาซาของ “ทรัมป์”
ม็อบบังกลาเทศ จุดไฟเผาบ้าน ครอบครัวอดีตนายกฯ
ยูเครนยอมรับ ขีปนาวุธเกาหลีเหนือในรัสเซีย “แม่นยำขึ้น”

ผู้บริหารคลองปานามาปัดไฟเขียวเรือรัฐบาลสหรัฐฯ แล่นผ่านฟรี Reuters/Reuters
เรือสินค้าแล่นผ่านคลองปานามา (แฟ้มภาพ)

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างภารกิจการเยือนอเมริกากลาง ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปานามา โฮเซ ราอูล มูลิโน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องคลองปานามาถูกทรัมป์หยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง หลังทรัมป์กล่าวหาว่า รัฐบาลปานามาเรียกเก็บค่าผ่านทางกับสหรัฐฯ มากเกินไป

เดือนที่แล้ว ทรัมป์ขู่ว่า หากปานามาไม่ปฏิบัติตามหลักการทางกฎหมายและเห็นแก่สหรัฐฯ จะยึดคืนคลองปานามากลับมาอยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯ อีกครั้ง

ที่ผ่านมา ผู้นำปานามาปฏิเสธคำขู่ยึดคลองของสหรัฐฯ และเน้นย้ำให้สหรัฐฯ เคารพในอธิปไตยและเอกราชของปานามาเหนือเส้นทางเดินเรือดังกล่าว

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้ขุดคลองปานามาเสร็จสิ้นเมื่อปี 1914 ก่อนที่จะส่งคืนให้แก่ปานามาอย่างสมบูรณ์ ภายใต้สนธิสัญญาเมื่อปี 1977 ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ จากพรรคเดโมแครต และทางการปานามา โดยสหรัฐฯ ได้ดำเนินการส่งมอบคลองแห่งนี้ให้แก่ปานามาในปี 1999 หลังผ่านพ้นช่วงเวลาที่ 2 ฝ่ายบริหารจัดการคลองร่วมกัน

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ