เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลเม็กซิโกได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ ซึ่งมีผลบังคับ “ห้ามขายอาหารขยะในโรงเรียนทั่วประเทศ” ท่ามกลางความพยายามในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและโรคเบาหวานในเด็ก
แนวปฏิบัติด้านสุขภาพซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว มีเป้าหมายโดยตรงที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีรสเค็มและหวาน ซึ่งเป็นอาหารหลักสำหรับเด็กนักเรียนชาวเม็กซิโกหลายชั่วอายุคน เช่น เครื่องดื่มผลไม้ที่มีน้ำตาล มันฝรั่งทอดกรอบ หนังหมูเทียม และถั่วลิสงเคลือบปรุงรสพริก
กระทรวงศึกษาธิการของเม็กซิโกประกาศว่า การห้ามขายอาหารขยะเป็นกฎหมายแล้ว โดยโพสต์ข้อความบน X ว่า “ลาก่อน อาหารขยะ!” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองสนับสนุนการรณรงค์ของรัฐบาลโดยปรุงอาหารเพื่อสุขภาพให้ลูก ๆ ของพวกเขา
มาริโอ เดลกาโด เลขาธิการกระทรวงสาธารณสุขเม็กซิโก กล่าวว่า “หลักการสำคัญประการหนึ่งของระบบโรงเรียนใหม่ของเม็กซิโกคือการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้การยอมรับนโยบายนี้”
ภายใต้กฎหมายใหม่ของเม็กซิโก โรงเรียนจะต้องเลิกใช้อาหารและเครื่องดื่มใด ๆ ก็ตาม ที่มีโลโก้คำเตือนสีดำที่ระบุว่ามีปริมาณเกลือ น้ำตาล แคลอรี หรือไขมันสูง
เม็กซิโกได้นำระบบการติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ที่บังคับใช้ดังกล่าวมาใช้ในปี 2020
กฎหมายใหม่นี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เช้าวันที่ 31 มี.ค. และยังกำหนดให้โรงเรียนต้องเสิร์ฟอาหารทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารขยะ เช่น ทาโก้ถั่ว และให้บริการน้ำดื่มธรรมดา
ยูนิเซฟระบุว่า เด็ก ๆ ในเม็กซิโกกินอาหารขยะมากกว่าที่อื่นในละตินอเมริกา โดยระบุว่า ปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็กเป็นปัญหาเร่งด่วนของเม็กซิโก โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและอาหารแปรรูปสูงคิดเป็น 40% ของแคลอรี่ทั้งหมดที่เด็ก ๆ บริโภคใน 1 วัน และตามสถิติของรัฐบาล เด็กเม็กซิโก 1 ใน 3 มีน้ำหนักเกินเหณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน
ตามกฎหมาย ผู้บริหารโรงเรียนที่ละเมิดคำสั่งดังกล่าวอาจต้องจ่ายค่าปรับจำนวนตั้งแต่ 545 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,500 บาท) ไปจนถึง 5,450 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 185,000 บาท)
อย่างไรก็ดี โรงเรียนหลายแห่งยังมีร้านขายอาหารขยะอยู่หน้าโรงเรียน ซึ่งกฎหมายนี้ยังไม่ครอบคลุม และยังไม่ชัดเจนในทันทีว่า รัฐบาลจะห้ามปรามร้านค้าเหล่านี้ได้อย่างไร
เรียบเรียงจาก Associated Press