พลเอก คาร์สเทน บรอยเออร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเยอรมนี (บุนเดิสแวร์) เปิดเผยกับสื่อต่างประเทศระหว่างการประชุมสุดยอดด้านกลาโหมที่สิงคโปร์ ว่า รัสเซียผลิตรถถังหลายร้อยคันต่อปี ซึ่งอาจนำไปใช้โจมตีกลุ่มประเทศบอลติกที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ภายในปี 2029 หรืออาจเร็วกว่านั้น
นายพลบรอยเออร์ยังยืนกรานว่า นาโตหรือองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนยังคงเป็นหนึ่งเดียวกันในสงครามในยูเครน
ความคิดเห็นของเขามีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดของชาติสมาชิกนาโตที่กรุงเฮกไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าพวกเขาจะหารือเกี่ยวกับงบประมาณด้านกลาโหมและหัวข้ออื่น ๆ
พลเอกบรอยเออร์กล่าวว่า นาโตกำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคามร้ายแรง” จากรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลา 40 ปีที่รับราชการทหาร
เขากล่าวว่า รัสเซียกำลังเสริมกำลังทหารในระดับมหาศาล โดยผลิตรถถังประมาณ 1,500 คันทุกปี “รถถังทุกคันไม่ได้ไปทำสงครามในยูเครน แต่ยังมีการส่งไปเก็บไว้ในคลังแสงและโครงสร้างทางทหารใหม่”
พลเอกบรอยเออร์ยังเสริมว่า รัสเซียยังผลิตกระสุนปืนใหญ่ 152 มม. จำนวน 4 ล้านนัดในปี 2024 และไม่ได้ส่งไปยูเครนทั้งหมดเช่นกัน
ตัวเลขดังกล่าวมาจากนักวิเคราะห์ของเยอรมนีและประเทศพันธมิตร
เขาบอกว่า รัสเซียมีเจตนาและการสะสมคลังแสง สำหรับการโจมตีสมาชิกรัฐบอลติกของนาโตในอนาคต “นี่คือสิ่งที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ในปี 2029 ดังนั้นเราต้องพร้อมภายในปี 2029 ถ้าคุณถามผมตอนนี้ ว่านี่เป็นการรับประกันว่าจะไม่เกิดเร็วกว่าปี 2029 หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ มันไม่ใช่ ดังนั้นเราต้องพร้อมต่อสู้ตั้งแต่คืนนี้”
หลายคนกลัวการโจมตีประเทศสมาชิกนาโตมานานแล้ว เนื่องจากอาจก่อให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกรายสำคัญของนาโต ภายใต้มาตรา 5 ของข้อตกลงนาโต การโจมตีประเทศสมาชิกใด ๆ ก็ตาม หมายความว่าสมาชิกอื่น ๆ จะต้องออกมาปกป้อง
พลเอกบรอยเออร์ระบุพื้นที่ที่เรียกว่า Suwalki Gap ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับลิทัวเนีย โปแลนด์ รัสเซีย และเบลารุส เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เปราะบางที่สุด “ประเทศบอลติกมีความเสี่ยงต่อรัสเซียมากใช่ไหม และเมื่อคุณอยู่ที่นั่น คุณจะรู้สึกได้จริง ๆ ในการเจรจาที่เรามีอยู่ที่นั่น”
พลเอกบรอยเออร์กล่าวว่า มุมมองของรัสเซียต่อสงครามยูเครนนั้นแตกต่างจากของฝ่ายตะวันตก โดยที่รัสเซียมองว่าสงครามเป็นเพียง “ความต่อเนื่อง” ของความขัดแย้งที่ใหญ่กว่า “ดังนั้นรัสเซียจึงพยายามหาทางเข้าไปในแนวป้องกันของเราและกำลังทดสอบมันอยู่”
เขายกตัวอย่างการโจมตีสายเคเบิลใต้น้ำในทะเลบอลติกเมื่อเร็ว ๆ นี้ การโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบขนส่งสาธารณะของยุโรป และโดรนที่ไม่ปรากฏชื่อซึ่งพบเห็นเหนือโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเยอรมนี
ดังนั้นสมาชิกนาโตจึงควรสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่ พลเอกบรอยเออร์บอกว่า “สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือต้องพยายามและบอกทุกคนว่า เราต้องเพิ่มกำลังพลให้มากขึ้น เพราะเราต้องการสิ่งนี้ เราต้องการสิ่งนี้เพื่อป้องกันตัวเอง และเพื่อเสริมสร้างการป้องปราม”
เมื่อถามถึงความสามัคคีของนาโต เนื่องจากฮังการีและสโลวาเกียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น พลเอกบรอยเออร์ยืนกรานว่า พันธมิตรยังคงแข็งแกร่ง
เขาบอกว่า การตัดสินใจของฟินแลนด์และสวีเดนที่จะเข้าร่วมนาโตไม่นานหลังจากสงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้น เป็นเรื่องที่ดีมาก “ผมไม่เคยเห็นความสามัคคีเช่นนี้มาก่อน” ในหมู่ประเทศต่าง ๆ และผู้นำทางทหาร
“พวกเขาทั้งหมดเข้าใจถึงภัยคุกคามที่กำลังเข้าใกล้นาโตในขณะนี้ ทุกคนเข้าใจว่าเราต้องพัฒนาแนวทางการยับยั้งไปสู่แนวทางการป้องกันร่วมกัน ซึ่งทุกคนเข้าใจดีถึงความเร่งด่วนนี้” พลเอกบรอยเออร์กล่าว
เรียบเรียงจาก BBC