คณะกรรมาธิการด้านสุขอนามัยของในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กำลังเสนอให้ขยายวันลาแต่งงานได้สูงสุดถึง 25 วันจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 5 วัน หรือเพิ่มขึ้น 400% และเพิ่มวันลาคลอดเป็น 150 วันจาก 60 วัน เพื่อหวังช่วยสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อการมีบุตรและกระตุ้นให้จำนวนประชากรของประเทศเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายวันลาพักหลังคลอดของพ่อให้หยุดงานในการดูแลแม่และเด็ก จาก 20 วัน เป็น 30 วัน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ชายมีบทบาทในการดูแลภรรยาหลังคลอด และสนับสนุนแนวคิดการร่วมกันเลี้ยงดูบุตร
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นขณะที่รัฐบาลจีนกำลังประสบปัญหาในการกระตุ้นอัตราเกิดของประชากรในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หลังจากที่จำนวนประชากรลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ในปี 2024 และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า สถานการณ์นี้จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
มณฑลเสฉวนถือเป็นพื้นที่ที่มีแนวคิดก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยก่อนหน้านี้ได้อนุญาตให้ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก (IVF) ได้ โดยในปี 2023 ได้ประกาศว่าบุคคลที่ยังไม่แต่งงานสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้เช่นเดียวกับคู่สมรส
อัตราการเกิดในจีนลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1980 ถึง 2015 รวมถึงการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกและการศึกษา รวมถึงความไม่แน่นอนของงานและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ในจีนจำนวนมากไม่ต้องการแต่งงานหรือมีครอบครัว
ส่งผลให้ในปี 2024 ทางการจีนได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมการมีบุตร เพื่อรับมือกับจำนวนผู้สูงอายุที่คาดว่าจะมีมากถึง 300 ล้านคนภายในทศวรรษหน้า หรือเท่ากับประชากรของสหรัฐฯ ทั้งประเทศ
ทั้งนี้ คู่แต่งงานกว่า 2.6 ล้านคู่ ยื่นเรื่องขอหย่าในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.1% จาก 2.59 ล้านคู่ในปี 2023