เชื่อว่าคนที่เลี้ยงสุนัขหลายคนคงเคยได้ยินมาว่า เจ้าของมักมีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนัขที่พวกเขาเลี้ยงไว้ รวมถึงลักษณะนิสัย เช่น นิสัยรักสงบ บุคลิกเข้ากับคนง่าย หรือแม้แต่ความดื้อรั้น
เรนาตา โรมา นักวิจัยศูนย์พฤติกรรมศาสตร์ ห้องปฏิบัติการ Pawsitive Connections มหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน บอกว่า ข้อสงสัยนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษามาเป็นเวลานาน ความคิดที่ว่าคนและสุนัขมีลักษณะคล้ายคลึงกันนั้นไม่ใช่เรื่องตลก ในความเป็นจริง นักวิจัยบางคนได้สำรวจคำถามนี้
การศึกษาล่าสุดจากนักวิจัยของสถาบันธรณีมานุษยวิทยามักซ์พลังค์ และภาควิชาจิตวิทยาทั่วไปและประสาทวิทยาการรู้คิด มหาวิทยาลัยฟรีดริช ชิลเลอร์ ได้รวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ 15 รายการที่ตรวจสอบความคล้ายคลึงกันระหว่างสุนัขกับเจ้าของ ทั้งในด้านรูปลักษณ์และบุคลิกภาพ
ในส่วนของบุคลิกภาพ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สุนัขและเจ้าของอาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เช่น ระดับของความเป็นคนเปิดเผย ความวิตกกังวล และการเข้าสังคม
ขณะที่ในด้านรูปลักษณ์ ดูเหมือนว่าบางคนจะเลือกสุนัขที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลือกสุนัขพันธุ์แท้ ที่น่าสนใจคือ ดูเหมือนว่าจะมีความเชื่อมโยงระหว่างความยาวผมของผู้หญิงกับความชอบสุนัขที่มีความยาวหูใกล้เคียงกัน ในขณะที่ผู้หญิงผมสั้นดูเหมือนจะชอบสุนัขพันธุ์หูสั้นมากกว่า
การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคัยเซอิกาคุอิน ชี้ให้เห็นว่า ความคล้ายคลึงกันระหว่างเจ้าของและสุนัขอาจสังเกตได้โดยเฉพาะในบริเวณดวงตา และการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างดัชนีมวลกาย (BMI) ของเจ้าของและระดับภาวะน้ำหนักเกินของสุนัข ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เหมือนกัน
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเหล่านี้ใช้วิธีการศึกษาด้วยการให้เจ้าของตอบแบบสอบถาม ซึ่งอาจทำให้บางคนโต้แย้งว่าผลการศึกษาวิจัยสะท้อนเพียงการรับรู้ของผู้ดูแลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้ทำการทดลองให้ผู้อสาสมัครที่ไม่เคยพบกับคู่สุนัขกับเจ้าของมาก่อน มาทำการจับคู่ภาพถ่ายของสุนัขและเจ้าของ โดยให้อิงจากความคล้ายคลึงที่รับรู้ได้
ที่น่าสนใจคือ อาสาสมัครส่วนใหญ่สามารถจับคู่เจ้าของกับสุนัขได้ถูกต้อง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความคล้ายคลึงกันอาจไม่ใช่แค่เรื่องของการรับรู้ของเจ้าของเท่านั้น
แต่ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น สมมติฐานหนึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติวิวัฒนาการของเรา เนื่องจากเรามักจะมองหาคนที่มีความคิดเหมือนกัน
โรมาบอกว่า ในบริบทของวิวัฒนาการ การอยู่ในกลุ่มที่เหนียวแน่นและคาดเดาได้จะช่วยเพิ่มความร่วมมือและการอยู่รอด รูปแบบเหล่านี้ยังคงส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น โดยส่งเสริมการเชื่อมต่อกับผู้คนที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกับค่านิยม พฤติกรรม หรือแม้แต่ลักษณะทางกายภาพของเรา และกลไกนี้อาจมีอิทธิพลต่อลักษณะของเรากับสุนัข
ความคล้ายคลึงกันยังสังเกตได้ชัดในผู้ที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์แท้ เนื่องจากผู้คนมักจะเลือกสายพันธุ์ที่มีพฤติกรรมบางอย่างที่ตรงกับตัวเอง และสุนัขพันธุ์แท้มีพฤติกรรมที่คาดเดาได้และเสถียรมากกว่าพันธุ์ผสม
โรมาเสริมว่า คำอธิบายอื่น ๆ สำหรับความคล้ายคลึงกันของสุนัขและเจ้าของอาจเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัข การควบคุมซึ่งกันและกัน การเสริมแรงทางพฤติกรรม และการเรียนรู้ผ่านการสังเกตและเลียนแบบ
ตัวอย่างเช่น ผู้คนอาจเสริมแรงพฤติกรรมบางอย่างในสุนัขตามความชอบหรือกิจวัตรของตนเอง โดยบางครั้งอาจไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ ในเวลาเดียวกัน การแลกเปลี่ยนทางอารมณ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขยังสามารถหล่อหลอมสภาวะทางอารมณ์ของกันและกันได้ตามเวลาที่ผ่านไป
ทั้งนี้ แม้ว่าบุคลิกของคนกับสุนัขจะไม่เหมือนกัน แต่ทั้งสองก็ยังสามารถเข้ากันได้อย่างลงตัว ลองนึกภาพสุนัขที่ขี้เล่นและกระตือรือร้น อาศัยอยู่กับคนที่เงียบ ๆ เก็บตัว พลังงานของสุนัขจะสามารถกระตุ้นให้คน ๆ นั้นกระตือรือร้นมากขึ้น
แม้ว่าบางครั้งคนกับสุนัขจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความเข้ากันได้อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับสุนัข ปัจจัยต่าง ๆ เช่น รูปแบบความผูกพันและลักษณะบุคลิกภาพของมนุษย์อาจมีความเกี่ยวข้องกันอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ความรู้สึกถึงความคล้ายคลึงกันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเสมอไป และอาจปรากฏขึ้นผ่านการควบคุมร่วมกันและการเสริมแรงซึ่งกันและกัน ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างมนุษย์ ในบริบทนี้ ความเข้ากันได้สามารถมีอยู่ได้ แม้ว่าคนกับสุนัขจะไม่เหมือนกันก็ตาม
โรมาบอกว่า เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ความคล้ายคลึงกันไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเราไว้ด้วยกัน แม้ว่าความคล้ายคลึงกันจะมีบทบาท แต่บางครั้งความผูกพันที่มีความหมายมากที่สุดอาจไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีสิ่งเดียวกัน สิ่งที่ดูเหมือนสำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน สนับสนุนกัน ยอมรับความแตกต่างที่อาจเกิดขึ้น และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
เรียบเรียงจาก The Conversation