NIA ดัน ธุรกิจอวกาศ-อากาศยานดันสตาร์ทอัพไทยสู่อุตสาหกรรมระดับโลก

เผยแพร่

NIA ผนึกกำลังพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศต่อยอดธุรกิจอวกาศและอากาศยาน ตั้งเป้าดันสตาร์ทอัพไทยสู่อุตสาหกรรมระดับโลก

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และไอโอที เทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรน วัสดุใหม่และนาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีชีวภาพ จึงได้พัฒนาโครงการ Space Economy: Lifting Off 2023

ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นกลไกสำคัญในอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานของประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และพันธมิตรจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ที่จะมาร่วมสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพให้สามารถต่อยอดทางธุรกิจและเติบโตในอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานในระดับโลก

จะเห็นได้ว่าการเร่งพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศและอากาศยาน เป็นกุญแจสำคัญหนึ่งที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมมูลค่าสูง และสร้างโอกาสให้กับสตาร์ทอัพไทยในการเติบโตสู่ตลาดโลก นอกจากโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานแล้ว เทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในอีกหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อาหาร เกษตรกรรม เหมืองแร่ทรัพยากรและพลังงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ฯลฯ

 

สำหรับโครงการ Space Economy: Lifting Off 2023 จัดต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 โดยเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพ นักวิจัย และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ระยะพัฒนาแนวคิดไปจนถึงระยะพัฒนาต้นแบบและระยะเติบโต ครอบคลุมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • Upstream สร้างดาวเทียม ดาวเทียมขนาดเล็ก อุปกรณ์และวัสดุหรืออื่นที่เกี่ยวข้อง
  • Downstream การนำข้อมูลจากอวกาศมาใช้ เช่น ด้านข้อมูลดาวเทียม การนำข้อมูลมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หรือทำนายสภาพอากาศ ฯลฯ
  • Aerospace อากาศยานไร้คนขับ การสร้างวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงโซลูชั่น เทคโนโลยี AI และการใช้ IoT ในอุตสาหกรรมการบิน
  • Others เทคโนโลยีอื่นๆ ที่อาจนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานได้

ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและเติมเต็มศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้ได้ขยายกรอบครอบคลุมทั้งกลุ่มเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน โดยเปิดรับทั้งสิ้น 10 ทีม ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงผู้ที่มีเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานหรือมีการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์แล้ว สำหรับผู้ที่ผ่านเข้าโครงการจะได้รับคำแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงได้รับคำแนะนำแบบทีมต่อทีมกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม พร้อมโอกาสทำงานและรับโจทย์จากหน่วยงานพันธมิตร และเชื่อมต่อกับนักลงทุนและภาคธุรกิจที่สนใจจะสร้างความร่วมมือเพื่อนำเทคโนโลยีไปประยุกต์และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ร่วมกัน สามารถสมัครร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ http://spaceeconomy.nia.or.th พร้อมกันนี้ ยังเตรียมพบกับงาน Open House สำหรับแนะนำโครงการฯ ได้วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ค NIA: National Innovation Agency, Thailand หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ดร. ณัฐกาญจน์ พรหมศิริ โทรศัพท์ 02-017-5555 ต่อ 544 มือถือ 097-161-5193

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ