นายชยุต พ่วงมหา เลขานุการโครงการเลิฟแคร์สเตชัน มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวถึง เหตุการณ์ระทึกขวัญและสร้างความเศร้าใจ หลังมีผู้ก่อเหตุยิงพารากอน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวได้ พบว่าเป็นเยาวชนชายอายุเพียง 14 ปี เท่านั้น และจากการเปิดเผยของตำรวจ ระบุว่า เขาสื่อสารจับใจความไม่ได้ และเมื่อมีการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เยาวชนรายนี้อยู่ระหว่างการรักษาโรคทางจิตเภทและยังมีพฤติกรรมที่ชื่นชอบอาวุธปืนด้วย
เช็กสถิติวอลเลย์บอลหญิงไทย ก่อนดวล ญี่ปุ่น รอบ 8 ทีมเอเชียนเกมส์ 2022
SMS แจ้งเตือนภัย ทำไมไทยยังไม่มี ?
เหตุการณ์นี้นำมาสู่การถกเถียง และตั้งคำถามมากมายจากสังคมโดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย อาทิ
• อายุแค่นี้ ทำไมโหดเหี้ยมทารุณขนาดนี้?
• เตรียมการมาอย่างดีหรือเปล่า ?
• พ่อแม่เลี้ยงมายังไง เด็กถูกกดดันจากครอบครัวหรือเปล่า
• ถึงเด็กจะติดเกม แต่ก็ไม่ควรโทษเกมหรือเปล่า?
ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้เราต้องกลับไปตั้งโจทย์ให้ถูกเพื่อแก้ไขกันที่ต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด เพื่อส่งเสริมและปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เกิดการตัดสินใจพลาดโดยลำพัง
นายชยุต กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีในรายงานข่าวที่ตำรวจทำการสอบสวน เรามองเห็นว่า คนรอบตัวรู้ถึงพฤติกรรมของเขาที่ต่างจากคนทั่วไปและเยาวชนในวัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมที่ชื่นชอบโอ้อวดการยิงปืนในกลุ่มไลน์ (ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีผู้ปกครองดูแลหรือไม่) การมีปืนไว้ในครอบครอง หรือการที่เขาเองกำลังรับการรักษาทางจิตเวชอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสจะกระทำความผิดได้
ข้อมูลจากแบบสังเกตผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีสัญญาณเตือน ได้แก่ 1. ขีดข่วน หรือ กรีดตัวเองเป็นรอยแผล 2. ส่งเสียงดังหรือตะโกนด่าผู้อื่นด้วยคำหยาบคายรุนแรง 3. ข่มขู่จะทำร้ายผู้อื่น 4. ทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ 5. พกพาหรือสะสมอาวุธโดยไม่สมเหตุสมผล และ 6. ทำลายสิ่งของจนแตกหัก โดยหากพบสัญญาณตั้งแต่ 1 ข้อขึ้นไป หมายถึง เขามีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดยคนใกล้ชิดไม่ควรมองข้าม หรือแม้กระทั่ง นอนน้อย นอนดึก นอนไม่พอ กินเยอะ กินน้อย กว่าปกติ อันนี้เป็นสิ่งที่คนใกล้ชิดสังเกตง่ายที่สุด
“บางทีถ้าพ่อแม่ ครู เพื่อนทั้งออฟไลน์ และ ออนไลน์ ควรร่วมกันสังเกตพฤติกรรมคนที่เราใกล้ชิด ถ้าพบเห็นหรือตั้งข้อสงสัยไม่สบายใจ ว่าลูกเรา เพื่อนเรา น้องเรา ลูกศิษย์เรา ทำไมมีพฤติกรรมที่เรารู้สึกเป็นห่วง หรือ ถ้ารู้สึกได้ว่าเขามีความผิดปกติต่างไปจากเด็กวัยเดียวกัน ไม่ควรมองข้าม เราสามารถขอรับคำปรึกษาจากหน่วยบริการสุขภาพจิต หรือสามารถขอรับคำปรึกษากับเลิฟแคร์สเตชันได้เช่นกัน” นายชยุต กล่าว
นายชยุต เล่าว่า มูลนิธิแพธทูเฮลต์เอง เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะการเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นยังมีจำกัด จึงได้ดำเนิน “โครงการเลิฟแคร์สเตชัน” เปิดพื้นที่ให้คำปรึกษาเด็กและเยาวชนในระบบออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.lovecarestation.com รวมถึง Facebook Messenger และ Line OA โดยมีการให้คำปรึกษาทุกปัญหาที่เจอในชีวิตเด็กและเยาวชน โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้ง จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรม เป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษา โดยไม่มีการเปิดเผยตัวตน ชื่อ ใบหน้าของผู้ที่เข้ามาใช้บริการเลย ซึ่งทำให้เลิฟแคร์สเตชันเป็น “พื้นที่ปลอดภัยและเป็นมิตร” ให้เข้ามาพูดคุยอย่างสบายใจ ทำให้เขากล้าที่จะบอกเล่าความรู้สึก ระบายความในใจ บอกถึงปัญหาที่กำลังเผชิญได้อย่างไม่มีกำแพงกั้น ซึ่งเราเชื่อว่าการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จะส่งผลให้เด็กและเยาวชนสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญโครงการนี้ดำเนินการมา 16 ปี มีเด็กและเยาวชนเข้ารับคำปรึกษามากกว่า 2,000,000 คน เราช่วยชีวิตเด็กผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมราว 3,000 คนต่อปี ช่วยลดการทำแท้งเถื่อนได้ลงราว 1 ใน 5 และช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างถูกวิธีให้แก่วัยรุ่นกว่า 1,500 คนต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
โดยสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการร่วมแก้ปัญหาสุขภาวะของพวกเขาอย่างเข้าใจ เข้าถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม https://taejai.com/th/d/lovecarestation_ch/ ซึ่งท่านไม่ได้ช่วยแค่ให้โครงการของเราดำเนินการต่อไปได้เท่านั้น แต่ท่านยังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องเด็กและเยาวชน หยิบยื่นคุณภาพชีวิตที่ดี ให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ร่วมพัฒนาสังคมไทยของเราอย่างยั่งยืนต่อไป
ค้นบ้านเด็กก่อเหตุยิงกลางพารากอน พบปืนบีบีกัน-กระสุนเพียบ!
ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดอ่อนค่าลงอีก 37.11 จากดอลลาร์แข็ง-ฟันด์โฟลว์ไหลออก
เว็บบล็อกเผย "LINE" นิยมใช้เพียง 3 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น