วันนี้ (26 มีนาคม 2568) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยสถิติการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ว่า ตามที่ในช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงฤดูที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในรอบปีนั้น สำหรับปี 2568 จากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 4.32 ล้านราย MEA คาดการณ์ค่าพีคในระบบจำหน่ายของ MEA ไว้ที่ 9,977 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากค่าสูงสุดของปี 2567 เท่ากับ 174 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 1.77% จากปี 2567 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง ประกอบกับสภาพอากาศร้อนเป็นอย่างมาก ตามการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยอุณหภูมิสูงที่สุดจะอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส (ทั้งนี้ MEA รายงานความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดปี 2568 จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงสุด 36.6 องศาเซลเซียส เวลา 15.30 - 16.00 น. ที่ 8,758.63 เมกะวัตต์)
ในขณะที่หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ทั้งหมดของปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 57,212.35 ล้านหน่วย หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 2.13% จากปี 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า และการเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ส่วนต่อขยายสายสีชมพู อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หรือการผลิตไฟฟ้าใช้เองของผู้ใช้ไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar rooftop)
ผู้ว่าการ MEA กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยสาเหตุการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นในช่วงฤดูร้อน MEA จึงมีการเตรียมพร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้สนับสนุนระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอ ต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวใจสำคัญอย่างศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่คอยควบคุมดูแลการจ่ายไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือซึ่งก็คือ ระบบ SCADA/EMS/DMS (Supervisory Control and Data Acquisition/ Energy Management System/ Distribution Management System) ติดตั้งใช้งานที่ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งสองแห่ง (ชิดลม และแจ้งวัฒนะ) ทำหน้าที่เป็นระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ในการตรวจสอบสถานะ ตลอดจนวิเคราะห์การทำงานของระบบควบคุมแล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบอย่างรวดเร็วแบบ Real time มีระบบ Fault Location, Isolation & System Restoration (FLISR) ที่ช่วยให้พนักงานศูนย์ควบคุมระบบจําหน่ายใช้ในการตรวจสอบและระบุตําแหน่งเหตุผิดปกติ และสามารถแนะนําขั้นตอนการสลับแหล่งจ่ายไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาและกู้คืนระบบให้กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ได้รับมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัย NERC CIP (North American Electric Reliability Corporation Critical Infrastructure Protection) เป็นมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยในกลุ่มพลังงานไฟฟ้าที่นำไปใช้ในการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านสินทรัพย์สารสนเทศที่สำคัญต่อเสถียรภาพของระบบการจ่ายไฟฟ้า รองรับโครงการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าทั้งระบบสายส่ง อากาศ และสายส่งใต้ดิน ครอบคลุมการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ เพื่อพัฒนาระบบการจ่ายไฟให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น
MEA ยังพัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุผ่าน MEA Smart Life Application ที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและใช้ในการถ่ายภาพ แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้รวดเร็ว พร้อมเชื่อมโยงกับระบบแผนที่ GIS ของ MEA ที่มีความแม่นยำ ทำให้ระบบสามารถแจ้งเตือนไปถึงเจ้าหน้าที่ MEA ให้สามารถเข้าไปแก้ไขระบบไฟฟ้าในพื้นที่ได้ทันที ภายใต้ชื่อระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า FFM (Field Force Management) อีกทั้งมีการนำ Software ที่ใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูลอุปกรณ์ไฟฟ้าและบริหารจัดการงานบำรุงรักษาด้วยคอมพิวเตอร์ หรือระบบ Computerized Maintenance Management System (CMMS) มาช่วยสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานบำรุงรักษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยคำนวณต้นทุนในการซ่อมแซม การพยากรณ์อายุการใช้งานของอุปกรณ์ระบบจำหน่าย ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุปกรณ์ชำรุด ลดจำนวนครั้งและระยะเวลาไฟฟ้าดับในระบบจำหน่ายไฟฟ้า ยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการด้านระบบไฟฟ้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทาง Line: MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการ หรือติดต่อ MEA Call Center 1130 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง