ส่องกฎหมายทำแท้งทั่วโลกรวมถึง “ไทย”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ส่องกฎหมายทำแท้งทั่วโลก พบมี 5 ประเทศจาก 202 ประเทศ ในทางกฎหมายระบุเอาไว้ว่าการทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในทุกกรณี ขณะที่ไทยสามารถทำได้หากมีเหตุผลด้านสุขภาพ ส่วนอีก 67 ประเทศทำได้โดยเสรีเมื่อมีคำร้องขอ (On Request) โดยมีรายละเอียดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุประเภทของการแท้งว่า

  1. ห้ามทำแท้งทุกกรณี
  2. ทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต
  3. ทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต หรือ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของมารดา
  4. ทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต หรือ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของมารดา หรือ เป็นครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืน/เพศสัมพันธ์ในครอบครัว
  5. ทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต หรือ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของมารดา หรือ เป็นครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืน/เพศสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ ทารกที่จะเกิดมามีความพิกลพิการ
  6. ทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต หรือ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของมารดา หรือ เป็นครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืน/เพศสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ ทารกที่จะเกิดมามีความพิกลพิการ หรือ กรณีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของมารดาไม่ดี
  7. ทำแท้งได้ตามคำร้องขอ (On Request)

ใน 7 ประเภทนี้ ไทยอยู่ในประเภทที่ 5 คือ ทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต หรือ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของมารดา หรือ เป็นครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืน/เพศสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ ทารกที่จะเกิดมามีความพิกลพิการ

สตรีตั้งครรภ์ทั่วโลกเลือกทำแท้งถึง 1 ใน 4 (คลิป)

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สามารถทำแท้งได้ตามคำร้องขอ (On Request) ข้อมูลจาก ศูนย์สิทธิการเจริญพันธุ์ (Center of Reproductive Rights) ระบุว่ามีอยู่ 67 ประเทศด้วยกัน เช่น ออสเตรเลีย (แล้วแต่รัฐ) เบลเยียม กัมพูชา (ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง) จีน (ยกเว้นการทำแท้งเพื่อกำหนดเพศ) เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี เนปาล นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน เวียดนาม เป็นต้น

ทั้งนี้ การทำแท้งตามคำร้องขอนี้หมายความถึงการทำแท้งกับสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากทำแท้งเถื่อน ก็ยังนับว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่ดี และแต่ละประเทศก็จะมีอายุครรภ์ที่รับทำแท้งแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ไม่เกิน 8 สัปดาห์ จนถึง ไม่เกิน 24 สัปดาห์

WHO ยังบอกด้วยว่า จำนวนการทำแท้งทั่วโลกลดลงเนื่องจากการเข้าถึงการคุมกำเนิดที่เพิ่มขึ้น และเกือบ 2 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกในปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศที่สามารถเข้ารับการทำแท้ง เนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพ สังคมเศรษฐกิจ หรือเหตุผลส่วนตัว

5 จาก 202 ประเทศทั่วโลก “ทำแท้งผิดกฎหมายทุกกรณี”

ปัจจุบันมีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นจาก 202 ประเทศทั่วโลก ที่ในทางกฎหมายระบุเอาไว้ว่าการทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในทุกกรณี ประกอบไปด้วย

3 ประเทศในละตินอเมริกา คือ สาธารณรัฐโดมินิกัน เอลซัลวาดอร์ และนิการากัว อีก 2 ประเทศในยุโรป คือ นครรัฐวาติกัน และมอลตา แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ มอลตาอนุญาตให้สามารถทำแท้งเพื่อช่วยชีวิตได้

เอลซัลวาดอร์ บทลงโทษทำแท้งรุนแรงที่สุด

ในส่วนของบทลงโทษหนึ่งประเทศที่ได้ชื่อว่ามีกฎหมายลงโทษการทำแท้งที่รุนแรงที่สุดคือ เอลซัลวาดอร์ ตามประมวลกฎหมายอาญา (1997), กฎหมายกฤษฎีกา 1030 วันที่ 26 เมษายน 1997, หมวด 2 อาชญากรรมเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ในทุกรูปแบบ มาตรา 133 – 137

ตัวอย่างเช่น มาตรา 133 ผู้ใดที่ทำแท้งแก่หญิงที่ยินยอม หรือ หญิงที่ทำแท้งด้วยตัวเอง หรือ หญิงที่ยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งให้ มีโทษจำคุก 2-8 ปี

ขณะเดียวกัน มีตัวเลขสถิติจาก สภาวิเทศสัมพันธ์ (Council on Foreign Relations, CFR) ว่า ในช่วงปี 2000-2011 มีผู้หญิงถูกฟ้องคดีทำแท้งเกือบ 130 ราย มีอย่างน้อย 13 รายที่ต้องโทษจำคุก (ใน 13 รายนี้มีบางรายต้องโทษจำคุกมากกว่า 10 ปี)

สำหรับประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนกฎหมายการทำแท้งนั้น มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญตั้งแต่ปี 1994 (พ.ศ.2537) เป็นต้นมา บนเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development :  ICPD) ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ทำให้หลายประเทศมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งแต่ มี 2 ประเด็นน่าสนใจในช่วงระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา (1994-2019) คือ

15 ประเทศ ที่เปลี่ยนกฎหมายจากประเภท 1-6 มาเป็นประเภทที่ 7 คือทำแท้งได้ตามคำร้องขอ ได้แก่ อัลแบเนีย กัมพูชา ไซปรัส กายอานา ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มัลดีฟส์ โมซัมบิก เนปาล โปรตุเกส เซาตูเมและปรินซิปี แอฟริกาใต้ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย

และ 18 ประเทศ ที่ยกเลิกกฎหมายในระดับห้ามทำแท้งโดยเด็ดขาดมาเป็นประเภทที่ 2-7 ได้แก่ เปลี่ยนจากห้ามเด็ดขาดมาเป็นตามคำร้องขอ เนปาล และเซาตูเมและปรินซิปี เปลี่ยนจากห้ามเด็ดขาดมาเป็นแบบเดียวกับประเทศไทย แองโกลา บูร์กินาฟาโซ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง โคลอมเบีย คองโก เอสวาตีนี เลโซโท มอริเชียส โมนาโก ไนเจอร์ และโทโก และเปลี่ยนจากห้ามเด็ดขาดมาเป็นทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต ภูฏาน ชิลี อิหร่าน ไมโครนีเซีย โซมาเลีย

วันแห่งประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ !! ลงมติล้มกฎหมายห้ามทำแท้ง

ส่วนประเทศไทยในปัจจุบัน การทำแท้งจัดอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จัดอยู่ในประเภทที่ 5 ทำแท้งได้เฉพาะกรณีมีอันตรายต่อมารดาถึงชีวิต หรือ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของมารดา หรือ เป็นครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืน/เพศสัมพันธ์ในครอบครัว หรือ ทารกที่จะเกิดมามีความพิกลพิการ อย่างที่กล่าวไป

แต่ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และต้องติดตามกันต่อไปว่า จากมติให้แก้ไขกฎหมายการทำแท้งของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้กฎหมายทำแท้งของไทยจะเป็นไปในทิศทางใด

ที่มา: Center of Reproductive Rights / World Health Organization / Council on Foreign Relations

ขอบคุณรูปภาพจาก AFP

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ