ไขข้อสงสัยทำไม GPS พาหลงทาง?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หากใครได้เห็นภาพรถยนต์ที่ขับเข้าไปในทางที่เห็นแล้วไม่น่าที่จะขับเข้าไปได้ก็คงอดแปลกใจไม่ได้ว่า... แล้วขับเข้าไปทำไม ?

คำตอบ คือ ก็เชื่อมั่นใน GPS ไงหล่ะ!

วานนี้ (2เม.ย.59) ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เรารักด่านตรวจ”  ได้โพสต์รูปรถยนต์คันหนึ่งที่เชื่อใจ GPS จนขับเข้าไปในทางแคบๆ สุดท้ายต้องใช้รถเครนมายกรถยนต์ออก พร้อมคำบรรยายภาพ “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ GPS (พี่ก็ยังกล้าขับเข้าไปนะ)สถานที่ : ทางเดินริมคลองพระอุดม จ.นนทบุรี

เหตุการณ์วางใจ GPS จนทุกข์ใจไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หากลองค้นหาคำว่า “ประสบการณ์จาก GPS” ในเสิร์ชเอนจิ้นอย่าง Google สิ่งที่พบไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะมีผลลัพธ์ในการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 654,000เรื่อง ขอยกตัวอย่างที่อ่านแล้วแสบๆ คันๆ มาให้อ่านพอเป็นน้ำจิ้ม

เริ่มจากหัวข้อ “ใครมีประสบการณ์ที่GPS นำทางผิด ๆ มาแชร์กันบ้างมั้ยครับ” โพสต์ในเว็บไซต์พันทิป โดย aoopee เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 เวลา 23:34 น. สรุปใจความได้ว่า เจอฤทธิ์ GPS ตอนนำทางไปตลาดน้ำลำพยา นครปฐม โดยมีน้องชายนั่งมาด้วย และไม่รู้จักทาง เลยใช้ GPSนำทาง ตอนปากทางเข้าตามที่ GPS ระบุ เห็นรถพ่อค้าแม่ค้าก็ว่าใช่แน่ ขับตามท้ายรถพ่อค้า เห็นว่าเขาขับช้า แถมมั่นใจในGPS เลยขับแซง แล้วGPS บอกให้เลี้ยวซอยนึง ตอนแรกรู้สึกแปลกๆ ว่าทำไมถนนเข้าตลาดน้ำถึงเล็ก แถมไม่มีรถเข้า-ออกชุกชุม พอไปซักพักGPS บอกให้เลี้ยวตรอกเล็ก ๆ เลยไม่มั่นใจขับเลยไป GPS บอกให้กลับรถเลี้ยวเพื่อจะเข้าตรอกนั้น เราเลยเข้าไปดู ที่ไหนได้ผมถึงกับอึ้งปนขำ มันให้ขึ้นสะพานคนเดินเล็ก ๆ แล้วรถตูมันจะข้ามยังไง สุดท้ายเลยออกมาจะตรอกที่มันให้เลี้ยว แล้วใช้วิธีโบราณคือถามชาวบ้านเอาครับ เค้าบอกต้องขับไปตามเดิมซัก 5 กิโลเมตร แล้วจะมีสะพานรถข้ามอีกที่ ผมเลยทำตามก็เริ่มเห็นรถเรื่อย ๆ ใจชื้นขึ้น จนถึงตลาดในที่สุด แถมยังเห็นรถพ่อค้าที่แซงมาจอดเรียบร้อยแล้ว ยังบอกน้องที่มาด้วยเลยว่า รู้งี้ไม่แซง ขับตามเขาถึงเร็วกว่า GPS นำซะอีก

อีกครั้งกับน้า ไปส่งญาติอีกคนที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ขับไปตามทางหลัก แล้วแยกไปใช้เส้นบึงบอระเพ็ด จนส่งถึงชุมแสงเสร็จโดยอย่างสบาย จากนั้นใช้ GPS นำทางขากลับ แทนที่จะนำทางกลับเส้นบึงบอระเพ็ดที่เดิม GPS กลับนำเข้าป่าเข้าดง เส้นทางแปลก กลางทุ่งบ้าง แล้วไปโผล่ เก้าเลี้ยว เพื่อใช้ถนน 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก กลายเป็นอ้อมไกลกว่าเดิม แถมต้องมาข้ามสะพานเดชาติวงศ์ให้รถติดหนักกว่าเดิมอีก สุดท้ายเลยกลับถึงบ้าน กทม. ตี 2 หลังๆ ผมเลยใช้วิธีดูแผนที่ แล้วจำเอาบนทางหลัก ยกเว้นที่ไม่รู้จักจึงใช้ GPS  

อีกตัวอย่างกับหัวข้อ ใครเคยเจอ GPS มั่ว พาไปหลง ไปทางไม่ดีบ้างครับ หรือผมเจออยู่คนเดียวนะ ???” โพสต์ในเว็บไซต์พันทิปโดย nunonuix  เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2556 เวลา 15:43 น. ใจความว่า ผมใช้  GPS ยี่ห้อ ก.ม. ได้แถมมากับรถ มันมั่วจริงๆ ผมเจอบ่อยๆ บางที พาลัดเลาะไปทางที่ๆ เค้าไม่ไปกัน บางทีทางเปลี่ยว ทางตัน ทางเป็นหลุมเป็นบ่อก็มี ไม่รู้มันคำนวณทางจากอะไร ฝากเตือนทางที่ไม่คุ้น ไม่เคยไป อย่าเชื่อมันมาก โดยเฉพาะกลางคืนอาจหลง หรือไปทางเปลี่ยวได้ อันตรายมาก แนะนำควรดูแผนที่ทางหลวง หรือเปิด google mapประกอบด้วยน่าจะดีกว่านะครับ

GPS (Global Positioning System) หรือ "จีพีเอส" ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก ซึ่งเป็นระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก โดยอาศัยการคำนวณจากความถี่สัญญาณนาฬิกาที่ส่งมาจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกซึ่งทราบตำแหน่ง ทำให้ระบบนี้สามารถบอกตำแหน่ง ณ จุดที่สามารถรับสัญญาณได้ทั่วโลก โดยเครื่องรับสัญญาณ GPS รุ่นใหม่ๆ จะสามารถคำนวณความเร็วและทิศทางนำมาใช้ร่วมกับโปรแกรมแผนที่ เพื่อใช้ในการนำทางได้ข้อมูลตามที่เว็บไซต์วิกิพีเดียอธิบายไว้

อ่านการทำงานของ GPS แล้วช่างเลิศเลอ แต่! ทำไมถึงพาหลงทาง?

นายวิชัย แสงหิรัญวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลบเทค จำกัด ซึ่งทำแผนที่นำทางประเทศไทยมากว่า 30 ปี ภายใต้แบรนด์ NOSTRA กล่าวถึงกรณีข่าวที่กำลังแชร์ภาพกันสนั่นโลกออนไลน์ว่า GPS พาหลงทาง ว่า จริงๆ แล้วการใช้งานระบบนำทางเราเรียกว่า “เนวิเกเตอร์” ส่วนGPS เป็นเพียงระบบที่ใช้รับ-ส่งสัญญาณ โดยระบบนำทางจะมีหน่วยประมวลผล(ชิพ)และเครื่องรับGPS เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณดาวเทียมเป็นตำแหน่งบนโลก

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ระบบนำทาง  หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า GPSทำงานผิดเพี้ยนไป นายวิชัย กล่าวว่า มีอยู่ 4ปัจจัย ได้แก่ 1.สภาพอากาศ เนื่องจากการรับส่งสัญญาณ ข้อมูลจะรับ-ส่งผ่านสัญญาณวิทยุ ดังนั้น หากสภาพอากาศไม่ดี อยู่ในที่อับ เช่น อยู่ในเมืองล้อมรอบด้วยตึกสูง ใต้ทางด่วน โทลเวย์ ตำแหน่งที่รับมาและแปลค่าอาจผิดไปจากตำแหน่งจริงหลายเมตร ทำให้ตำแหน่งปัจจุบันผิดไป ซึ่งจะทำให้การนำทางผิดเส้นทางไปได้

ปัจจัยที่ 2 คือ ซอฟต์แวร์ หมายถึง แอพพลิเคชั่นที่เขียนมีความเก่งกาจมากเพียงใดในการระบุตำแหน่ง โดยการใช้งานระบบนำทาง ผู้ใช้งานต้องตั้งค่าการใช้งานให้ชัดเจน เช่น ตั้งให้ค้นหาเส้นทางที่รถยนต์สามารถผ่านได้ เนื่องจากในระบบนำทางจะมีเส้นทางทุกเส้นทางสัญจร ทั้งคนเดินได้ รถจักรยานยนต์ผ่านได้ และรถยนต์ผ่านได้ ซึ่งการตั้งค่านอกจากการระบุเส้นทางการใช้งานแล้ว ยังมีการตั้งค่าให้ไปถึงจุดหมายโดยใช้ระยะทางที่สั้นที่สุด ซึ่งบางครั้งเส้นทางนั้นรถยนต์อาจจะไปได้ แต่ไม่สะดวก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่แคบหรือรถติด การตั้งค่าการเดินทางควรตั้งแบบให้รถยนต์วิ่งและระยะเวลาที่เร็วที่สุด

ปัจจัยที่ 3 คือ เนื้อหาของแผนที่ต้องมีการอัพเดทและมีข้อมูลที่ละเอียด โดยระบุชัดเจนว่าเส้นทางนี้ให้คนเดิน เส้นทางนี้สำหรับรถเล็กวิ่งผ่าน หรือเส้นทางนี้สำหรับรถใหญ่วิ่งผ่าน ซึ่งการอัพเดทแผนที่ทางบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ระบบนำทาง จะแจ้งให้ผู้ใช้งานที่ซื้อไปทำการอัพเดทแผนที่อยู่เสมออาจจะอัพเดททุก 6 เดือน แต่เนื่องจากแผนที่ของผู้ให้บริการแผนที่ของแต่ละบริษัท มีคุณภาพและความถูกต้องที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษาและเลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือ และมีชื่อเสียงในการทำแผนที่ในตลาดด้วย

และสุดท้าย ปัจจัยที่ 4 คือ คนใช้งานระบบนำทางต้องมีวิจารณญาณพิจารณาว่าเส้นทางนั้นสามารถขับรถไปได้หรือไม่ เนื่องจากทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าเจอเส้นทางที่พิจารณาแล้วไม่สามารถขับรถเข้าไปได้ ให้ขับผ่านไปเพราะระบบนำทางจะทำการค้นหาเส้นทางใหม่ให้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ