นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า สำหรับกฎหมายที่ประชาชนแสดงความเป็นห่วงว่าจะละเมิดสิทธิเสรีภาพมี 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดอยู่ในชั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
โดยขอยืนยันกับประชาชนว่าไม่ต้องเป็นห่วงจะพิจารณาคำนึงถึงข้อทักท้วง โดยเฉพาะการใช้อำนาจที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งจะหามาตรการต่างๆ มากำกับดูแลให้เหมาะสม ระหว่างนี้ยังสามารถปรับแก้เนื้อหาได้
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล จำนวน 10 ฉบับ เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล เปิดเผยว่า ทาง สพธอ.มีแผนจะดำเนินการจัดเวทีสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกสัปดาห์ โดยขณะนี้กำลังวางแผนอยู่ว่าในแต่ละสัปดาห์จะหยิบยกหัวข้อใดขึ้นมาหารือบ้าง ขณะเดียวกันก็เตรียมชี้แจงกับทางภาคธุรกิจด้วย
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าออกกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เนื่องจากมีความจำเป็น โดยยืนยันว่าเนื้อหาสาระไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคลแต่อย่างใด ตั้งทีมพิเศษพิจารณาร่างกฎหมายมั่นคงไซเบอร์
ส่วนนายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวถึงกระแสการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ที่จะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงได้ตั้งทีมพิเศษเพื่อทำหน้าที่ร่างกฎหมายใหม่ เพื่อไม่ให้กฎหมายที่ออกมาเป็นประเด็นว่าทำเพื่อรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ต่างเป็นกังวล เพราะรัฐบาลไม่ต้องการกฎหมายเผด็จการ แต่ต้องการกฎหมายที่ออกมาเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นสากล รณรงค์หยุดชุดกฎหมาย ความมั่นคงดิจิทัล
ด้านนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงที่มาของการผลักดันแคมเปญรณรงค์ เชิญชวนประชาชน ร่วมลงชื่อ "หยุดชุดกฎหมาย ความมั่นคงดิจิทัล" ที่เว็บไซต์ Change.org ว่า เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แม้บางส่วนจะเป็นประโยชน์ แต่ในภาพรวมแล้ว ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้ประกอบการในหลายด้าน ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่กล่าวอ้าง และมีลักษณะเหมือนกฎหมาย "ความมั่นคงดิจิทัล" เสียมากกว่า
ล่าสุดมีประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลผ่าน เว็บไซต์ change .org แล้วกว่า 9,883 ราย