แบบจำลองสภาพทะเลไทยที่มองผ่านเรือดำน้ำคือสิ่งที่ถูกนำมาจัดแสดงโชว์ให้เห็นว่าปัจจุบันไม่ใช่แค่ปลา และปะการัง ยังสามารถเห็นเศษขยะลอยปะปนกับสิ่งมีชีวิตต่างๆได้ด้วย ขณะที่ทีมข่าว PPTV บันทึกภาพไว้ระหว่างติดตามปัญหาขยะใต้ทะเลที่หาดกะรน จ.ภูเก็ต เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 สอดคล้องกับข้อมูลว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกและขยะมูลฝอยในจังหวัดที่ติดทะเลประมาณ 11.47 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก ประมาณ 3 แสน 4 หมื่นตัน มีที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมบนบก และกิจกรรมทางทะเล ทำให้มีโอกาสปนเปื้อนสู่ทะเลได้ง่าย ทำให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด จาก 192 ประเทศ
จากรายงานล่าสุด ไทยพบวาฬนำร่องครีบสั้น ป่วยและตาย ที่บริเวณคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จากสาเหตุหลักคือกินขยะพลาสติกเข้าไปมากกว่า 85 ชิ้น
หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จึงร่วมลงนามจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนโดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2570 จะต้องลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลลงไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แม้ที่ผ่านมาจะสามารถนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบเผาทำลายอย่างถูกวิธีได้พัยงครึ่งเดียว โดยข้อเสนอของทุกภาคส่วนคือการลดปริมาณการใช้พลาสติก การนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาแปรรูป ตามรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
กระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่าประเทศยังไม่สามารถจัดการกับขยะได้อย่างเป็นระบบ โดยปัญหาใหญ่ คือ การคัดแยกขยะ แต่ภาคเอกชนอย่างประธานบริหารกลุ่ม ดาว ประเทศไทย ที่จำหน่ายและส่งออกเคมีภัณฑ์ ก็ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายการรับพลาสติกเข้ามาเพื่อใช้ในเป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมของภาครัฐ
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า วิกฤติขยะถุงพลาสติกในทะเลเริ่มรุนแรงขึ้น เพราะสัตว์ทะเลเริ่มเสียชีวิตจากการกินซากถุงพลาสติก และจะมีปัญหาตามมา คือ ไมโครพลาสติกที่แตกตัวลงสู่ทะเล จะมาสู่ร่างกายมนุษย์ ผ่านการบริโภคสัตว์ทะเล
ส่วนแนวทางการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ที่ประกาศเจตนารมณ์ ในเวทีวันนี้ คือการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนภาครัฐวางมาตรการดูแลปัญหาขยะพลาสติก รวมถึงจะทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม