ชีวิตมีความหวัง “เมืองไทยผลิตยารักษามะเร็งได้เอง”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“ทีม รพ.จุฬา” คิดค้นยารักษามะเร็งหวังผลิตได้เองในไทย ลดค่ารักษาคนละไม่เกินล้านบาท มะเร็งปอด อาจมีโอกาสได้ทดลองใช้ยาก่อนเพราะมีอัตราการป่วยสูง

ข้อมูลจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปี 2560 โรคมะเร็งเป็นโรคที่คนไทยเสียชีวิตสูงที่สุดแซงหน้าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 70,000 คนต่อปี และมีผู้ป่วยเพิ่มใหม่ ประมาณ 130,000 คนต่อปี ทั้งชายและหญิง และโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนไทย คือ "เพศหญิง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เพศชาย มะเร็งตับ มะเร็งปอด"

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี และ อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ พร้อมทีมคิดค้น กล่าวถึงความคืบหน้า การคิดค้นยารักษามะเร็งได้สำเร็จ (เฟสแรก) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำมาถึงการผลิตยาได้เองในเมืองไทย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมเพราะสามารถควบคุมค่ารักษาได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย

ซึ่งยาที่คิดค้นได้นั้น เป็นลักษณะของ ยาภูมิต้านมะเร็ง (Biologics) ซึ่งจะไปปลดล็อกการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ถูกเซลล์มะเร็งยับยั้งการทำงานอยู่ให้กลับมาทำงานได้หลังเม็ดเลือดขาวถูกปลดล็อกจากยานี้แล้วก็จะสามารถกลับมาทำหน้าที่ทำลายมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะรับรองให้ใช้รักษา 15 ชนิดมะเร็ง เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งหัวและคอ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะ มะเร็งตับ ซึ่งในต่างประเทศได้ผลดีร้อยละ 80 ในมะเร็งต่อมลูกหมาก และ ร้อยละ 50 ในมะเร็งผิวหนัง

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ กล่าวว่า แม้ว่ายาชนิดนี้จะไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านร่างกายแต่ละคนแต่เป็นอีกความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งของคนไทยนอกเหนือจาก 3 วิธีปัจจุบันคือ ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และภูมิคุ้มกันบำบัด โดยในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาทั้ง 3 วิธีมาแล้วและทดลองใช้ยาภูมิต้านมะเร็งร้อยละ 20-30 รักษาหายได้เพียงแต่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งราคาสูงมาก

โดยในปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้า ยาภูมิต้านมะเร็ง (Biologics) จากต่างประเทศเท่านั้น และเมื่อนำมาทำการรักษาผู้ป่วยมะเร็งจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 8 ล้านบาทต่อรายในระยะเวลาการรักษา 2 ปี ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง และไม่สามารถเบิกได้ ดังนั้นจึงเป็นเหมือนความหวังของผู้ป่วยมะเร็งซึ่งคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประสบความสำเร็จแล้วในเฟสที่ 1 คือการผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบได้ 1 ตัว จากทั้งหมด 5 เฟสตามแผน จากนั้นจะเข้าสู่ เฟสที่ 2 พัฒนาแอนติบอดีต้นแบบจากหนูทดลองให้คล้ายมนุษย์ จากพลังของคนไทยที่ร่วมกันบริจาค ซึ่งจะใช้เวลาในเฟสนี้  1 ปี งบประมาณ 10ล้านบาท ก่อนเข้าสู่ เฟสที่ 3 การผลิตยาชนิดนี้จากโรงงานในปริมาณมาก ระยะเวลา 18 เดือน งบประมาณ 200 ล้านบาท  เฟสที่ 4 ทดสอบในสัตว์ทดลอง ระยะเวลา 20 เดือน งบประมาณ 100-200 ล้านบาท

"และเฟสที่ 5 การทดสอบในมนุษย์ ระยะเวลา 48 เดือน งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนของทีมคิดค้นฯ ถึงเฟสที่ 5 ได้ประมาณปี 2566"

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

เอเชียนกมส์2022-3 เอเชียนกมส์2022-3
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ