ธรรมชาติฟื้นตัว ดาวทะเลนับพันตัว ออกมาโชว์ตัวยามไร้นักท่องเที่ยว
นักวิทย์ฯ ห่วงปลาดาวระบาดกินปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ
ที่บริเวณเกาะปิดะนอก ใกล้กับเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ พบประชากรดาวมงกุฎหนาม หรือปลาดาวหนาม ซึ่งเป็นดาวทะเลขนาดใหญ่ จำนวนกว่า 30 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนมากเข้าขั้นการระบาด
นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า ต้องมีการกำจัดออกไปให้เกิดความสมดุลต่อระบบแนวปะการัง เพราะถือว่ามีจำนวนมากเข้าขั้นระบาด ดาวมงกุฎหนาม เป็นดาวทะเลขนาดใหญ่ มีแขนรวมกันทั้งหมด 8-21 แฉก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-30 ซม. ซึ่งดาวมงกุฎหนามจะกินปะการังเป็นอาหาร ดาวมงกุฎหนามที่โตเต็มวัยจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-30 ซม. บนหนามมีสารซาโปนิน (saponin) เคลือบอยู่ ซึ่งมีพิษต่อสัตว์หลายชนิด ตัวเมียแต่ละตัวมีไข่ประมาณ 12-24 ล้านฟอง
ทั้งนี้ เมื่อดาวมงกุฎหนามระบาด ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแนวปะการังจะแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าที่จะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เพราะดาวมงกุฎหนามสามารถกินปะการังได้ทุกซอกทุกมุม มีรายงานว่าบริเวณเกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิก แนวปะการังถูกดาวมงกุฎหนามทำลายไปเป็นระยะทาง 1 กม.ต่อเดือน บริเวณที่ถูกทำลายไปแล้วปะการังอาจฟื้นตัวขึ้นใหม่ ใช้เวลานาน 10-40 ปี หรือนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย
ปัจจุบันวิธีการเดียวที่ดีที่สุด และได้ผลมากที่สุดที่สามารถทำลายสัตว์ชนิดนี้ได้คือ การนำดาวมงกุฎหนามขึ้นจากใต้ทะเล และตากแดดบนฝั่ง ก่อนที่จะนำไปทำลายซากโดยการฝัง เพราะหากไปทำลายในทะเล เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนของดาวมงกุฏหนาม เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้เติบโตด้วยการแบ่งตัว และแตกหน่อ ซึ่งเมื่อปี 2552 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เคยจัดกิจกรรมเก็บดาวมงกุฎหนาม ที่เกาะแอว จ.ภูเก็ต ได้ถึง 368 ตัว