ผู้ปกครองสุดมึน! โจทย์เลขเด็ก ป.2 ให้แทนสมการ ครูชี้ใช้คำฟุ่มเฟือย-ไม่เว้นวรรค
นี่เป็นเสียงสะท้อนของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสามเสนนอก ประชาราษฎร์ หลังลองทำโจทย์คณิตศาสตร์ ที่อยู่ในแบบฝึกหัดของนักเรียนระดับชั้น ป.2 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดีย โดยโจทย์นี้ ถามว่า “แม่ทอผ้าฝ้ายใช้เวลา 10 วัน ทอผ้าฝ้ายใช้เวลาน้อยกว่าทอผ้าไหม 37 วัน แม่ทอผ้าไหม ใช้เวลากี่วัน”
แม้วิธีคิดโจทย์ข้อนี้จะไม่ยาก แต่ปัญหาที่เด็กส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือภาษาที่ใช้เขียนโจทย์ค่อนข้างกำกวม ต้องอ่านอย่างน้อย 2 รอบ ซึ่งหากปรับปรุงเรื่องภาษาน่าจะช่วยให้เด็กเข้าใจโจทย์ได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิณดิษฐ์ ละออปักษิณ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้แสดงวิธีคิดโจทย์ข้อนี้ พร้อมอธิบายว่าโจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ที่อยู่ในแบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์ ป.2 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ซึ่งเป็นหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน เป็นโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับเวลา ซึ่งตามแบบเรียนมีการสอนลักษณะนี้อยู่แล้ว ใช้การวิธีคิดแบบ Bar Model หรือ แปรโจทย์เป็นรูปภาพ เพื่อให้เข้าใจรูปธรรม ก่อนที่จะไปคิดแบบนามธรรม ซึ่งมีการปูพื้นฐานตั้งแต่ ป.1 และโดยธรรมชาติโจทย์คณิตสามารถแก้ได้หลายวิธี แต่ความยากของโจทย์ข้อนี้ เกิดจากผู้ใหญ่ใช้วิธีคิดที่ยากกว่าเด็ก เช่น การตั้งสมการ การสร้างตัวแปร ขณะที่โจทย์ระดับนี้ต้องการเพียงให้เด็กเข้าใจการนับต่อ และหักออก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิณดิษฐ์ ยังบอกอีกว่าหากดูโจทย์คณิต เรื่องเวลาในแบบฝึดหัดเล่มนี้ จะพบว่าโจทย์อื่นๆ ก็ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับวัยและตรงตามตัวชี้วัด แต่ยอมรับว่าภาษาที่ใช้อาจมีผลต่อความเข้าใจของเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนมีระดับความเข้าใจของภาษาไม่เท่ากัน หากการอ่านมีปัญหา ก็อาจเป็นผลให้การตีความโจทย์มีปัญหาตามด้วย ภาษาในแบบฝึกหัดหรือแบบเรียน ขึ้นอยู่กับลีลาของเจ้าของหลักสูตร ซึ่งปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการมีการเปิดกว้างให้ใช้หนังสือเรียนจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมลีลาภาษาให้อยู่ในระดับที่เข้าใจง่ายเหมือนกันทั้งหมด
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิณดิษฐ์ ยังเชื่อว่าการสร้างโจทย์ให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน เช่น เปลี่ยนจากจ่ายตลาดกับแม่ เป็นช็อปปิ้งออนไลน์ก็อาจช่วยให้เด็กเข้าใจและสนุกกับโจทย์มากขึ้น ซึ่งโจทย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ใจความก็ไม่ได้ต่างจากเมื่อก่อน เพราะคณิตเป็นเรื่องคลาสสิค เพียงแต่อาจมีการศึกษาวิจัย และเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้เหมาะกับการสอนเรื่องนี้มากกว่าเท่านั้น
สพฐ. วางแนวทางลดการบ้านทั่วประเทศ สอบเขียนบรรยาย