เปิดดัชนีเสรีภาพสื่อ 2020 ไทยรั้งอันดับ 140 ของโลก

โดย PPTV Online

เผยแพร่

องค์กรสื่อไร้พรมแดนเผยดัชนีเสรีภาพสื่อ 2020 พบโควิด-19 และระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เสรีภาพสื่อในหลายประเทศถูกลิดรอน

"สถานทูตอังกฤษ"​ จี้เรื่อง​ ​​"เสรีภาพสื่อ" ปิดปากสื่อ​ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ วอน รัฐบาล อย่าลิดรอนเสรีภาพสื่อ ใช้สื่อสร้างความเกลียดชัง

ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2020 ซึ่งจัดทำโดย องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders; RSF) ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ตอกย้ำและขยายขอบเขตวิกฤตต่าง ๆ ที่คุกคามสิทธิของสื่อในการรายงานข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นอิสระ หลากหลาย และเชื่อถือได้

ดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2020 ได้ประเมินสถานการณ์การรายงานข่าวในแต่ละปีใน 180 ประเทศและดินแดน โดยประเมินว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า จะเป็นจุดสำคัญสำหรับเสรีภาพสื่อมวลชน เนื่องจากมีวิกฤตที่มาบรรจบกันซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตของสื่อสารมวลชน

วิกฤตดังกล่าวประกอบด้วย วิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากความก้าวร้าวของระบอบเผด็จการทั่วโลกเติบโตขึ้น, วิกฤตเทคโนโลยี, วิกฤตประชาธิปไตย เกิดการแบ่งขั้วและนโยบายควบคุมสื่อ, วิกฤตความไว้วางใจ สังคมตั้งข้อสงสัยและแม้กระทั่งเกลียดชังสื่อ และวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสื่อสารมวลชนที่ด้อยคุณภาพ

นอกจากนี้ วิกฤตสาธารณสุขทั่วโลกยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คริสตอฟ เดลัวร์ เลขาธิการ RSF กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยลบที่คุกคามสิทธิและเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อถือได้”

โดยมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการควบคุมเสรีภาพสื่อเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งจีน (อันดับที่ 177) และอิหร่าน (อันดับที่ 173) ต่างเป็นประเทศที่เซ็นเซอร์ข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอิรัก (อันดับที่ 162) รัฐได้เพิกถอนใบอนุญาตของสำนักข่าวรอยเตอร์เป็นเวลา 3 เดือนหลังจากเผยแพร่เรื่องราวที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19

ด้าน นอร์เวย์ ยังคงครองตำแหน่งประเทศที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุดต่อกันเป็นปีที่ 4 ในขณะที่ฟินแลนด์ได้รับตำแหน่งรองชนะเลิศอีกครั้งเช่นกัน

ส่วนอันดับหนึ่งจากท้ายตกเป็นของ เกาหลีเหนือ (อันดับที่ 180) สูงขึ้นมาหน่อยเป็นเติร์กเมนิสถาน (อันดับที่ 179) ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นประเทศปิดที่สื่อทั้งหมดถูกควบคุมโดยรัฐ

สำหรับประเทศที่มีการเปลี่ยนในอันดับมากที่สุดคือ มาเลเซีย ขยับสูงขึ้น 22 อันดับ อยู่อันดับที่ 101 แต่ประเทศที่อันดับร่วงลงมามากที่สุดคือ เฮติ ซึ่งนักข่าวมักตกเป็นเป้าหมายการทำร้ายระหว่างการประท้วงที่รุนแรงทั่วประเทศในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยตกลงมา 21 อันดับ ตอนนี้อยู่ในอันดับที่ 83

เมื่อพิจารณาเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา พบว่าอันดับค่อนข้างแย่กันแทบทั้งหมด โดยเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 175 สปป.ลาว อันดับที่ 172 สิงคโปร์ อันดับ 158

และสามประเทศที่ถูกระบุว่า มีอันดับที่ไม่ดีจากกฎหมายและการปกครองคือ บรูไนในอันดับ 152 ได้บังคับใช้กฎหมายอาญา ออกโทษประหารชีวิตสำหรับการเผยแพร่ข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการพูดใด ๆ ที่ถือว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนาอิสลาม อีกสองประเทศที่อันดับร่วงเพราะพยายามปรับปรุงมาตรการในการปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วย ได้แก่ กัมพูชาภายใต้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ร่วงลง 1 อันดับ อยู่ที่อันดับ 144 และประเทศไทยภายใต้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วงลง 4 อันดับ อยู่อันดับที่ 140

เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นหลักการสำคัญที่ว่าด้วยการสื่อสารและการแสดงออกผ่านสื่อต่าง ๆ ถือเป็นสิทธิที่ควรใช้ได้อย่างเสรี เสรีภาพดังกล่าวแสดงถึงภาวะปราศจากการแทรกแซงจากรัฐหรือกลุ่มอำนาจใด ๆ ซึ่งหากสื่อปราศจากเสรีภาพนี้แล้ว ก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐหรือกลุ่มอำนาจเท่านั้น

เรียบเรียงจาก 2020 World Press Freedom Index

ภาพจาก Shutterstock

Bottom-PL-24 Bottom-PL-24

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ