เมื่อคืนวันที่ 5 ก.ย. 2564 พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระวัดสร้อยทอง ไลฟ์เฟซบุ๊กชี้แจงดราม่าและพูดคุยกับลูกเพจ ย้ำว่าจะเดินหน้าไลฟ์และให้ความรู้เรื่องศาสนาต่อไป แม้ว่าจะถูกวิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม พระมหาไพรวัลย์ บอกว่าจุดประสงค์หลักต้องการให้วัยรุ่น คนที่เลิกศรัทธาในศาสนา หันมาสนใจ มองว่า หากใช้การสอนแบบเดิมๆที่พระส่วนใหญ่ทำ ก็ไม่สามารถดึงดูดคนกลุ่มนี้ได้
"พระมหาไพรวัลย์" โต้ ดราม่าปมไม่สำรวม
“มหาไพรวัลย์” ฉะ สำนักพุทธฯไม่มีหน้าที่ตักเตือนพระ ชี้ทุกคนแสดงความเห็นได้ตาม รธน.
ช่วงหนึ่งของการไลฟ์ พระมหาไพรวัลย์ พูดถึงนายสิปป์บวร แก้วงาม รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ระบุว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสในการพิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะ เจ้าอาวาสเป็นพระผู้ปกครองพระลูกวัด แต่เชื่อว่าประชาชนมีความคิดตัดสินเองได้ว่าเหมาะสมหรือไม่
พระมหาไพรวัลย์ ขอบคุณที่นายสิปป์บวร มองแบบนั้น พร้อมระบุว่า มาก ขอบคุณที่ออกมาคอมเมนต์ จะได้รู้ว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยมีความหลากหลาย ความหลากหลายเป็นสิ่งสวยงาม อย่ามองว่าความหลากหลายคือความขัดแย้ง ย้ำว่า เราไม่ควรเคลมว่า พระพุทธศาสนาต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง
ชาวบ้านเผย “พระมหาไพรวัลย์” ช่วยเหลือคนตกยาก
ขณะที่ล่าสุดมีข้อมูลว่านายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาระบุว่า จากการติดตามการไลฟ์ของพระมหาไพรวัลย์ รวมถึง พระมหาสมปอง มองว่า ยังไม่เข้าข่ายผิดวินัยรุนแรงของพระสงฆ์ แต่โดยหลักการ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้เจ้าอาวาสวัดหัวลำโพงทำหน้าที่รักษาการอยู่มีอำนาจเต็มที่จะปกครองสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามเห็นสมควร
ทีมข่าวพีพีทีวีพูดคุยกับนายจาตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา มองว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมต้องมองในหลายบริบท ในแง่วินัยของสงฆ์การไลฟ์เทศนาธรรมไม่ได้เข้าข่ายละเมิดวินัยสงฆ์ร้ายแรงถึงขั้นต้องอาบัติปาราชิก เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีพระภิกษุระดับพระชั้นผู้ใหญ่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเทศนาธรรมในรูปแบบใหม่ อย่างเช่น ท่านปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาสาวาสวัดชลประทาน ก็ลุกขึ้นมาเทศนาธรรมบนโพเดียมไม่ได้นั่งอยู่หน้าธรรมาสน์ กรณีของพระมหาไพรวัลย์ที่มีการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์พูดคุยกับญาติโยม หากดูตามระเบียบตามบัญญัติของสงฆ์ก็ไม่ได้มีข้อห้ามเอาไว้ พระสงฆ์ใช้เทคโนโลยี่เผยแผ่ศาสนาจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้และไม่จำเป็นต้องสำรวมขนาดนั้น
แต่ถ้าถามว่า หน้าที่ของพระสงฆ์ที่ควรกระทำคืออะไร ในมุมมองของอาจารย์จาตุรงค์ มองว่า พระสงฆ์ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาธรรมและเผยแผ่ศาสนามากกว่า พระควรจะเข้าไปใกล้ชิดกับสังคมและญาติโยมให้มากขึ้น ไม่ใช่บวชมาเป็นพระเพื่อรอเลื่อนชั้นได้สมศักดิ์สูงๆ
พระมหาไพรวัลย์ พร้อมน้อมรับทุกคำติติ่ง ถ้า พศ. จะเรียกปรับทัศนคติก็ยินดีไปพบ
อาจารย์จาตุรงค์ยังเสนอแนะแนวทางการเผยแผ่ธรรมในยุคดิจิทัลในบริบทที่พระสงฆ์ควรจะก้าวไปพร้อมๆกับเทคโนโลยีด้วยว่า ปัจจุบันโลกธรรมะก็ไม่ต่างจากการค้า เราเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซกันแล้ว วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าญาติโยมไม่ได้เข้าวัดฟังธรรมหน้าธรรมาสน์กันแล้ว ดังนั้นธรรมะดิลิเวอรี่ก็จำเป็นต้องเข้าไปใกล้ชิดกับญาติโยมให้ได้ อยากให้สำนักพุทธและพระผู้ใหญ่เปิดใจเพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก พระสงฆ์กับสังคมยังไงก็ต้องเดินไปด้วย