บีทีเอส ยันดูแลเต็มที่หญิงสะดุดบันได ตกท่อน้ำขาหักบนสกายวอล์ค
หนุ่มขี่มอไซค์ ตกหลุมก่อสร้างดับ ไร้คนรับผิดชอบ
น.ส.ดิว อายุ 30 ปี ได้ประสบอุบัติเหตุเดินตกหลุมริมทางเท้า บริเวณใต้สะพานบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานครมหานคร จนขาหัก โดยเพื่อนของ น.ส.ดิว ชื่อ แจม ได้ถ่ายวิดีโอเก็บไว้ก่อนส่งเรื่องนี้ไปร้องเพจดัง Drama-addict เพราะอยากปรึกษาว่ากรณีนี้จะเรียกร้องการเยียวยาจากหน่วยงานไหนได้บ้าง
โดยคุณแจม เปิดเผยกับทีมข่าว PPTV ว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดเมื่อ 29 ม.ค.เวลาประมาณ 18.00 น. ตน และน.ส.ดิว และเพื่อนรวม 4 คน ตั้งใจไปรับทานอาหารที่ร้านหมูกระทะใกล้จุดเกิดเหตุ ซึ่งจุดที่เป็นทางเท้าค่อนข้างมืด
ระหว่างนั้นขาขวาของ น.ส.ดิวตกลงไปในหลุมริมทางเท้า จนขาผิดรูป ภายหลังจึงพบว่าหน้าแข็งหัก 2 ท่อน ภายหลังเกิดเหตุ โทรแจ้ง 1669 แต่ก็บอกทางกันอยู่นาน สุดท้ายเจ้าหน้าที่บอกว่า มีเหตุหลายจุดมารับไม่ได้ คนที่อยู่แถวนั้นซึ่งคาดว่าเป็นอาสากู้ภัย จึงช่วยมาดูแลก่อนนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์แจ้งว่าขายังบวมผ่าตัดไม่ได้ ต้องใส่เหล็กดามก่อน และหากผ่าตัดได้ก็ต้องเข้าเฝือกและทำกายภาพนานครึ่งปีกว่าจะดีขึ้น
คุณแจม กล่าวต่อว่า เพื่อนเป็นพนักงานบริษัทอาจกระทบกับรายได้ จึงตั้งคำถามว่ากรณีนี้หน่วยงานไหนควรรับผิดชอบ และตั้งถามถึงคุณภาพชีวิตของคนที่จ่ายภาษีให้กับรัฐ ซึ่งได้ติดต่อไปยังแอปพลิเคชั่น "อัศวิน คลายทุกข์" ของ ผู้ว่าฯกทม .แต่เรื่องยังเงียบ
“เหมือนขาข้างขวาของเพื่อนอะ ก้าวเท้าลงไปในหลุมแล้วเป็นจังหวะเดียวกับที่เขาพลิกตัว จะเลี้ยวไปทางซ้ายอะ มันก็เลยทำให้เขาอะค่ะ ตกลงไปแบบผิดท่าเลย คือเหมือนการพลิกตัวแล้วก็ลงไป แรงตัวเนี่ยมันส่งให้เหมือนขาเขาอะหักตรงที่เกิดเหตุตรงนั้นเลย”
“ถนนที่มันเป็นรูเนี่ย มันเกิดขึ้นได้ยังไงแล้วทำไมไม่มีใครไปรับผิดชอบ เพราะตรงนั้นอะ มันเป็นทางสัญจรที่คนเดินผ่านไปผ่านมา เหตุการณ์นี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเพื่อนเราหรือไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใคร คนไหนก็ตาม มันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลยอย่างนี้ค่ะ แล้วภาษีเราก็จ่ายเราก็อยากได้ถนนที่ดี เราไม่ต้องแบบก้มหน้าเพื่อมองถนนในการจะเดินว่า เอ้ยเราจะเดินไปเจออุบัติเหตุหรือว่ากับระเบิดตรงไหน” คุณแจม กล่าว
ทีมข่าวไปดูจุดเกิดเหตุและพบกับคุณธันยพร ศรียี่สุ่น วินจักรยานยนต์ ที่เข้าไปช่วยคนเจ็บด้วย ระบุว่า จุดเกิดเหตุมีลักษณะคล้ายทางระบายน้ำ ไม่มีอะไรมาปิด และดูไม่ลึกมาก ในช่วงกลางคืนจุดนี้จะมืด ชาวบ้านระวังตัวกันเอง
กรณีนี้ทีมข่าวสอบถามนายมนต์ชัย จงไกรรัตนกุล หรือ ทนายแก้ว ให้ข้อมูลว่า ปกติหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องดูแลซ่อมแซมถนน ป้องกันอุบัติเหตุ และไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบได้ แต่กรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้น ภาระในการพิสูจน์จะตกเป็นของผู้เสียหาย ที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ไม่ได้เกิดจากความประมาทของตัวเอง เช่นจุดนั้นอาจมีป้ายเตือน แต่ไม่ได้มอง หรือเล่นโทรศัพท์
ทนายแก้ ระบุอีกว่า หลังเกิดเหตุผู้เสียหายก็ควรเก็บหลักฐานต่าง ๆ ไว้เช่น ภาพถ่าย โดยเฉพาะใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐาน พร้อมแนะนำว่าปกติอายุความคดีลักษณะนี้อยู่ที่ 1 ปี แต่แนะนำให้ผู้เสียหายลองยื่นคำร้องกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ก่อน เพราะหากเป็นการฟ้องร้องก็ต้องใช้เวลานาน