“ประยุทธ์” รับ 8 ข้อเสนอวันแรงงาน ชี้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องดูเงินเฟ้อด้วย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ในวันนี้ 1 พ.ค. วันแรงงานแห่งชาติ ทำให้มีการรัดหมายรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่ายภาคแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะประเด็นที่ขอให้รัฐบาลปรับฐานเงินค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท พร้อมขอให้หยุดขูดรีดแรงงานข้ามชาติ

วันนี้ 1 พ.ค. 2565 กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน จัดกิจกรรมเนื่องในวันกรรมกรสากล ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ในทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีตของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อยื่นข้อเสนอของคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ต่างๆ

นายจ้าง "ยื่นหนังสือ" ค้านขึ้นค่าแรง 492 บาททั่วประเทศ

ยังไร้ข้อสรุป "ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ" ปี 65 เท่าไหร่

โดยข้อเรียกร้องหลักที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคม คือค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งขอปรับขึ้นเป็น 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอสำหรับแรงงานข้ามชาติด้วย โดยขอรัฐบาลหยุดขูดรีดแรงงานข้ามชาติ และไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ขอให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารประจำตัวแรงงานข้ามชาติ  และคุ้มครองไม่ให้แรงงานข้ามชาติตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ส่วนบรรยากาศที่กระทรวงแรงงานได้มีการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2565 นับเป็นการกลับมาจัดงานอีกครั้งในรอบ 2 ปี หลังจากว่างเว้นไปจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์  ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ใช้แรงงาน ระบุว่า ดีใจที่มาเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ และถือเป็นโอกาสที่ได้พบกันอีกครั้ง ยืนยันว่าแรงงานเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ แต่ก็ต้องดูแลในส่วนผู้ประกอบการควบคู่ไปด้วยในสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ย้ำว่าสิ่งที่เป็นห่วงคือปัญหาเงินเฟ้อ ที่รัฐบาลก็พยายามดูแลไม่ให้อัตราเงินเฟ้อกระทบต่อประชาชน  

พร้อมทั้งหาวิธีสร้างรายได้ให้คนไทยมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งการจ้างงานและพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับรายได้ของประชาให้เพิ่มมากขึ้น 

สำหรับข้อเรียกร้อง 8 ข้อที่ภาคแรงงานยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ในปีนี้  ประกอบด้วย 1.การขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 2.เร่งรัดร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

 3.ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย 4.ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 5.ปฏิรูปประกันสังคม 6.เร่งรัดกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนาแรงงานนอกระบบ  7. จัดระบบกองทุนสวัสดิการเลี้ยงชีพลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และ 8.  ตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องประจำปี 2565

Bottom-Interactive Bottom-Interactive

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ